Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัฏจักรพลาสติก (Plastic Cycle)

Posted By sanomaru | 04 มิ.ย. 64
7,284 Views

  Favorite

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับวัฏจักรน้ำ วัฏจักรคาร์บอน วัฏจักรฟอสฟอรัส หรือวัฏจักรไนโตรเจน ที่มีการหมุนเวียนอยู่ในน้ำ ในดิน ในอากาศ ภายในโลกของเรา แต่สำหรับวัฏจักรพลาสติกนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะพลาสติกที่กำลังหมุนเวียนอยู่ในโลกของเรานี้ ไม่ใช่พลาสติกที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นพลาสติกที่เราเคยใช้งานและทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมกันมายาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งเราทุกคนก็คงไม่อยากให้มีวัฏจักรของมันอยู่บนโลกของเราสักเท่าไรนัก

 

ก่อนหน้านี้เราอาจเคยได้เห็น ได้ยิน หรือได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการรณรงค์ไม่ทิ้งพลาสติกลงทะเล เพื่อรักษาชีวิตของสัตว์ทะเล อย่างเต่า ปู หรือปลา เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อเวลาผ่านไป พลาสติกในทะเลยังจะกลายเป็นไมโครพลาสติก และอาจตกค้างอยู่ในสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์อีกด้วย แต่เวลานี้ไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะพลาสติกที่ถูกทิ้งสะสมอยู่ในโลกนานหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้กลายเป็นปัญหาและกลายเป็นวัฏจักรพลาสติกที่อาจส่งผลกระทบถึงสุขภาพโดยรวมของมนุษย์ต่อจากนี้ไป

ภาพ : Shutterstock

 

โดยปกติแล้วขยะพลาสติกส่วนใหญ่จะถูกทำลายด้วยการฝังดิน เผา หรือนำไปรีไซเคิล แต่ยังคงมีพลาสติกอีกจำนวนมากกว่า 18% ของทั้งหมดที่กลับสู่สิ่งแวดล้อม และเมื่อมันไม่สามารถย่อยสลายได้ มันก็จะแตกเป็นเศษพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก ซึ่งเล็กพอที่จะถูกพัดพาไปในอากาศ และอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลกตั้งแต่ในมหาสมุทรไปจนถึงยอดเขาเอเวอร์เรส

 

วัฏจักรพลาสติก

เจนิซ บราห์นีย์ (Janice Brahney) นักวิจัยซึ่งทำงานในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์และเป็นหนึ่งในนักวิจัยที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ พบว่า มีเศษพลาสติกในตัวอย่างฝุ่นของเธอ ซึ่งเศษพลาสติกเหล่านี้เป็นไมโครพลาสติกประเภทที่ 2 โดยมีแหล่งที่มาจาก
1. ถนน บนถนนในอเมริกาตะวันตก เป็นแหล่งที่พบพลาสติกสูงถึง 84% พลาสติกเหล่านี้ลอยขึ้นสู่อากาศจากการหมุนของยางรถยนต์ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง

ภาพ : Shutterstock

 

2. มหาสมุทร มหาสมุทรเป็นแหล่งที่พบพลาสติก 11% โดยแต่ละปีมีพลาสติกจำนวนมากถึง 8 ล้านตัน ถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทร และพวกมันก็มีแนวโน้มที่จะถูกกระทำจากคลื่นและลมให้ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ
3. ดินในพื้นที่การเกษตร ฝุ่นดินเป็นแหล่งสะสมของพลาสติกซึ่งพบได้ 5% ของทั้งหมด โดยอาจมาจากน้ำเสียจากแหล่งต่าง ๆ ที่รั่วออกมาจากระบบกรอง

 

เศษพลาสติกในชั้นบรรยากาศที่นักวิจัยศึกษาอยู่นี้อยู่ในชั้นบรรยากาศทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และพวกมันจะอยู่ในบรรยากาศได้นานตั้งแต่สองสามชั่วโมงไปจนถึงเกือบ 1 สัปดาห์ นั่นหมายความว่า มันสามารถปลิวไปยังที่ใดก็ได้ในโลกนี้ และกลายเป็นวัฏจักรตกกลับสู่พื้นดิน มหาสมุทร และจะกลับขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้งเช่นนี้เรื่อยไป

 

ไมโครพลาสติกถูกพัดพาจากแห่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่งทั่วโลก

ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ก็คือ อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กสามารถปลิวไปตกยังธารน้ำแข็ง และกลายเป็นน้ำแข็ง จากนั้นเมื่อน้ำแข็งละลายไหลลงสู่แม่น้ำ ทะเลสาบ ลมที่พัดผ่านก็จะหอบนำเอาพวกมันกลับขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้ง และมนุษย์จะได้รับพลาสติกเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายในที่สุด เมื่อมนุษย์ขับถ่ายปัสสาวะ น้ำเสียก็จะกลับไปสู่ดินอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษารูปแบบจำลองการพัดพาของพลาสติกในชั้นบรรยากาศไปทั่วโลก พบว่า พลาสติกส่วนใหญ่มักจะสะสมอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะที่แผ่นทวีปต่าง ๆ จะได้รับพลาสติกในชั้นบรรยากาศจากมหาสมุทรมากกว่าที่จะสะสมไว้ในดิน

ภาพ : Shutterstock

 

ผลกระทบจากวัฏจักรพลาสติกต่อมนุษย์

แนวคิดที่ว่าพลาสติกจะไม่ส่งผลกระทบถึงผู้คนบางพื้นที่นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพลาสติกอนุภาคเล็ก ๆ เหล่านี้จะพัดปลิวไปทั่วทุกมุมของโลก ดังนั้น แม้ว่าจะไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้กับมหาสมุทร หรือใกล้แหล่งน้ำเสีย แต่ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะหายใจเอาอากาศที่มีเศษพลาสติกนี้เข้าไป เพราะการศึกษาวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า พลาสติกในอากาศเหล่านี้สามารถเดินทางได้ไกลพอที่จะตกลงบนแอนตาร์กติกาในปริมาณมาก และในที่สุด เราอาจจะมีพลาสติกในชั้นบรรยากาศที่มีความเข้มข้นสูงทุก ๆ พื้นที่ เช่นเดียวกับปัญหาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังย้อนกลับมาทำร้ายโลก และทำร้ายมนุษย์บนโลกอยู่ในเวลานี้ เรื่องของวัฏจักรพลาสติกจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนจำเป็นต้องตระหนักและร่วมมือกันลดการใช้พลาสติกลง

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- ไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออะไร
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow