Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ดามใจคนข้างกายด้วย Empathy แล้วใช้ Solidarity รักษาแผลสังคม (02)

Posted By Plook Magazine | 11 มิ.ย. 64
5,216 Views

  Favorite

ตอนที่แล้วเราได้พาไปรู้จักกับความแตกต่างระหว่าง sympathy และ empathy รวมถึงแนวทางการนำไปใช้จริงในชีวิต ในตอนที่ 2 นี้ เราจะพาไปดูข้อจำกัดของ sympathy และ empathy แต่ก็จะฉายให้เห็นถึงศักยภาพที่สามารถต่อยอดไปสู่ความรู้สึกและสำนึกรูปแบบอื่น ได้แก่ compassion และ solidarity ที่สามารถใช้เป็นยารักษา 'ความทุกข์เชิงโครงสร้าง’ ที่คนในวงกว้างของสังคมต้องประสบพบเจอ โดยเราจะไปเริ่มกันที่ compassion ซึ่งเปรียบดั่งอีกก้าวของ empathy กันก่อน

 

 

cr.www.freepik.com

 

Compassion อีกขั้นของ Empathy

ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าทั้งทักษะ sympathy และ empathy ที่เราพูดไปในตอนที่แล้วส่วนใหญ่จะเป็นยารักษาแผลใจของคนใกล้ตัวหรือเป็นการช่วยเหลือเหยื่อที่สามารถระบุตัวตนได้เป็นหลัก (identifiable victim) ซึ่งสามารถจำแนกอย่างหลวม ๆ ได้ว่าเป็นความทุกข์ของปัจเจก

 

ทีนี้ถ้าพูดถึงความทุกข์ที่เป็นผลพวงมาจากปัญหาทางสังคมซึ่งขอเรียกว่า 'ความทุกข์เชิงโครงสร้าง’ เช่น สถานะยากจนที่เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส การที่จะต้องนั่งรถเมล์อ้อมโลกกว่าจะถึงบ้านเพราะความเหลื่อมล้ำด้านการคมนาคม การถูกเหยียดเพศวิถี การที่จะต้องตรากตรำกับระบบการศึกษาที่มีธงคือการวัดผลสอบ และการถูกกระทำอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย sympathy และ empathy ก็ยังคงทำหน้าที่รักษาแผลใจแบบปัจเจกได้ดีอยู่ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาทางสังคมที่เปรียบดั่งโรคเรื้อรังที่กัดเซาะหัวใจของผู้คนในวงกว้างได้เลย หมายความว่าถ้าเราจะใช้ sympathy และ empathy รักษาความทุกข์จากโรคเรื้อรังนี้ก็คงต้องนั่งไล่ดามใจผู้คนทั้งสังคมทีละคนจนตัวตายแน่ ๆ

 

บางคนอาจกำลังนึกว่าปัญหาทางสังคมพวกนี้มันควรได้รับการแก้ไขผ่านระบบกลไกระดับมหภาค ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ กลุ่มทางการเมือง กระทรวง ทบวง กรม หรือรัฐบาลไม่ใช่เหรอ มันจะมีทักษะหรือประเภทของความรู้สึกและความสำนึกแบบใดกันที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งขอเฉลยตรงนี้เลยว่ามี แม้จะไม่ใช่ empathy ตรง ๆ แต่ไอ้เจ้า empathy นี่แหละที่จะเป็นก้าวแรกไปสู่ความรู้สึกและความสำนึกอย่างที่ว่าได้ ซึ่งอีกขั้นของ empathy ที่ว่านี้ก็คือ ‘compassion’ 

 

ถ้ายึดตามคำนิยามแล้วอย่างเก่ง empathy ก็คือการสัมผัสถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างถึงรากเพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับผู้อื่น ซึ่งแน่นอนว่ามันช่วยคลายความโศกเศร้าของคน ๆ นั้นได้ แต่มันก็ไม่ได้กินความหมายไปถึงการลงมือช่วยแก้ไขต้นตอของปัญหาแต่อย่างใด อาจพูดได้ว่ามันเป็น 'ยารักษาตามอาการ' ในขณะที่ 'ความเมตตากรุณา' หรือ 'compassion’ จะกินความหมายตั้งแต่การเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ยากของผู้อื่นที่พ่วงมากับความต้องการที่จะช่วยเหลือ เช่น ถ้าเพื่อนถูกมีดบาดนิ้ว คนที่มี compassion จะมีแรงกระตุ้นให้วิ่งไปหายาและผ้าพันแผลมาช่วยปฐมพยาบาลเพื่อน โดยที่จะร่วมรู้สึกถึงความเจ็บปวดนั้น ๆ ด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อดีตรงที่บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องดื่มด่ำความทุกข์ร่วมกันแต่ก็สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสามารถเลี่ยงอาการ empathy fatigue ได้

 

เพราะทัักษะ compassion ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่ถือเป็นทักษะที่มีประโยชน์ในการขจัดความทุกข์ของผู้อื่น เราก็น่าจะลองฝึกให้มีทักษะ compassion กันดูสักหน่อย โดยขอเสนอวิธีเริ่มต้นอย่างง่าย ๆ ดังนี้

 

• ฝึกจิตใจให้มีสำนึกในเรื่องของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความอ่อนโยน อาจทำผ่านรูปแบบของการทำสมาธิหรือการนึกคิดธรรมดา ๆ ก็ได้


• สิ่งสำคัญคือให้เราเริ่มคำนึงถึงอารมณ์แห่งความเมตตากรุณาตั้งแต่ตัวเองแล้วขยายออกไปสู่คนใกล้ตัว รวมถึงคนที่เรารักหรือเกลียด ไปสู่คนทั่วไปในสังคม ไกลออกไปสู่เพื่อนมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมด


• ระหว่างทางที่เราฝึกขยายความรู้สึกเหล่านี้ไปสู่กลุ่มคนต่าง ๆ ให้เราพยายามเร้าความต้องการที่จะปลดเปลี้องความทุกข์ของผู้อื่นไปด้วยเพื่อให้เกิด compassion ได้อย่างแท้จริง


• เมื่อฝึกตนจากภายในแล้วก็ควรจะปฏิบัติจริงด้วย เริ่มด้วยการสังเกตว่าในชีวิตประจำวันของเรามีใครที่ต้องการความช่วยเหลือที่เราพอจะช่วยได้อยู่บ้างไหม อาจเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ แล้วค่อยไต่ระดับขึ้นไปตามกำลังของเราก็ได้

 

 

แม้ compassion จะสามารถเลี่ยงอาการ empathy fatigue และยังช่วยแก้ปัญหาของผู้อื่นได้ตั้งแต่ระดับปัจเจกจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างได้ แต่ก็ยังเป็นการส่งต่อความรู้สึกและการช่วยเหลือจากคน ๆ เดียวไปสู่คนหรือกลุ่มผู้คนคล้าย ๆ กับ sympathy และ empathy อยู่ดี ทำให้แม้ว่าจะเลี่ยงอาการ empathy fatigue ได้ แต่ก็อาจจะหนีไม่พ้นที่จะต้องเหนื่อยล้าจากการแสดงความเมตตากรุณาหรือ ‘compassion fatigue’ อยู่ดี ผลลัพธ์ก็เหมือนกับ empathy fatigue ตรงที่ไฟแห่ง compassion อาจมอดลงและกลายเป็นคนเย็นชาไปได้ วิธีแก้ก็คล้ายกับในบทความที่เสนอไปในตอนที่แล้ว

 

แต่สิ่งที่น่ากลัวคือถ้าวันหนึ่งเรา burnout แล้วไม่มีคนมาแสดง sympathy, empathy หรือกระทั่ง compassion กับเรา บวกกับการที่เราอาจไม่มีเวลาไปชาร์จแบตเติมพลังความรู้สึกและทักษะเหล่านี้ โลกก็จะขาด sympathy, empathy และ compassion จากคน ๆ หนึ่งไปอีกคน เหมือนกับแบตที่เสื่อมแล้วและถูกโยนทิ้งไป ยิ่งไปกว่านั้นคือการที่เราจะปลดเปลื้องความทุกข์เชิงโครงสร้างด้วย compassion ของเราเพียงคนเดียวก็ดูจะเป็นหนังแฟนตาซี-ซูเปอร์ฮีโร่ที่อยู่ในจักรวาลแห่งจินตนาการจนเกินไป

 

คำถามที่สำคัญคือ  มันมีความรู้สึกหรือสำนึกแบบใดไหมที่สามารถรวบรวมฝูงชนผู้มี compassion เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะรวมพลังกันส่งต่อความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและร่วมกันช่วยขจัดความทุกข์ให้กับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีพลัง และเป็นพื้นที่ที่แต่ละคนมาช่วยกันเติมเต็มพลังหรือชาร์จแบตแห่ง compassion ให้แก่กันและกันได้

 

cr.www.freepik.com

 

ทำไมแค่ Empathy ถึงไม่พอ

ก่อนไปดูรูปแบบสำนึกร่วมทางสังคมดังกล่าว เราควรมาวิเคราะห์กันก่อนว่าทำไม empathy ถึงไม่เพียงพอที่จะสร้างกลุ่มพลังทางสังคมที่ว่า และบางที empathy ก็สามารถกลายเป็นอุปสรรคได้ด้วยซ้ำ

 

ถ้าเราใช้ empathy ไปร่วมทุกข์กับคนอื่นแต่ดันไปติดกับดักแห่งความทุกข์แล้วจมปลักไปด้วยกันทั้งคู่ก็เท่ากับเป็นการยอมจำนนในความทุกข์จนไม่สามารถพัฒนาไปสู่ compassion และการสร้างกลุ่มก้อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ แล้วถ้าเจ้าของความทุกข์คือเหยื่อของการล่วงละเมิดหรือการกระทำผิดอะไรบางอย่าง การใช้ empathy ที่ผิดทางอาจนำไปสู่การสร้าง 'วัฒนธรรมนิยมความเป็นเหยื่อ' หรือ ‘victimhood culture’ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พยายามใช้สถานะความเป็นเหยื่อในการได้มาซึ่งอำนาจในการต่อรองหรือต่อสู้ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไรเพราะก็ถือเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมของเหยื่อ แต่สิ่งที่น่ากังวลของ victimhood culture คือมันอาจจะสร้างบรรยากาศที่ทำให้ทุกคนแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้เป็นเหยื่ออยากจะสวมบทบาทเป็นเหยื่อบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการต่อรองหรือขับเคลื่อนในประเด็นที่ตนต้องการ หรือกระทั่งมีจุดประสงค์แอบแฝงก็ได้ (hidden agenda)

 

แน่นอนว่า empathy ในตัวมันเองไม่ใช่สิ่งที่แย่ และการใช้ empathy ไปเสริมกำลังให้เหยื่อหรือผู้อื่นที่มีความทุกข์ให้ได้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่หลังจากขั้นตอนของการแสดงความเห็นอกเห็นใจแล้ว เราจะใช้ empathy เพื่อปูทางไปสู่สิ่งใดต่อก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าทั้ง empathy และ compassion ยังติดอยู่ตรงที่เป็นการส่งต่อความรู้สึกและการช่วยเหลือจากคน ๆ เดียวไปสู่คนหรือกลุ่มผู้คนอื่น ๆ ทั้ง sympathy, empathy และ compassion จึงดำรงอยู่อย่างกระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ ของสังคม ทำให้มีพละกำลังในการต่อกรกับความทุกข์เชิงโครงสร้างไม่มากพอ สำนึกร่วมทางสังคมที่สามารถรวมพลังที่กระจัดกระจายเหล่านี้เข้ามาไว้ด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนอย่าง 'solidarity’ จึงเป็นอีกหนทางที่ควรพิจารณา

 

cr.www.freepik.com

 

ใต้ชายคาแห่ง Solidarity

Solidarity หรือ 'ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว/ความเป็นปึกแผ่นทางสังคม' หมายถึงสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เชื่อมโยงผู้คนอันหลากหลายที่มีความรู้สึก ค่านิยม ประโยชน์ และเป้าหมายร่วมกันให้มารวมตัวกันเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างสำนึกรวมหมู่ที่จะนำไปสู่การเสริมกำลังของกลุ่มในการบรรลุเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน

 

ตัวอย่างคลาสสิกของ solidarity คือสหภาพแรงงาน โดยมีบรรดาแรงงานที่ประสบปัญหาหรือความทุกข์ร่วมกัน เช่น ถูกกดขี่ขูดรีดค่าแรง ถูกเอาเปรียบให้ทำงานล่วงเวลาฟรี ๆ ฯลฯ ได้มารวมตัวกันเพื่อผนึกกำลังให้เป็นหนึ่ง เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับนายจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตการทำงานและชีิวิตโดยรวมที่ดีขึ้น โดยมีสหายร่วมทางคือสมาชิกผู้ใช้แรงงานของสหภาพที่คอยเป็นกำลังใจให้กันและกันในยามยากและคิดแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

ทั้งนี้ สมาชิกของกลุ่มก้อนแห่ง solidarity ไม่จำเป็นต้องมีพื้นเพที่เหมือนกัน เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีที่ไม่ได้จำกัดการเป็นสมาชิกตามเพศสภาพ โดยสมาชิกบางคนอาจเคยมีประสบการณ์การถูกกดขี่และลิดรอนสิทธิในทางตรง ทางอ้อม หรือกระทั่งไม่เคยประสบพบเจออย่างที่ผู้หญิงเคยถูกกระทำเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยสะพานแห่ง sympathy, empathy และ compassion ที่ปูทางให้เหล่าผู้คนที่เหลืออดกับสภาวะแห่งการลิดรอนสิทธิได้มารวมตัวกันภายใต้ 'ชายคาแห่ง solidarity’ 

 

ลักษณะของกลุ่มพลังทางสังคมนี้สามารถดำรงอยู่ทั้งในรูปแบบของสโมสร ชุมชน สหภาพ กลุ่มทางเพศวิถี ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือชนชั้น และอีกมากมาย แต่ไม่ว่ากลุ่มก้อนแห่ง solidarity จะมีรูปแบบที่หลากหลายแปรผันไปตามสภาพการณ์ที่ต่างกันอย่างไรก็ตาม ก็มักจะมีลักษณะร่วมกันอยู่ 3 ประการดังนี้

 

1. สายสัมพันธ์ - รูปแบบของสายสัมพันธ์นั้นไม่ได้ยึดตามสถานะทางสังคม เช่น สายสัมพันธ์ฉันลูกจ้าง-นายจ้าง ลูกศิษย์-อาจารย์ ฯลฯ แต่รูปแบบของสายสัมพันธ์นี้จะอิงตามอุดมการณ์ประจำกลุ่ม เช่น การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นความสัมพันธ์ของสมาชิกแต่ละคนก็คือการเป็น 'ผู้ร่วมอุดมการณ์' ในการสนับสนุนให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีที่อยู่ที่ยืนในสังคมอย่างไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ นั่นเอง

 

2.  พันธกิจร่วม – solidarity จะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้คนที่มารวมตัวกันได้กำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยที่สมาชิกแต่ละคนจะมีพันธะหรือภารกิจร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม

 

3. การเสียสละเพื่อส่วนรวม – การเสียสละเพื่อส่วนรวมนี้แน่นอนว่าไม่ใช่การตัดศีรษะถวายเทพ แต่เป็นการตระหนักถึงศักยภาพและบทบาทของตัวเองในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม ด้วยเจตจำนงในการใช้ศักยภาพนั้น ๆ ของตนไปกับการขับเคลื่อนและบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม การตระหนักรู้ถึงความแตกต่างภายในกลุ่มจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่จะรู้ว่าแต่ละคนสามารถให้อะไรกับกลุ่มได้บ้าง (contribution) ดังนั้นจึงควรละแนวคิดใคร่อยากจะเป็นเหยื่อแบบ victimhood culture แล้วทำงานบนฐานของความแตกต่างที่มีจุดยืนร่วมกันทางอุดมการณ์

 

 

จากเม็ดทรายสู่บ้านหลังใหญ่

เมื่อเราพอทราบถึงองค์ประกอบในการสร้างความเป็น solidarity กันแล้ว ทีนี้ลองมาดูกันว่าเราจะก่อร่างสร้าง solidarity กันอย่างไร แล้วเมื่อมีคนเข้าร่วมมากขึ้นเราจะหล่อหลอมความหลากหลายให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้อย่างไรบ้าง

 

ตั้งกลุ่มและมุ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ 

เริ่มต้นอาจไม่ต้องเป็นกลุ่มที่ยิ่งใหญ่อะไรมากค่อย ๆ นับ 1 2 3 ไปเรื่อย ๆ อาจใช้ช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในการรวบรวมสมาชิกก็ได้ สิ่งสำคัญคือควรมีเป้าหมายร่วมกัน (อย่างน้อยก็หลวม ๆ ในขั้นต้น) และนอกเหนือจากการมีเป้าหมายใหญ่ในระยะยาวแล้วก็ควรมีกิจกรรมภายในกลุ่มด้วย เช่น กลุ่มหนึ่งอาจมีเป้าหมายในการสร้างความเท่าเทียมด้านโอกาสในการศึกษา ก็อาจเริ่มต้นด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนหลากหลายที่มีแนวคิดและเป้าหมายคล้ายคลึงกันได้มาพบปะกัน แล้วอาจจัดกิจกรรม อย่างสัมมนาแลกเปลี่ยนทางความคิดกันผ่านระบบออนไลน์ หรืออาจเป็นกิจกรรมนันทนาการก็ได้ สาเหตุที่ควรมีกิจกรรมย่อยก็เพราะจะช่วยสร้างความสนิทสนมและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันได้ 

 

ร่วมกันออกแบบความฝัน

แม้เราจะแชร์ความทุกข์ร่วมกัน แต่ก็ไม่ควรเอาความทุกข์เป็นธงหรือเป้าหมายของกลุ่มถ้าไม่ได้ตั้งใจจะจัดตั้งกลุ่มเพื่อการบำบัด แน่นอนว่าสมาชิกสามารถแสดง empathy ต่อกันและกันได้ (และควรมี) แต่ solidarity ควรมีเป้าหมายที่ประหนึ่งเป็นความฝันที่ไม่ได้ลิมิตอยู่ที่การมาปลอบโยนจิตใจกันเท่านั้น เป้าหมายหรือความฝันที่ว่าอาจเริ่มต้นด้วยจินตนาการถึงโลกในอุดมคติ (utopia) เลยก็ได้ ประเด็นสำคัญคือไม่ว่าเป้าหมายจะดูโลกสวยหรือขายฝันแค่ไหน แต่สมาชิกสามารถร่วมกันปัดแต่งมันจนมีลักษณะที่จับต้องได้ผ่านกระบวนการวิพากษ์กันอย่างเสรี

 

cr.www.freepik.com

 

รับรู้ถึงความไม่เท่าเทียมกันของสมาชิกในกลุ่ม

อย่างที่กล่าวไปว่าการรับรู้ถึงความแตกต่างกระทั่งความไม่เท่าเทียมกันทางศักยภาพและความสามารถของสมาชิกในกลุ่มคือการประเมินพละกำลังและทรัพยากรของกลุ่มที่สามารถนำมาใช้พิชิตเป้าหมายร่วมกัน ถ้าเจ้าตัวที่มีอะไร ๆ มากกว่าคนอื่นมัวแต่หลอกตัวเองแล้วเล่นบทติดดินอย่างประดิษฐ์ แทนที่จะสามารถแชร์ทรัพยากรร่วมกันเพื่อประโยชน์ของกลุ่มก็จะเป็นการเสียโอกาสเปล่า ๆ

 

กระจายอำนาจภายในกลุ่ม

การรับรู้ถึงความไม่เท่าเทียมไม่ได้หมายความว่าจะต้องสืบสานความไม่เท่าเทียมนี้ต่อไป แต่ควรหาทางให้ทุกคนยกระดับขึ้นมาเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุดผ่านการออกแบบโครงสร้างกลุ่มแบบแนวราบที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบความฝันและเป้าหมาย รวมถึงแนวทางปฏิบัติของกลุ่ม โครงสร้างกลุ่มแบบแนวราบนี้จะช่วยส่งเสริมให้สมาชิกที่รู้สึกว่าตนด้อยกว่าคนอื่นรู้สึกเท่าเทียมกับคนอื่นมากขึ้น กล้าท่ี่จะออกความเห็นที่ท้าทายความคิดของกลุ่มเพื่อต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ ๆ การเปิดโอกาสในรูปแบบนี้ถ้าจัดการดี ๆ ก็สามารถทำให้กลุ่มตกผลึกทางความคิดกันมากขึ้น 

 

ให้คุณค่ากับความคิดเชิงวิเคราะห์ของสมาชิก

เรื่องเล่าอันน่าเศร้าของสมาชิกบางทีก็สามารถจุดประกายให้ผู้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าเดิมได้ แต่ใช่ว่าเอะอะก็จะผลิตซ้ำความเศร้าของคนอื่นอย่างพร่ำเพรื่อ และที่สำคัญคือควรหันมาให้ความสำคัญกับความคิดเชิงวิเคราะห์ของสมาชิกกันให้มาก โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์ความทุกข์เชิงโครงสร้างอย่างหนักหนาสาหัสอาจเป็นคนที่มองเห็นปัญหาในหลากหลายมิติและสามารถให้แง่คิดเชิงวิเคราะห์ดี ๆ กับกลุ่มได้มากกว่าเรื่องเล่าอันแสนเศร้าเพียงอย่างเดียว

 

เปิดรับความเห็นต่าง

แม้การมีค่านิยมและเป้าหมายร่วมกันคือสายใยที่เชื่อมโยงทุกคนไว้ด้วยกัน แต่ก็ควรจะเหลือพื้นที่ให้กรอบแนวคิดที่แตกต่างได้มีที่ยืนอยู่บ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อเลี่ยงสภาวะความคิดอันคับแคบที่วิ่งชนกรอบตัวเอง (echo chamber) ความเห็นต่างนี้แม้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งแต่ถ้าจัดการดี ๆ มันจะเป็นการกระทบกระทั่งกันทางความคิดไม่ใช่การตัดสายสัมพันธ์กัน ทั้งยังมีประโยชน์ตรงที่มันอาจกลายเป็นกุญแจที่เปิดประตูแห่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มก็ได้

 

cr: Rotten Tomatoes

 

สู่จักรวาล solidarity

การฝึกให้สมาชิกในกลุ่มมีความอดทนอดกลั้นกับความเห็นต่างจนสามารถรับมือกับกระบวนการถกเถียงทางปัญหาได้ก็จะช่วยให้กลุ่ม ๆ หนึ่งสามารถร่วมมือกับกลุ่มอื่น ๆ ที่อาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกันแต่มีจุดร่วมคือประสบ 'ความทุกข์เชิงโครงสร้าง’ เหมือนกัน เพื่อผนึกพลังกันผ่านรูปแบบแนวร่วมหรือเครือข่าย เราจะเห็นตัวอย่างนี้ได้ตามหน้าข่าวทั่วไป เช่น กลุ่มชาติพันธุ์จับมือกับคลื่นพลังทางสังคมลูกใหม่ ๆ ที่แม้จะมีธงต่างกันบ้างแต่ก็สามารถใช้ empathy หรือ compassion เป็นสะพานเชื่อมไปสู่ความเป็น solidarity แบบเครือข่ายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทางสังคมด้วยกัน หรือจะเป็นตัวอย่างจากภาพยนตร์ที่สร้างจากเค้าโครงเหตุการณ์จริง อย่างเรื่อง Pride (2014) ที่เล่าเรื่องราวของกลุ่มนักกิจกรรมเกย์และเลสเบี้ยนที่รวมพลังกับสหภาพแรงงานเหมืองเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์หยุดงานประท้วงในสหราชอาณาจักรปี 1984

 

เมื่อพิจารณาดูดี ๆ เราจะเห็นว่าสำนึกร่วมอย่าง solidarity ในช่วงเริ่มก่อตัวจะมีลักษณะคล้ายพื้นที่ว่างอันไร้รูปร่าง แต่ด้วยการที่สำนึกประเภทนี้แฝงไปด้วยกำลังในการดึงดูดพลังที่เดิมทีอาจเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ในสังคมให้มารวมตัวกันได้ โดยเฉพาะพลังแห่ง sympathy, empathy และ compassion พื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ว่างก็จะเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา มันอาจจะออกมาเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ แล้วมีน้ำรั่วมาจากหลังคาเมื่อเจอพายุฝนโหมกระหน่ำ สมาชิกภายในอาจทะเลาะกันไม่ต่างจากครอบครัวธรรมดา ๆ ทั่วไป แต่แน่นอนว่าตราบใดที่ยังไม่ละทิ้งอุดมการณ์และจิตสำนึกร่วมกัน แล้วยังกลับมาให้กำลังใจสมาชิกด้วยกันอยู่เสมอ บวกกับสภาพสังคมที่ผู้คนยังมีความทุกข์เชิงโครงสร้างอยู่ มันก็มีโอกาสที่บ้านหลังเล็ก ๆ หลังนี้จะขยายใหญ่เป็นบ้านหลังโตที่มีศักยภาพไปปลดเปลื้องความทุกข์เชิงโครงสร้างที่กำลังกัดเซาะสังคมอยู่ได้แน่ ๆ

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Victim Blaming เตือนให้อยู่ในกรอบ หรือลดทอนความเป็นมนุษย์

Emotional Agility ทักษะการจัดการอารมณ์ให้สมดุลจากนักจิตวิทยา

เพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า จะคุยกับเพื่อนยังไงดี ?

การเป็นผู้ฟังที่ดี หนึ่งในทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น

“อย่าเด่น จะเป็นภัย” วลีที่ทำให้คนเรียนเก่งโดนหมั่นไส้ คนดีถูกแซะ

ทำไมคน Gen Z ถึงไม่มีศาสนามากขึ้น

ดูแลสุขภาพใจยังไง ให้ใจไม่ TOXIC ชีวิตแฮปปี้

เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนประจำ จะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน

3 วิธี ‘ฝึกสมาธิ’ เรียกคืนสติในทุกสถานการณ์

4 คำถามถ้าอยากคิดวิเคราะห์เก่ง เพราะ 'Critical Thinking' นั้นสำคัญ

รู้จัก ‘Toxic Masculinity’ ผลพวงของชายเป็นใหญ่

ครูตีนักเรียนได้ไหม ? ตอบเลยว่าไม่ได้นะ หมดยุคไม้เรียวสร้างคนแล้ว 


 

แหล่งข้อมูล

Sympathy vs. Empathy  

Empathy vs. Sympathy: What’s the Difference?  

Sympathy and Empathy – Do You Really Know the Difference?

Give Your Empathy a Boost  

Empathy

The surprising downsides of empathy   

Compassion Fatigue

Turn Empathy Into Compassion Without the Empathic Distress 

Don’t confuse solidarity with empathy!

 What is solidarity? During coronavirus and always, it’s more than ‘we’re all in this together’ 

How Do We Actually Build Solidarity? 

Five ways to build solidarity across our differences 

Pride (2014 film)

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow