Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไม่ Productive สักวันก็ไม่เป็นไร ใช้ชีวิตยากไปเดี๋ยวเครียด !

Posted By Plook Magazine | 23 เม.ย. 64
24,806 Views

  Favorite

Productive คืออะไร ? ทำไมผู้ใหญ่ไฟแรงชอบพูดกันจัง น้อง ๆ หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Productive กันมาบ้างจากไลฟ์โค้ชหรือเคล็ดลับฮาวทูต่าง ๆ แล้วก็นึกสนใจอยากที่จะเป็นคน Productive ขึ้นมาบ้าง ซึ่งมันก็ไม่ผิดเลย โอเคนัมเบอร์วันด้วยซ้ำ ! แต่ด้านมืดของความ Productive มันก็มีอยู่นะ แล้วเรารู้กันหรือยัง ?  

 

 

Productive คืออะไร

‘Productive’ เป็นคำคุณศัพท์ อ่านว่า ‘โปรดักทีฟ’ แปลให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ได้การได้งาน เมื่อนำมาใช้ในการเรียน บางคนก็แปลว่า เป็นการที่เราทำอะไรก็ตามให้ได้ประสิทธิภาพ ไม่ติดขัด ได้ผลดี หรือบางคนก็บอกว่ามันเป็นการทำอะไรก็ตามที่มี Impact สูง ๆ หรือทำสิ่งสำคัญให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด แถมยังทำออกมาได้ดีด้วย

 

ตัวอย่างเช่น

เราอ่านหนังสือได้มากขึ้นจากเวลาเท่าเดิม 1 ชั่วโมง นั่นแปลว่าวันนี้เราช่าง Productive เพราะเราทำได้มากขึ้นกว่าปกติในเวลาเท่าเดิม 

หรือวันนี้เราตื่นเช้ามาออกกำลังกายก่อนไปโรงเรียนได้ ทำให้ไม่ง่วงตอนคาบบ่าย ก็เรียกว่า Productive เพราะได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและเรียนอย่างมีคุณภาพ ไม่ง่วงเหมือนปกติทุกวัน

 


การมีความ Productive ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่กระแสความเป็นคน Productive ก็อาจทำให้หลาย ๆ คนที่ไม่ Productive รู้สึกผิดได้ ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นเพื่อนลงไอจีสตอรี่ว่าอ่านหนังสือจบไปหนึ่งเล่ม ในขณะที่เราเพิ่งตื่น… จากที่ไม่ได้รู้สึกอะไรเลยก็กลายเป็นว่าลึก ๆ แล้ว เรากลับรู้สึกผิดที่ทำน้อยกว่าเพื่อน ทั้งที่เมื่อคืนเราก็เพิ่งอ่านหนังสือจบไปเหมือนกัน ดังนั้นความ Productive จึงเป็นรูปแบบทางสังคมที่กำลังบีบบังคับเราโดยไม่รู้ตัวหากเราไม่รู้จักมันให้ดีเสียก่อน พอนาน ๆ เข้ามันจะทำให้เราไม่มีความสุข และทำให้ความรู้สึกนับถือตัวเองลดลงอย่างที่ไม่ควรจะเป็น   

 

 

ไม่เป็นไรนะ ถ้าวันนี้จะไม่ Productive 
 


วิถี Productive นี้เกิดมาพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ต้องการให้คนจงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุดในเวลา 24 ชั่วโมง บอกให้เราตื่นเช้า ออกกำลังกาย ต้องฟัง podcast ระหว่างรอโน้นรอนี่ นั่งสมาธิ และมีสกิลการบริหารเวลาที่เป็นเลิศ ฯลฯ เป็นวิถีชีวิตแบบที่มีประสิทธิภาพ น่าทึ่ง และก็เป็นไปได้ยากสำหรับบางคน ดังนั้นไม่ต้องรู้สึกผิดหรือล้มเหลว หากเราจะทำไม่ได้ทั้งหมดและอยากจะตื่นสาย นอนกลางวัน และถ้าเห็นว่าวันนี้เพื่อนของเราโพสต์ว่า วันนี้โคตร Productive เลยว่ะ ! เราก็แค่ยินดีกับเขาก็พอแล้ว     

 

 

Busy ไม่ใช่ Productive 
 


มีเส้นกั้นบาง ๆ ระหว่างคนที่ ‘ยุ่ง’ กับคนที่ ‘มีประสิทธิภาพ’ ซึ่งคนที่มีประสิทธิภาพจะเป็นคนที่รู้ขีดจำกัด รู้ลิมิตของตัวเอง ว่าตัวเองทำอะไรได้แค่ไหนเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ แต่คนที่ยุ่งมักจะทำงานอยู่ตลอดเวลา งานเยอะ ล้นมือ เรียกได้ว่าเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เช่น A รู้ว่าตัวเองอ่านหนังสือเข้าหัวที่สุดคือช่วง 4 ทุ่ม เขาจึงเล่นทั้งวันแล้วอ่านหนังสือตอน 4 ทุ่ม ส่วน B ตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือทั้งวัน หวังว่าสิ่งที่อ่านไปจะเข้าหัว ในกรณีนี้ A ย่อม Productive กว่า B (เพราะการโฟกัสกับงานไม่กี่นาทีจะมีประสิทธิภาพมากกว่าทำไปเรื่อย ๆ หลายชั่วโมง)

 

 

คนที่ Productive คือคนที่รู้จักพักผ่อน 
 


ได้โปรดอย่ารู้สึกผิดหากคิดจะพักผ่อน เพราะคนที่ Productive จริง ๆ พวกเขาให้ความสำคัญกับการพักผ่อนกันทั้งนั้น ไม่ต้องเครียดที่จะนอนหรือทำอะไรที่เรารู้สึกว่ามันคือการพักผ่อนสมอง เพราะงานที่ออกมาดีย่อมมาจากการได้พักผ่อนที่ดีด้วย หากใครที่กำลังรู้สึกผิดในการทำสิ่งที่รู้สึกมีความสุขอยู่ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก อาจแปลได้ว่าเรากำลังเร่งสปีดตัวเองมากจนเกินไป หรือพยายามจะยัดเยียดให้ตัวเองต้อง Productive เกินไป อย่าลืมนะว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ และไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นยอดมนุษย์

 

ส่วนตัวคิดว่าถ้าวันไหน Productive ได้ก็ดี แต่ถ้าวันไหนพยายามทำตาม To do list ที่ตั้งไว้ได้ในแต่ละวันก็ดีเเล้วเหมือนกัน ตราบใดที่เราไม่ได้ทำให้ตัวเองเดือดร้อนหรือดินพอกหางหมู บางที Productive ของวันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นงานเป็นการเสมอไป แต่เป็นสุขภาพที่ดี การได้มีความสุข ได้เล่นสนุก และมีช่วงเวลาที่ดีกับครอบครัว  

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ฮีลตัวเองยังไงดีในวันที่เหนื่อยและท้อจนหมดพลัง

คนขี้เกียจไม่ดีจริงหรือ ? ชวนดูอีกด้านของความขี้เกียจที่มีแต่ข้อดี

3 วิธี ‘ฝึกสมาธิ’ เรียกคืนสติในทุกสถานการณ์

รู้จัก 'Impostor Syndrome' โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง พร้อมเคล็ดลับเอาชนะมัน !

6 วิธีปลุกไฟให้ลุกโชน

เคล็ดลับการตัดสินใจให้ไม่พลาดโอกาสที่ดีที่สุด ไร้อาการ 'FOBO'

เบื่อจัง ชีวิตจะเป็นอะไรได้อีก ถ้าหากไม่ได้เป็น ‘คนเรียนเก่ง’

 

 

แหล่งข้อมูล
อิเกโมโตะ คัตสึยุกิ. (2562). 34 วิธีพักผ่อนของคน productive. แปลจาก 年収の伸びしろは、休日の過ごし方で決まる ズバ抜けて稼ぐ力をつける戦略的オフタイムのコツ34. แปลโดย ทินภาส พาหะนิชย์. กรุงเทพฯ: วีเลิร์น   

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow