Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีสอนลูกให้รู้จักการ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเจออุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน

Posted By Plook Parenting | 08 มิ.ย. 64
6,966 Views

  Favorite

เด็กช่วงอายุ 3-6 ขวบ เป็นวัยแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ มักมีนิสัยอยากรู้อยากเห็นและซุกซน จึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในชีวิตประจำวันได้ง่าย หากคุณพ่อคุณแม่สอนให้ลูกรู้จักปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้นอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ลูกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แตกต่างออกไปตามลักษณะของอุบัติเหตุที่เกิด ดังนี้

1. ประตูหนีบนิ้ว

หลังลูกโดนประตูหนีบ ให้ลูกรีบนำน้ำแข็งมาห่อผ้าสะอาด หรือใช้ Cold pack มาประคบไว้ทันที แล้วรีบมาบอกคุณพ่อคุณแม่ หากเป็นแค่อาการบวมแดงสามารถประคบเย็นจนรอยบวมดีขึ้นได้ แต่หากมีรอยแผลควรรีบล้างน้ำสะอาด ซับให้แห้ง ทายาฆ่าเชื้อ และปิดผ้าก๊อซหรือพลาสเตอร์ให้เรียบร้อย

 

ภาพ : Shutterstock

 

2. หกล้มแผลถลอก

ให้ลูกรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทันที หรือหากเห็นขวดน้ำเกลือล้างแผลอยู่ใกล้ ๆ ก็หยิบมาเทล้างแผลได้เลย หลีกเลี่ยงการสัมผัสบาดแผลโดยตรง แล้วให้รีบมาบอกคุณพ่อคุณแม่ หลังจากคุณพ่อคุณแม่ทราบควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลบริเวณรอบ ๆ จากนั้นทาครีมหรือยาฆ่าเชื้อบริเวณที่เป็นแผลถลอก จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือพลาสเตอร์ แต่ไม่ควรปิดแน่นเกินไปเพราะอาจทำให้แผลอับชื้นได้ หรือจะไม่ปิดเลยก็ได้ เพื่อให้แผลเป็นแห้งเร็วขึ้น

3. เลือดกำเดาไหล

บอกให้ลูกใจเย็น ๆ ไม่ต้องตกใจที่เห็นเลือดไหลทางจมูก จากนั้นให้ลูกบีบจมูกไว้ นั่งก้มหน้า และหายใจทางปากแทน ให้ลูกอยู่ในท่านี้เป็นเวลา 10 นาทีจึงคลายมือออก แต่ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหลให้นั่งท่าเดิมต่ออีก 10 นาที หากทิ้งไว้ 30 นาทีแล้วเลือดก็ยังไม่หยุดไหล ควรรีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที

เมื่อเลือดหยุดแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นมาช่วยลูกเช็ดทำความสะอาดได้ และควรบอกลูกห้ามขยี้หรือแคะจมูกช่วงนี้

4. มีดบาด

บอกให้ลูกรีบกดแผลไว้ หรือถ้าแถวนั้นมีผ้าสะอาดก็ให้นำมากดแผลไว้ จากนั้นนำไปล้างน้ำสะอาด เปิดให้น้ำไหลผ่านแผลจนเลือดเริ่มหยุดไหล แล้วรีบมาบอกคุณพ่อคุณแม่ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบให้ทาครีมฆ่าเชื้อ หรือล้างแผลด้วยน้ำเกลืออีกครั้งหนึ่ง ซับแผลให้แห้ง และปิดพลาสเตอร์หรือผ้าก๊อซ

 

ภาพ : Shutterstock

 

5. ของหรือเสี้ยนตำเท้า

หลังลูกโดนของหรือเสี้ยนตำเท้า ควรบอกลูกว่า “ห้ามดึงออกเอง” เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เสี้ยนยิ่งตำลึกมากยิ่งขึ้น ให้รีบมาบอกคุณพ่อคุณแม่ เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเสี้ยนตำตรงไหน ให้ใช้เข็มชุบยาฆ่าเชื้อหรือเข็มลนไฟมาบ่งเสี้ยนนั้นออกด้วยการสะกิดปลายเสี้ยนจนปลายโผล่พ้นผิวหนังขึ้นมา จากนั้นใช้แหนบที่ฆ่าเชื้อแล้วดึงเสี้ยนนั้นออก จากนั้นเช็ดปากแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ

6. ฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา

เมื่อลูกรู้สึกว่ามีฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ควรสอนลูกว่า “ห้ามขยี้ตา” เด็ดขาด ให้ลูกหาแก้วสะอาด ใส่น้ำสะอาด น้ำยาล้างตา หรือน้ำเกลือจนเต็ม ก้มตัวลงให้แก้วครอบตา จากนั้นลืมตาและกระพริบตาในน้ำหลาย ๆ ครั้ง จากนั้นให้มาบอกคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ควรสำรวจดวงตาของลูกว่าฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมยังอยู่หรือไม่ หากเป็นเศษฝุ่นให้คุณพ่อคุณแม่ล้างมือให้สะอาด ให้ลูกเอียงศีรษะไปด้านในด้านหนึ่ง แล้วหยดน้ำยาทำความสะอาดดวงตาลงไปเพื่อให้ฝุ่นนั้นไหลออก

7. ก้างปลาติดคอ

หากลูกพบว่าระหว่างกินข้าวรู้สึกเจ็บคอ ยิ่งกลืนอาหารก็ยิ่งเจ็บ หรือรู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในลำคอจนรู้สึกเจ็บ ควรบอกลูกว่า “ไม่ควรไอหรือใช้มือล้วงเข้าไปในคอ” เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดเข้าไปลึกขึ้นได้ สิ่งที่ลูกควรทำคือ ดื่มน้ำอึกใหญ่ ๆ หรือกลืนข้าวคำใหญ่โดยไม่ต้องเคี้ยว 2-3 คำ จากนั้นให้รีบบอกคุณพ่อคุณแม่ หากสิ่งที่ติดคอหลุดไปแล้วอาการเจ็บของลูกจะค่อย ๆ ทุเลาลง แต่หากลูกยังเจ็บอยู่ แนะนำให้ลองดื่มน้ำมะนาวสด 2 ช้อนโต๊ะ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพาไปพบแพทย์

 

ภาพ : Shutterstock

 

8. โดนของร้อน หรือน้ำร้อนลวก

ให้ลูกรีบล้างด้วยน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาเพื่อลดอุณหภูมิบริเวณผิวหนังที่โดนลวก หากของร้อนหรือน้ำร้อนลวกโดนบริเวณที่สวมใส่เสื้อผ้า ให้เด็กรีบถอดเสื้อผ้าที่โดนออก แล้วล้างด้วยน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาเพื่อลดอุณหภูมิ จากนั้นให้ลูกรีบมาบอกคุณพ่อคุณแม่ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบควรล้างแผลที่โดนลวกด้วยน้ำสบู่อย่างเบามืออีกครั้ง ซับแผลให้แห้ง และใช้ว่านหางจระเข้ทาแผลเพื่อลดอาการปวดแสบปวดร้อน จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาด แต่ถ้าลูกอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพาไปพบแพทย์

9. หัวโน ฟกช้ำ

เมื่อลูกหกล้มหัวโน หรือมีแผลฟกช้ำ ให้ลูกนำน้ำแข็งมาห่อผ้าสะอาด หรือใช้ Cold pack มาประคบไว้แล้วรีบมาบอกคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ควรประคบเย็นต่อให้ลูกจนครบ 24 ชั่วโมง จากนั้นประคบด้วยน้ำอุ่นอีกครั้ง ทำสลับไปเรื่อย ๆ จนจุดที่โนหรือช้ำบรรเทาลง ห้ามนวดหรือคลึงโดยเด็ดขาด

 

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นอันดับต้น ๆ คือการบอกลูกว่าอุบัติเหตุในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ ลูกจะต้องใจเย็น ๆ ตั้งสติ และไม่ตื่นตกใจมากเกินไป เมื่อรวบรวมสติได้ควรปฐมพยาบาลตัวเองเบื้องต้นแล้วรีบมาบอกคุณพ่อคุณแม่ เพื่อทำการดูแลบาดแผลอย่างถูกต้องในขั้นตอนถัดไป และคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมชื่นชมลูกที่รับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีด้วย

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow