Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคล็ดลับที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนชอบลงมือทำจาก Stanford

Posted By Plook Magazine | 12 เม.ย. 64
13,642 Views

  Favorite

ปัญหาของคนเราทุกวันนี้คือ ‘คิดเยอะ’ จนไม่ได้ลงมือทำสักที เช่น เก่งทฤษฎี แต่ไม่ให้โอกาสตัวเองได้ลงมือปฏิบัติ ติดหล่มความคิดและไอเดีย ท้ายที่สุดก็ไม่ได้พัฒนาตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ ซึ่งมันไม่ใช่ว่าเราไม่เอาไหนหรือขี้เกียจเสมอไป แต่เป็นทัศนคติที่เรามีต่อตัวเองและการทำงานของสมองด้วย

 

 

“Doing is everything”
การลงมือทำคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

เราทุกคนมีเรื่องที่อยากทำ แต่ไม่ได้ลงมือทำกันทั้งนั้น เช่น อยากลดน้ำหนัก อยากไปดำน้ำดูปะการัง เรียนภาษาที่สาม มีความสัมพันธ์ที่เฮลตี้กับคนในครอบครัว ฯลฯ แต่ไม่เคยลงมือทำตามที่คิดเลยสักอย่าง เรียกว่าเป็นคนประเภทที่ไม่ได้ขาดแพชชั่น ไม่ได้ขาดไอเดียเจ๋ง ๆ แต่ไปไม่ถึงขั้น ‘ลงมือทำ’ ซึ่งน่าเสียดายมาก ๆ และเชื่อว่าเราทุกคนน่าจะเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว   

 


Bernard Roth หรือศาสตราจารย์ Roth ผู้ก่อตั้ง Stanford d. school เจ้าของแนวคิด Design Thinking อันโด่งดังมีคำตอบให้ว่า เราจะเปลี่ยนสิ่งที่ตั้งใจจะทำให้เป็นสิ่งที่ทำสำเร็จได้ยังไง จากประสบการณ์การทำงานด้านการดีไซน์ความคิดจนทำให้คนเราสามารถประสบผลสำเร็จตามที่หวังไว้ได้ และบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Google, Apple, Phillips หรือ P&G ก็ได้นำเอาแนวคิดของเขาไปเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร   

 

 

วิธีที่จะเปลี่ยน ‘ความคิด’ ให้เป็น ‘การกระทำ’

 

ไม่ต้องรอให้วางแผนเสร็จก่อนแล้วค่อยทำ

คนเรามักคิดว่า เราต้องคิดวางแผนทุกอย่างให้เนี๊ยบเสียก่อนแล้วค่อยลงมือทำ แต่ในความเป็นจริงแล้วศาสตราจารย์ Roth บอกว่า การลงมือทำส่วนใหญ่เป็นผลของพฤติกรรมตามนิสัย ความเคยชินของเรามากกว่าการลงมือทำตามแผนการที่คิดไว้ เขาเชื่อว่าคนเราจะลงมือทำเพราะมีนิสัยที่ชอบทำ ไม่ใช่เพราะมีแผนที่สมบูรณ์แบบ (อารมณ์ประมาณว่าถ้ารอพร้อม 100% ชาตินี้ก็ไม่ต้องทำอะไร) ดังนั้นสิ่งที่จะผลักดันให้คนเราลงมือทำอยู่ที่นิสัยและแรงจูงใจที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเป็นหลัก

 


ไม่หาเหตุผลหรือข้ออ้างมาเข้าข้างตัวเอง

ในหนังเรื่อง Star Wars มีประโยคสุดคลาสสิกที่ท่านอาจารย์โยดาได้พูดกับลุค สกายวอล์คเกอร์ไว้ว่า “Do or do not, There is no try” แปลว่าอยากทำอะไรให้ลงมือทำนะ อย่าอ้างโน้นอ้างนี่ เพราะสมองของคนเรามักจะทำงานเพื่อปกป้องอีโก้ของตัวเองด้วยการคิดหาข้อแก้ตัวเพื่อที่จะไม่ทำเสมอ หากเรายอมมันทุกครั้ง หาข้ออ้างทุกที การอ้างไปเรื่อยนี่แหละที่จะทำให้ความฝันของเราแห้งเหี่ยวและค่อย ๆ หมดอายุ เมื่อเราหยุดหาข้ออ้างมาอธิบายการกระทำต่าง ๆ ได้ ท้ายที่สุดเราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีข้ออ้างที่จะทำอะไรอีกต่อไป   

 

ทำให้ความสำเร็จเป็นนิสัย 

เคล็ดลับที่ดีอีกอย่างหนึ่งของศาสตราจารย์ Roth ก็คือ การออกแบบภาพลักษณ์ที่เรามีต่อตัวเอง เพราะบางครั้งที่เราเป็นคนชอบพูดชอบคิดแต่ไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย มันก็เป็นเพราะว่าเรามองตัวเองว่าเป็นคนแบบนั้นเสียเอง เช่น หากเรามองว่าตัวเราเป็นคนชอบลงมือทำ เราก็มีแนวโน้มที่จะลงมือทำ เราจะไม่คิดเยอะ ลองมองตัวเองว่าเราจะทำอะไร ก็ทำให้มันสุดทางเหมือนที่คุณรวิศ หาญอุตสาหะเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางศรีจันทร์บอกไว้ว่า ถ้าคิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย ! 

 


เมื่อจะทำแล้วอย่าแค่ลอง แต่ให้ทำจริงจัง

บางคนอาจจะงงว่า ลองกับลงมือทำมันก็คือลงมือทำไม่ใช่หรือไง ? จริงอยู่ที่ทั้งคู่ก็แปลว่าได้ลงมือทำ แต่ถ้าเราเอาแว่นขยายไปส่องมายเซ็ต (Mindset) ของคนที่ ‘อยากลอง’ กับ ‘อยากทำ’ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าสมองของคนที่เริ่มต้นอะไรเพราะ ‘ความอยากทำ’ มักจะไปได้สวยมากกว่าคนที่อยากลอง ในขณะที่การลองทำ (Trying) เราจะลองผิดลองถูก พอล้มเหลวก็เลิกไป แต่ถ้าเราลองทำจริงจัง (Doing) ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร เราก็จะไม่ยอมล้มเลิกง่าย ๆ นั่นเอง   

 

เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองและของผู้อื่น

วิ่งเข้าหาคนที่เคยพลาดหรือมีข้อบกพร่อง เพราะคนที่เห็นได้ชัดว่าไม่สมบูรณ์แบบก็มีอะไรให้เราเรียนรู้ไม่แพ้คนที่สมบูรณ์แบบ คนที่เคยล้มเหลวและคนที่เคยประสบความสำเร็จจะได้ประสบการณ์กันคนละชุด อย่าหมกมุ่นที่จะทำให้สำเร็จมากจนเกินไป ทุกคนพลาดได้ หากเราทำอะไรสักอย่างแล้วมันเเป้ก ให้มองว่ายิ่งดีเลยเพราะมันหมายความว่าคุณได้ลงมือทำ ล้มเหลว เรียนรู้ แล้วลงมือทำอีกครั้ง

 


มีสมาธิเรียนรู้ที่จะเพิกเฉยต่อสิ่งรบกวน

เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเราทำอะไรสักอย่างแล้วเราจะติดแหง็ก เริ่มจะไม่แน่ใจว่าจะทำต่อดีไหม ทำไมเพื่อนคนนั้นทำได้ดีกว่า ให้เราผ่อนคลายความเครียด ระดมสมอง จดบันทึก และมีอารมณ์ขันไปกับมัน ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้ได้เยอะ ๆ เมื่อเรามีข้อมูลมากพอ เราก็จะมองเห็นวิธีการแก้ปัญหาที่มากขึ้น แค่นี้เราก็จะไม่ติดแหง็กและพัฒนาอย่างแท้จริงจากการตัดสินใจลงมือทำ       

 

 

แหล่งข้อมูล 

- Bernard Roth. (2015). The Achievement Habit : Stop wishing, start doing, and take command of your life. New York City:HarperCollins Publishers 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow