Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ล้อเล่น ปกปิด หรือโกหก สอนลูกให้ชัดเจน

Posted By Plook TCAS | 31 พ.ค. 64
4,206 Views

  Favorite

          “ปกปิด” กับ “โกหก” เหมือนเรื่องโลกแตกของไก่กับไข่ มันเป็นการโกหกเหมือนกันหรือเปล่า แล้ว “ล้อเล่น” จะถือเป็นการโกหกหรือไม่ บางทีเราเองก็สับสนอยู่บ่อย ๆ แล้วเจ้าตัวน้อยของเราละ ยิ่งกับเด็ก Gen Z แล้ว ควรให้เขาชัดเจน เข้าใจ ไม่สับสนแต่เนิ่น ๆ ไว้เลย ก่อนจะกลายเป็นนิสัยให้พวกเขาไปตอนโต

          งั้นพร้อมแล้ว มาดูเทคนิคสอนลูกไม่ให้สับสนกับการโกหก ให้มีแต่ความจริงที่แท้ทรูกันเลย

 

อธิบาย 3 คำนี้ให้ลูกเข้าใจ อย่าสับสน

“ล้อเล่น”

          เป็นความร้ายแรงระดับต่ำสุด บ่อยครั้งที่เด็ก ๆ พูดอะไรแบบไม่จริงจัง แต่ก็ไม่มีเจตนาให้เป็นไปตามนั้น อย่างหนูจะทำงานบ้านเองคนเดียว หนูจะเหาะไปโรงเรียน หนูจะเลิกกินขนม หรือเด็กบางคนอาจชอบแกล้ง ชอบอำ  สนุก ๆ  อาจมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก  หรืออาจติดมาจากนิทาน หรือในทีวี ในเน็ต  แม้ว่าเด็กจะโตพอแยกแยะโลกจินตนาการ โลกแห่งความจริงได้แล้ว แต่เด็กอีกหลายคนก็ยังติดเพ้อเจ้อ ฝัน ๆ ไปบ้าง  หรือบางบ้านพ่อแม่มักจะหลอกลูกเล่น ๆ เพื่อให้เปลี่ยนพฤติกรรม อย่างจะพาไปโน้น หรือซื้อของอะไรมาให้ถ้าหยุดร้องไห้ หรือแม้แต่ พ่อแม่หยอกเย้าเล่น ๆ กันเองบ่อย ๆ  “แม่อ้วนแบบนี้พ่อจะไปหาแม่ใหม่” จนกลายเป็นเรื่องขำ ๆ  เป็นปกติในบ้านไป 

 

“ปกปิด”

          เด็กหลายคนอาจมีพฤติกรรมปกปิดเรื่องของตัวเอง เด็กก่อนวัยรุ่นมักไม่ต้องการให้ใครล่วงล้ำพื้นที่ส่วนตัวของจิตใจ หรือปัญหาที่ตัวเองก่อไว้ อย่างโดนครูดุ ไม่ทำการบ้านแต่บอกว่าเสร็จ  การพูดไม่หมด หรือบอกความจริงเพียงส่วนหนึ่ง  ไม่ครบหมดทั้งเรื่อง พอถูกถามรายละเอียด เด็กก็จะยอมบอก แม้การปกปิดจะอยู่บนพื้นฐานความจริง ไม่ได้สร้างเรื่องใหม่ แต่การปกปิด อาจทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งส่งผลให้พวกเขาเริ่มหัดโกหก แต่งเรื่องใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง ขึ้นมากลบเกลื่อนเรื่องที่ตัวเองปิดบังไว้

 

“โกหก”

          เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ  เพื่อเรียกร้องความสนใจ  เพื่อหนีปัญหา หนีการลงโทษ หรือเด็กบางคนเลือกการโกหกเพื่อให้เพื่อน ๆ ยอมรับ  เติมแต่งให้เร้าใจ เพื่ออยากให้คนอื่นสนใจ ให้ได้รับความนิยมชมชอบจากคนอื่นมากขึ้น  หรือแม้แต่เด็กบางคน พวกเขาอาจสร้างเรื่องใหม่ มาเพื่อป้องกันตัวเอง เพิ่มน้ำหนักให้กับเรื่องที่ตัวเองเคยปกปิดไว้  ส่วนการไม่อยากทำร้ายความรู้สึกผู้อื่น หรือ White Lie  ซึ่งเป็นเจตนาดีนั้น  ยังคงเป็นปัญหาโลกแตกของการโกหก เพราะผู้คนในสังคมอีกหลายกลุ่ม ต่างคิดว่าสิ่งนั้นคือการโกหกอยู่ดี  

 

แบบอย่างที่ดีเริ่มต้นจากในบ้าน 

          การหยอกล้อนั้น ควรเน้นย้ำลูกเสมอว่า ต้องรู้จักกาลเทศะ สภาวะใดที่ไม่เหมาะสม  กับบุคคลใดที่ควรหรือไม่ควร ต้องคอยสังเกตสีหน้า ท่าทีของคนที่โดนแกล้ง โดนอำ ว่าเขาสนุกไปด้วยหรือเปล่า ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นเด็กขาดสัมมาคารวะ ก่อนติดเป็นนิสัยบูลลี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว  เมื่อล้อเล่นกันขำ ๆ  ก็ต้องปิดท้ายว่าล้อเล่นให้ชัดเจน  พ่อแม่ ผู้ปกครองเองก็ไม่ควรปกปิดบางเรื่อง หากเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด ยังไม่ต้องการให้ลูกรับรู้  ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า เมื่อพวกเขาพร้อม ในวัยและเวลาอันเหมาะสม พวกเขาจะเข้าใจเอง หรือพ่อแม่ก็พร้อมที่จะบอกลูกเช่นกัน   การเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ต้องสร้างบ้านไร้การโกหกให้ได้ ไม่เช่นนั้นเด็กจะเข้าใจผิดว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ จนฝังแน่นกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดี  หากบางเรื่องต้องโกหกเพื่อรักษาน้ำใจผู้อื่น ต้องคอยอธิบายเรื่อย ๆ ว่า ทำไมต้องโกหก มีประโยชน์กับตัวเองกับผู้อื่นมากน้อยเพียงใด

 

ไว้วางใจ ไม่จับผิด หรือหวาดระแวงลูกมากจนเกินไป รวมทั้งการลงโทษที่รุนแรง

          อย่าให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกควบคุม จนต้องหาข้อแก้ตัว ปิดบังความจริง หรือสร้างเรื่องใหม่มาเพื่อหนีความผิด อย่าซักฟอกลูก เค้นหาคำตอบมากเกินในสิ่งที่พวกเขาเลือกทำลงไป  การพูดคุยยังเป็นข้ออธิบายให้ชัดเจน ว่าหากเขายังทำนิสัยเหล่านี้ มันจะส่งผลเสียให้กับพวกเขาในอนาคตอย่างไร และเมื่อใดที่เด็กทำผิด ต้องเตือนตัวเองว่าไม่ใช้อารมณ์ ตอบโต้ด้วยความรุนแรง และไม่ตอกย้ำ ซ้ำทวนความผิดของเด็กบ่อย ๆ จนพวกเขาต้องปกปิดไม่บอก หรือสร้างเรื่องไม่จริงมาโกหกเพื่อปกป้องตัวเอง

 

พยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิตเวชหรือไม่

           หากลูกของคุณมีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา  การเจริญเติบโตช้า หรือแม้แต่สุดท้ายโกหกบ่อยมาก ๆ  จนเหมือนจะกลายเป็นนิสัย  จนเกินความสามารถของพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครูที่จะสอน แนะนำ หรือควบคุม อย่าชะล่าใจ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย รักษาให้ถูกต้องอย่างเหมาะสม

 

ใช้ “ความจริง” เป็นบรรทัดฐานแบ่งแยก  ความจริงเป็นเรื่องง่ายกว่าการโกหก

          สอนให้พวกเขาเข้าใจว่า “ความจริง” มีความสำคัญ มีประโยชน์กับเขาอย่างไร ชีวิตที่อยู่กับความจริงนั้นง่ายดายเพียงใด  ฝังชิพให้เด็กเข้าใจทั้งหมดให้ชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้ว่า ทั้งหมดมีเจตนาเป็นความจริงแค่ไหน  หยอกล้อเล่น ๆ เพื่อความสนุกในขอบเขต  หรือความจำเป็นบางเรื่องที่ต้องปกปิด เพื่อพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ซึ่งต้องไม่ทำร้ายใคร  หรือแม้แต่การโกหกสีขาวหรือสีเทา เพื่อรักษาน้ำใจผู้อื่นก็ตาม

          การเติบโตไปสู่สังคมภายนอก ความจริงเป็นวัคซีนภูมิคุ้มกัน เป็นกุญแจนำทางชีวิตในอนาคต สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง คนที่ยึดมั่นในสัจจะความจริงแล้ว ไม่ว่าการทำงานหรือการใช้ชีวิต ย่อมเป็นพื้นฐานของการเป็นคนดีมีแต่ความเจริญ และจะไม่เสียเวลาอันมีค่าของชีวิต ไม่ต้องคอยคิดวางแผนปกปิดเรื่องราว หรือปั้นแต่งเรื่องใหม่ขึ้นมานั่นเอง  แต่อย่างไรก็ตามคุณต้องอธิบาย ยกตัวอย่างให้พวกเขาเห็นด้วยว่า ในบางกรณีความจริงอาจทำร้ายใครได้อย่างไร แล้วใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสม

 

          และแน่นอน “ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น” อย่างที่นักสืบตัวจิ๋วโคนันว่าไว้

 

อังสนา  ทรัพย์สิน
 

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.ukhttps://www.amarinbabyandkids.com, https://th.theasianparent.com, https://new.camri.go.th, https://pantip.com/forum/family

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow