Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แผลแบบไหนไม่ควรปิดพลาสเตอร์ยา

Posted By sanomaru | 07 มิ.ย. 64
10,359 Views

  Favorite

ในวัยเด็ก หากเกิดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการเล่นซน เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า ล้างแผลให้สะอาดแล้วเปิดแผลทิ้งไว้ ให้แผลได้หายใจหรือแผลจะได้แห้งไว ๆ แต่เมื่อโตขึ้น ก็ได้ยินคำแนะนำจากหลายแหล่งให้ปิดแผลบ้าง เปิดแผลไว้บ้าง ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่า จริง ๆ แล้วเราควรจะเปิดหรือปิดแผลไว้กันแน่ หรือมีแผลแบบใดที่ไม่ควรปิดแผลไว้ด้วยพลาสเตอร์ยาหรือไม่

ภาพ : Shutterstock

 

กระบวนการรักษาบาดแผลของร่างกาย

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับกระบวนการรักษาบาดแผลของร่างกายของเรากันก่อน

 

เมื่อเกิดแผลจากการถูกของมีคมบาด แผลถลอก แผลจากการถูกทิ่มตำ แผลกดทับ หรือแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ร่างกายจะมีกระบวนการรักษาตนเองในทันที ซึ่งหากเป็นแผลที่มีเลือดออก สิ่งแรกที่เกิดขึ้นเลยก็คือ กระบวนการห้ามเลือดของร่างกาย ที่เรียกว่า Hemostasis โดยเลือดจะจับตัวกันเป็นลิ่มและอุดบาดแผลไว้ ป้องกันการสูญเสียเลือด และป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

 

หลังจากเลือดหยุดไหลแล้ว แผลจะเริ่มมีลักษณะบวมแดงมากน้อยต่างกันไป ซึ่งกระบวนการนี้เป็นกระบวนการอักเสบ โดยหลอดเลือดจะนำสารอาหารและออกซิเจนมายังบริเวณที่เป็นแผลเพื่อทำการรักษา ซึ่งออกซิเจนในเลือดนี้จำเป็นต่อการรักษาแผล โดยปริมาณของออกซิเจนจะต้องอยู่ในสมดุล ไม่มากหรือน้อยเกินไป

 

นอกจากนี้ยังมีของเหลวใส ๆ ออกมารอบ ๆ บาดแผลซึ่งจะช่วยให้แผลสะอาดขึ้น และมีเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะชนิดแมกโครฟาจ (Macrophage) มาทำหน้าที่ป้องกันแผลจากการติดเชื้อและเขมือบเชื้อโรคที่เข้ามาทางแผลเปิด รวมทั้งดูแลกระบวนการซ่อมแซมด้วย โดยผลิตสารที่เรียกว่า Growth facter ที่เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาบาดแผล โดยเนื้อเยื่อที่ถูกสร้างขึ้นใหม่อาจมีอาการคัน มีรอยย่น และมีความแข็งแรงพอ ๆ กับเนื้อเยื่อก่อนเกิดบาดแผล

ภาพ : Shutterstock

 

แผลแบบไหนไม่ควรปิดพลาสเตอร์ยา

เมื่อเกิดบาดแผล และทำความสะอาดบาดแผลเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ควรทำต่อมาคือการปิดบาดแผลด้วยพลาสเตอร์ยาหรือผ้าก็อต เพื่อรักษาความสะอาดของแผล ป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังคงมีข้อถกเถียงจากความเชื่อเดิมที่ว่า ควรเปิดแผลไว้ให้แผลหายใจบ้าง แผลจะได้แห้งไว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าบาดแผลจะสัมผัสกับอากาศภายนอกหรือไม่ มันก็ยังคงเกิดกระบวนการรักษาบาดแผล ตกสะเก็ด และเป็นแผลเป็นอยู่ดี เราเพียงแต่สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานเท่านั้น และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการรักษาบาดแผล แท้จริงแล้วก็คือ ความชื้น

ภาพ : Shutterstock

 

ในปีพ.ศ. 2505 ดร.จอร์จ ดี. วินเทอร์ ได้เขียนบทความเรื่องหนึ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความชื้นช่วยให้เซลล์เร่งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ นอกจากนี้งานวิจัยศึกษาอื่น ๆ ยังระบุว่า ความชื้นทำให้หลอดเลือดงอกใหม่เร็วขึ้น และจำนวนเซลล์ที่ทำให้เกิดการอักเสบจะลดลงเร็วกว่าบาดแผลที่เปิดให้สัมผัสกับอากาศ  ตรงกันข้าม การเปิดบาดแผลให้สัมผัสกับอากาศ จะทำให้แผลแห้งและเซลล์อาจตายได้

ภาพ : Shutterstock

 

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าแผลแบบไหนก็ควรปิดพลาสเตอร์ยาเอาไว้ เพราะนอกจากจะช่วยให้มีความชื้นซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการรักษาบาดแผลของกระบวนการในร่างกายแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อโรค รวมถึงการกระแทก การขูดขีด การแกะเกา หรือการรบกวนอื่น ๆ ที่จะรบกวนกระบวนการรักษาบาดแผล ซึ่งอาจทำให้เลือดออกอีกครั้งได้ และหากเป็นเช่นนั้น บาดแผลก็อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษาที่นานขึ้น และเพิ่มโอกาสการเกิดแผลเป็นที่มากขึ้นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ยา ควรเปลี่ยนพลาสเตอร์ยาเป็นประจำ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค หรือเมื่อพลาสเตอร์ยาเริ่มหลุดลอกออก เชื้อโรคก็อาจเข้าไปในแผลได้เช่นกัน รวมถึงการใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียประเภทครีมก็จะช่วยให้ความชุ่มชื้นและป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเป็นบาดแผลที่เล็กน้อยมาก ๆ และไม่น่าจะเป็นจุดที่สัมผัสกับเสื้อผ้าหรือสิ่งสกปรกอื่นใด ก็อาจละเว้นการปิดบาดแผลด้วยพลาสเตอร์ยาได้ แต่ควรทำความสะอาดแผลในเบื้องต้น ส่วนแผลที่มีขนาดใหญ่และลึกมาก ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตามกระบวนการที่ถูกต้องต่อไปจะดีที่สุด

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- แผลเป็นและวิธีรักษารอยแผลเป็น
- ส่วนประกอบของเลือด
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow