Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

‘รักเธอเท่าทะเลเลย’ เหตุผลที่ว่าทำไม 'รักเท่าทะเล' มันถึงไม่ได้โรแมนติกนัก

Posted By Plook Magazine | 04 มิ.ย. 64
4,605 Views

  Favorite

ทะเลชอบถูกเอาไปพูดในเชิงโรแมนติกบ่อย ๆ นอกจากนี้ยังได้เป็นสักขีพยานให้คู่รักหลายคู่ที่มักจะไปคุกเข่าขอแต่งงานกัน แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมทะเลถึงได้รับบทโรแมนติกขนาดนั้น ? เพราะน้ำทะเลสีสวยสบายตาหรือเปล่า หรือเพราะว่าความไกลสุดลูกหูลูกตาบวกกับความลึกที่ไม่อาจหยั่งถึงของมัน นั่นเลยอาจจะแปลได้ว่า รักครั้งนี้ก็เหมือนน้ำทะเลคือให้ไปเท่าไหร่ก็ไม่เคยหมด     

 

มั่นใจว่าใคร ๆ ก็ชอบทะเล ชอบในที่นี้อาจมีความหมายกว้าง ๆ คือชอบทะเลเพราะชอบไปนั่งเฉย ๆ ริมทะเล หรือชอบทะเลเพราะมีอาหารทะเลสด ๆ ให้กิน แต่ไม่ว่าความหมายของคำว่า ‘ชอบทะเล’ ของแต่ละคนจะเป็นยังไง เมื่อเราถอดความพิเศษแฟนตาซีที่เราจินตนาการเกี่ยวกับทะเลออกไป ทะเลก็ยังคงเป็นทะเล เป็น ‘บ้าน’ หลังใหญ่ของสัตว์นับแสนล้านชนิด เป็นแหล่ง ‘อาหาร’ ให้สัตว์นับแสนล้านชนิด (รวมทั้งเราด้วย) และเมื่อทะเลเชื่อมต่อกันเป็นมหาสมุทรมันก็ช่วยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกให้สมดุลด้วยการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้โลกร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไป ซึ่งฟังดูแล้วความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับทะเลมันก็น่ารักทีเดียว

 

 
แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เรา’ กับ ‘ทะเล’ มันน่ารักหรือเปล่า ? เราอาจจะตอบกันไม่ถูก ก็น่าจะดีมั้งเพราะไม่เห็นพะยูนมาตั้งแฮชแท็กแหกเราในทวิตเตอร์เลย แต่ทะเลที่เราเห็นสวย ๆ แบบนี้ 10 ปีที่ผ่านมามันกลับเปลี่ยนเเปลงไปมากโดยฝีมือของมนุษย์ เช่น น้ำทะเลกำลังอุ่นขึ้นจากภาวะโลกร้อน จนทำให้ปลาบางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์เพราะวางไข่ได้น้อยลง ขยะในทะเลที่มนุษย์ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทำให้สัตว์กินมันเข้าไปแล้วก็ขึ้นมาเกยตื้นตาย รวมถึงยังถูกคุกคาม พรากลูก พรากแม่ พรากครอบครัวจากการทำประมงผิดกฎหมายทำให้ความหลากหลายในทะเลค่อย ๆ ลดน้อยลง

 

คำพูดที่ว่า ‘รักเท่าทะเล’ อาจจะฟังแล้วโรแมนติกต่อไปได้อีกไม่นาน เพราะทะเลที่เราเห็นว่าสวยและโรแมนติกซะเหลือเกิน ที่จริงแล้วมันกำลังแย่และน่าเศร้าด้วยฝีมือของพวกเราเองนี่แหละ 

 

น้ำทะเลกำลังอุ่นขึ้น

น้ำทะเลอุ่นขึ้นนิดหน่อยเราที่ไปว่ายเล่นแค่ปีละครั้งอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในนั้นเพราะมันคือบ้านคงจะรอดอยู่ได้อีกไม่นาน เพราะมันขึ้นฝั่งหรือนั่งเครื่องบินหนีร้อนไปพักผ่อนที่อื่นแล้วค่อยกลับมาตอนที่น้ำทะเลอุณหภูมิปกติเหมือนที่เราทำช่วงวันหยุดยาวไม่ได้ สำหรับสัตว์น้ำแล้ว อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจหมายถึงความเป็นความตายเพราะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

 


อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ปลาต้องใช้พลังงานกับระบบเผาผลาญอาหารของร่างกาย และปริมาณการใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น จนส่งผลให้ความสามารถในการว่ายน้ำระยะไกลลดลง หรือไม่สามารถอพยพไปหาพื้นที่ที่น้ำทะเลเย็นกว่าได้ นอกจากนั้น อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นและมีความเป็นกรดมากขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและตัวอ่อนของปลาที่ไม่สามารถเอาชีวิตรอดในน้ำที่อุ่นเกินไปได้ หากภาวะโลกร้อนยังคงไม่ลดลง ทะเลก็คงเป็นสุสานของปลาหลายสายพันธุ์ที่กำลังจะตายเพราะน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น 

 

วารสารวิชาการของสมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไซเอินซ์ได้ทำการวิจัยเรื่อง ‘ภาวะความร้อนที่บีบคั้นในวัฏจักรชีวิตทำให้ปลาต้องอยู่ในอิทธิพลความเปราะบางของสภาพภูมิอากาศ’ (Thermal bottlenecks in the life cycle define climate vulnerability of fish) โดยได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2643 หากโลกร้อนขึ้นอีก 5 องศาฯ ชนิดพันธุ์ปลาทั่วโลกถึง 60% ก็ไม่อาจเอาตัวรอดได้    

 

 

การทำประมงเชิงพาณิชย์ผิดกฎหมาย

ตรงทะเลน้ำตื้นมักจะมีโลมาอาศัยอยู่จำนวนหนึ่งเนื่องจากโลมากินปลาเป็นอาหาร มันจึงต้องอาศัยกันอยู่ตรงนั้นเพื่อที่จะได้อยู่ใกล้อาหาร แต่เนื่องจากโลมาทั้งฝูงกินปลาที่เป็นอาหารของมนุษย์เหมือนกันมากเกินไป ทำให้มนุษย์ไม่อยากเเบ่งปลากับโลมา มนุษย์จึงจับมันพร้อมกับปลาด้วยอวนขนาดใหญ่เท่าห้างสยามพารากอนเพื่อที่จะไม่ให้มันได้แย่งปลาไปกิน บางครั้งก็ใช้เหล็กแหลม ๆ แทง ทรมานมันก่อนที่จะปล่อยมันลงทะเลให้ตายเอง… ปัญหาการจับสัตว์น้ำพลอยได้ที่เน้นกวาดทุกสปีชีส์ในทะเลอย่างไม่แคร์นี้เป็นแค่ 1 ในล้านตัวอย่างของการทำประมงผิดกฎหมายที่ทำให้ความหลากหลายในทะเลลดน้อยลง ยังไม่นับเต่าทะเล วาฬ ฉลามที่ถูกอวนลากติดไปด้วยแม้มันจะยังเล็กเป็นแสน ๆ ตัวต่อปี

 

Cr. IMDb


แต่ข่าวดีก็คือ การลักลอบทำประมงผิดกฎหมายในประเทศไทยปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก หลังจากที่สหภาพยุโรปได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทยเพื่อเป็นการเตือนอย่างเป็นทางการให้ประเทศไทยแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดเมื่อปี 2558 และเน้นทำประมงพื้นบ้านคือ อวน 1 ชนิด จับปลา 1 ชนิด จะไปจับอย่างอื่นไม่ได้เพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำ หน้าดิน ปลา หมึก กุ้งตัวเล็ก ๆ ให้มันได้โต

 

 

ขยะในทะเล    

ขยะเป็นภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยเฉพาะพลาสติก หลายครั้งที่เราจะเห็นว่ามีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่กินพลาสติกเข้าไปแล้วทำให้ลำไส้มันอักเสบขึ้นมาเกยตื้นตายให้เราได้เห็นในสื่อโซเชียล แต่ที่เราไม่ค่อยจะได้เห็นกันบ่อย ๆ ก็คือ มนุษย์เราก็ได้รับผลกระทบจากขยะในทะเลไม่ต่างจากสัตว์ทะเลเลย เพราะเมื่อพลาสติกชิ้นใหญ่ที่เราทิ้งลงในทะเลอย่างไร้ความรับผิดชอบ (บวกกันการจัดการขยะที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ) ย่อยสลายกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรหรือที่เราเรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’ ปนเปื้อนอยู่ในทะเล เราที่กินอาหารทะเลเข้าไปก็จะได้รับไมโครพลาสติกเหล่านั้นเข้าไปสะสมในร่างกายด้วย 

 


โดยไมโครพลาสติกจะสะสมในสัตว์หลายชนิดทั้งปลา กุ้ง และหอย คิดเป็น 90% โดยแบ่งเป็นโพลีเอทิลีน (ส่วนประกอบของถุงพลาสติก) โพลีพรอพีลีน (ฝาขวดน้ำ) ไปจนถึงโพลีไวนิลคลอไรด์ (ที่พบได้จากท่อพีวีซี) ขยะทางทะเลที่เราทิ้งกันเกลื่อนกลาด วันหนึ่งจะต้องย้อนกลับมาอยู่ในท้อง สะสมกองกันอยู่ในร่างกายของเราในรูปแบบของแกงไตปลาแสนอร่อย หรือไม่ก็น้ำพริกปลาทูที่เราชอบกิน  

 

ทะเลจะยังโรแมนติกอยู่หรือไม่ อยู่ที่ว่าเราจะมองทะเลต่อไปยังไง จะมองมันเป็นแค่ฉากหลังให้เราได้โพสต์รูปสวย ๆ หรือมองว่ามันเป็นบ้านของสัวต์น้ำอีกหลายชีวิตที่ก็สำคัญไม่แพ้กันกับชีวิตของเรา สถานที่ที่เราจะไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด อนุรักษ์และเคารพเมื่อไปเยือน ครั้งหน้าที่เราไปทะเลหรือจะบอกรักใครเท่าทะเล ก็อย่าลืมรักทะเลที่เป็นทะเลด้วย ‘ทะเล’ แบบนั้นคงจะโรแมนติกขึ้นอีกเป็นกอง แฮปปี้วันทะเลโลก ! 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

วิชา 'ความหลากหลายทางชีวภาพ' ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

เมื่อโลกมันร้อนขึ้นทุกวัน เราจะช่วยลดโลกร้อนได้ยังไงบ้าง ?

HOW TO STOP FAST FASHION: ช้อปปิ้งยังไงโดยที่ไม่สนับสนุนฟาสต์แฟชั่น

วัยรุ่นสไตล์อีโค


 

แหล่งข้อมูล
สารคดี Seaspiracy จาก Netflix
สารคดี David Attenborough: A Life on Our Planet จาก Netflix  
#พลาสติก(Draft) 
ผลกระทบของขยะในทะเล  
อุณหภูมิมหาสมุทรเปลี่ยน กระทบอนาคตสัตว์ทะเล 
Thermal bottlenecks in the life cycle define climate vulnerability of fish 

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow