Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สารพันปัญหาของเด็ก ม.ต้น

Posted By Plook TCAS | 09 ก.ค. 64
5,051 Views

  Favorite

เด็กก่อนวัยรุ่น มัธยมต้นนั้นมีปัญหาล้านแปด ที่คุณก็ยังเหนื่อยระอา ปวดหัวเหมือนไม่สิ้นสุด  ลองขยับมาอีกมุม เข้าใจพวกเขาสื่อสารกันให้มากขึ้น  คิดว่าสารพัดปัญหาก็เป็นแค่โจทย์ยาก ๆ ที่คุณและพวกเด็ก ๆ จะเรียนรู้และแก้ไปด้วยกัน  บางทีปัญหาก็อาจไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป   
 

ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้  

ช่วงเวลาที่สมองส่วนกลาง และส่วนหน้าของพวกเขากำลังพัฒนา อาจทำให้เด็กหลาย ๆ คน  ขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ตนเอง  การคิดไตร่ตรองใคร่ครวญเรื่องราวต่าง ๆ ของพวกเขาอาจพัฒนาแบบก้าวกระโดด  คิดเร็ว  สรุป  ตัดสินใจ ตอบสนองเร็วเกิน จนขาดการวิเคราะห์ ไตร่ตรองหลายสิ่งให้ละเอียด รอบคอบ  คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองอาจช่วยแก้ปัญหานี้  ให้ลูกไฮเปอร์ทำอะไรช้าลง  แนะนำให้เขาเรียนรู้สังเกต สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น  ฝึกจดบันทึกข้อคิด ข้อสงสัยลงสมุด แล้วค่อยนำไปพิจารณาทีหลัง  เป็นการช่วยเพิ่มทักษะ ฝึกระบบการคิดของพวกเขา ให้สมองได้ทำงานมากขึ้น  พัฒนาได้อย่างเต็มที่  พวกเขาจะได้คิด วิเคราะห์ หาเหตุผล สามารถควบคุมอารมณ์ พฤติกรรมการแสดงออกของตัวเอง อย่าลืมเตรียมอาหารบำรุงสมอง อย่าง ปลา ผัก ผลไม้ และจัดเวลาการออกกำลังกาย  

 

ขาดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และไร้ความสุข

การที่เด็กเงียบ ๆ เก็บตัวในวัยนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสละเวลาสังเกตให้ละเอียดว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไมเขาถึงอยากอยู่ตามลำพัง ไม่ค่อยกินอาหาร พูดจาน้อยลง ซึมเศร้าบ่อย ๆ  เหม่อลอย ไม่ร่าเริง  เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย หรืออารมณ์ตามธรรมชาติ  หรือมีบริบทอื่นที่ต้องการข้อมูลเพิ่มมากขึ้น แต่มันทำให้เรารู้ได้ว่า พวกเขากำลังขาดที่พึ่งทางใจ และไม่มีความสุข ซึ่งเหตุอาจมาจากในบ้านเอง หรือจากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน  หากคุณละเลย มันอาจส่งผลให้เด็ก ๆ มีการแสดงออกที่เปลี่ยนแปลง พัฒนาความคิด อารมณ์ ร่างกายเติบโตไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง  อาจส่งผลเป็นปัญหาอื่น ๆ ต่อในวันข้างหน้า อย่าง โรคซึมเศร้า หนีออกจากบ้าน  ฆ่าตัวตาย  ฯลฯ   คุณต้องมีเวลา พร้อมเป็นที่ปรึกษา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้พวกเขา อย่างไรก็ตาม ความสุขที่พวกเขาได้รับควรพอเหมาะพอดี อธิบายให้เขาได้เข้าใจ ไม่ใช่กลายเป็นการตามใจ เอาใจจนเกินควร ทางสายกลางย่อมดีที่สุด


เรื่องของความรุนแรง  

ความรุนแรงมาได้หลายรูปแบบ จากทีวี จากอินเตอร์เน็ต จากเพื่อนในโรงเรียน บางทีมาจากการเลี้ยงดูแบบเก่า  การใช้อารมณ์  ใช้อำนาจความเป็นผู้ใหญ่ คำพูด  ดุด่า การทำโทษ  แม้บางครั้งกว่าพ่อแม่จะตั้งสติ  ก็อาจมีเผลอหลุดไปที่ลูกอยู่บ่อย  อาจเพราะการเหนื่อยล้าจากการทำงาน  หรือครอบครัวไม่สมบูรณ์ ขาดการสื่อสาร พูดคุย การแสดงความรัก ความอบอุ่น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้  อาจเป็นตะกอน สะสมในเด็ก เป็นความเก็บกด ดื้อรั้น ต่อต้าน ก้าวร้าว และไปไกลจนถึง ทำลายข้าวของ  รังแกสัตว์เลี้ยง  ข่มเหงเด็กที่ด้อยกว่า  หากมีการรวมกลุ่มกับเพื่อนที่เหมือนกัน ความรุนแรงก็อาจจะเพิ่มมากขึ้น  หมั่นคอยสังเกตคำพูด การแสดงออกของพวกเขาให้ดี อย่าปล่อยให้ลูกของคุณแข็งกร้าว สะสมความรุนแรงโดยที่เขาไม่รู้ตัว  อธิบายให้เขาเข้าใจถึงความรุนแรงไม่ดีอย่างไร สิ่งใดที่ไม่ควรพูด ไม่ควรทำ แม้จะไม่สบอารมณ์ของเขาเท่าใดก็ตาม  ให้พวกเขาฝึกการอดกลั้น อดทนต่อสภาวะกดดัน  ไม่ตัดสินใจเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องแนะนำให้เขาหลีกเลี่ยง ไม่ตอบโต้ เผชิญหน้ากับความรุนแรง ไม่ว่าจากการข่มเหง รังแก ด้วยคำพูด หรือการกระทำจากคนอื่น 
 

การมีเพศสัมพันธ์  

อีกหนึ่งโจทย์ที่ยากยิ่งของพ่อแม่ผู้ปกครองสำหรับการเลี้ยงลูกวัยนี้ คือ ฮอร์โมนทางเพศที่แสนจะว้าวุ่นรุ่มร้อนของพวกเขา  คุณต้องแนะนำให้เด็กรู้จักดูแลร่างกาย รักษาสุขอนามัยของตนเอง  รวมไปถึงการวางตัวกับเพศตรงข้ามให้เหมาะสม  ให้เขาเข้าใจถึงความสัมพันธ์ การแสดงออกกับบุคคลต่าง ๆ ทั้งในบ้าน และนอกบ้าน  ให้พวกเขาเห็นคุณค่าของตัวเอง รู้จักปกป้อง เตือนเขาถึงอันตรายที่หากอยากรู้ อยากเห็นทดลองด้วยตัวเอง  โรคร้าย  การตั้งท้องในวัยเรียน การมีครอบครัวในวัยที่ความพร้อมยังไม่เพียงพอ  แม้แต่เรื่องของจิตใจ เรื่องของความรัก พ่อแม่ผู้ปกครองต้องอธิบายลูกให้เข้าใจในความหมาย ขอบเขตของความเหมาะสม  ไม่ปล่อยตัว แสดงออกไปด้วยอารมณ์ ตามฮอร์โมนที่เรียกร้องของตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุด พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง รักญาติพี่น้อง คนในครอบครัว ก่อนที่จะไปรักเพื่อน หรือความรักฉันท์คนรักกับผู้อื่น

 

การเสพติด

ถึงแม้พวกเขาจะเป็นเด็ก Gen Z  แต่อย่างที่บอกไว้เบื้องต้น มุมมองการวิเคราะห์อาจยังเติบโตไม่พอ  เด็กบางคนอาจหนีปัญหาไปใช้บุหรี่สารเสพติด หรือแม้แต่การดื่มเหล้า ซึ่งบางครอบครัวอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ  แต่นั่นหมายความว่า คุณต้องมั่นใจว่าลูกเข้าใจมากพอ ไม่ว่าเด็กจะดื่มตามผู้ใหญ่ในบ้าน แต่
แอลกอฮอล์ก็สามารถหยุดยั้งการพัฒนาของสมอง และร่างกายของเด็ก ๆ อย่างพวกเขา  นอกจากนี้ ยังคงต้องรวมการติดเล่น ติดเพื่อน ติดเกม  ติดเน็ต   ติดแชท ติดไอดอล  อาจเพราะพวกเขาขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ      ขาดความสุขในครอบครัว  รวมทั้งไม่มีภูมิต้านทานแรงกดดันจากเพื่อน  เรื่องเหล่านี้อาจมองเป็นโจทย์ใหญ่ แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะแก้ไข เช่น เพิ่มกิจกรรม เพิ่มความรักความอบอุ่นความสุขในบ้าน ทำกิจกรรมที่เป็นความสุขร่วมกัน ไม่ใช่แค่ความสุขของคุณเองฝ่ายเดียว พวกเขาจะเรียนรู้ว่า ไม่มีที่ไหนหรือใคร นอกจากบ้านและคนในบ้านของเขาที่เป็นความสุขที่แท้ทรู

 

ความฟุ้งเฟ้อ

อีกหนึ่งเรื่องปวดหัว คือการใช้จ่ายเงินเกินตัว  พวกเขาอาจยอมทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้มาในของที่ต้องการ อาจเลยไปถึงการลักขโมย  ต้องแนะนำให้พวกเขารู้จักคุณค่าของเงิน  วางแผนการเงินให้เป็นระบบ  ประเมินการใช้จ่าย  การเสียเงินเพื่อความจำเป็นที่เป็นประโยชน์  ต้องให้พวกเขาตระหนักว่า เงินนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ต้องทำงานสุจริต  เหนื่อยอดทนถึงจะได้เงินนั้นมา  แนวการลดการฟุ้งเฟ้อที่ดี คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างในการใช้จ่าย ความพอเพียงในบ้าน  รวมทั้งแนะนำให้เขารู้จักการออม การประหยัด การแบ่งปัน ช่วยเหลือ ผู้ที่ขัดสน และด้อยกว่า

 

แบ่งเวลาของคุณเพื่อเป็นที่ปรึกษาที่ดี  โจทย์ยาก ๆ ที่ต้องร่วมกันแก้ก็จะน้อยลง  แล้วคุณก็จะไม่ปวดหัวอีก เหลือแค่เรื่องราวให้พวกเขาที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนปฏิบัติ พร้อมกับการแก้ไขเรื่องยาก ๆ ด้วยตัวของเขาเอง 

 

อังสนา  ทรัพย์สิน


ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.orghttp://www.oecd.orghttps://www.familylives.org.ukhttps://www.amarinbabyandkids.comhttps://th.theasianparent.com, https://pantip.com/forum/family

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow