Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

“วันทอง” หญิงปากร้ายยืนหนึ่งแห่งเมืองสุพรรณ

Posted By Plook Magazine | 09 มี.ค. 64
46,455 Views

  Favorite

ช่วงนี้สื่อต่าง ๆ กำลังให้ความสนใจละครเรื่องใหม่อย่าง “วันทอง” ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงสองใจ แต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึงอีกมุมของนางวันทอง ที่ใครเคยอ่านขุนช้างขุนแผนก็คงจะพอรู้ว่านางเป็นคนที่ปากร้าย แต่นางจะปากร้ายขนาดไหนมาอ่านกันเลย

*บทความนี้เป็นบทความบอกเล่าเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยตีความและนำเสนอตามเรื่องเล่าจากวรรณคดี 

 

 

Cr: silpa-mag.com

 

“นางพิมพิลาไลย” หรือ “นางวันทอง” จากเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เป็นหญิงงามแห่งเมืองสุพรรณ นางเป็นลูกสาวของพันศรโยธา และนางศรีประจัน พ่อค้าและแม่ค้าแห่งเมืองสุพรรณที่มีฐานะดี นางได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ทำให้เป็นคนที่มีความละเอียดอ่อน เป็นแม่ศรีเรือน มีน้ำใจ แต่ก็มีนิสัยใจคอที่เหมือนแม่ด้วย คือค่อนข้างปากร้าย ชอบประชดประชัน ยิ่งเวลาโกรธใครนางก็จะด่าแบบไม่ไว้หน้า สรรหาคำด่าเจ็บ ๆ แสบ ๆ มาได้ตลอด ทั้งด่าต่อหน้าและอ้อม ๆ ชนิดที่คนถูกด่าฟังแล้วอยากจะขอไปเกิดใหม่เลยทีเดียว เรามาดูกันดีกว่าว่านางด่าเจ็บขนาดไหน

 

วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ในบทหนึ่งกล่าวถึงนางพิม (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นวันทอง) พลายแก้ว (ขุนแผน) และขุนช้างในตอนที่อายุยังไม่กี่ขวบ แทนที่จะเล่นเหมือนที่เด็กคนอื่น ๆ เขาเล่นกัน แต่กลับเล่นผัวเมียกัน
 

“ฝ่ายข้างพลายแก้วอุตริว่า

เราเล่นเป็นผัวเมียกันเถิดรา ขุนช้างร้องว่าข้าชอบใจ

นางพิมว่าไปอ้ายนอกคอก รูปชั่วหัวถลอกกูหาเล่นไม่

พลายแก้วว่าเล่นเถิดเป็นไร ให้ขุนช้างนั้นไซร้เป็นผัวพลาง

ตัวข้าจะย่องเข้าไปหา จะไปลักเจ้ามาเสียจากข้าง

ทั้งสองคนรบเร้าเฝ้าชวนนาง จึงหักใบไม้วางต่างเตียงนอน”

 

พลายแก้วเป็นคนต้นคิดแท้ ๆ แต่ขุนช้างกลับโดนนางพิมขุดปมด้อยด่าไปเต็ม ๆ ทั้ง “อ้ายนอกคอก” แถมยังต่อด้วย “รูปชั่วหัวถลอก” และเมื่อพรายแก้วกับขุนช้างพยายามรบเร้าจนสุดท้ายนางพิมก็ตามใจยอมเล่นผัวเมีย แต่ความสวยก็เป็นเหตุเสมอ ทำให้ขุนช้างและพรายแก้วต่างยกพวกตีกัน นางพิมเมื่อเห็นจึงด่ากลับ

 

“นางพิมด่าให้อ้ายตายโหง พวกอ้ายโล้งโต้งกูไม่เล่นได้”

หลังจากด่ากราดทุกคนไปก็มีการด่าขุนช้างแถมกลับไปว่า

“อ้ายหัวล้านขี้ถังมันจังไร แล้วพาฝูงข้าไทไปเรือนพลัน”

 

“ขี้ถัง” และ “จังไร” ในที่นี้หมายถึง ชั่วช้า เลวทราม เมื่อรวมกับคำว่า “อ้ายหัวล้าน” จึงมีความหมายว่า อ้ายชาติชั่วหัวล้าน

พูดได้เลยว่านางพิมในวัยเด็กยังปากร้ายด่าได้เจ็บขนาดนี้ โตเป็นสาวไปจะด่าเจ็บขนาดไหน คนที่รู้ดีที่สุดในเรื่องนี้ก็แน่นอนว่าไม่พ้นขุนช้างอีก ครั้งหนึ่งขุนช้างแอบดูนางพิมอาบน้ำที่ท่าน้ำ เสภาในตอนนี้มีอยู่ว่า

 

“ขุนช้างทะยานงุ่นง่านใจ ผ้านางพิมไพล่จากรักแร้

ขุนช้างเห็นนมกลมตละปั้น มือคั้นหน้าแข้งยืนแยงแย่

โคลงตัวคลุกคลุกเหมือนตุ๊กแก อีแม่เอ๋ยวันนี้นี่กูตาย”

 

Cr: silpa-mag.com
 

เมื่อนางพิม พี่เลี้ยงและบ่าวพากันขึ้นมาผลัดผ้า ขุนช้างจึงถือโอกาสเดินแซงนางพิมแล้วเกี้ยวเอาดื้อ ๆ โดยมีบ่าวไพร่ของตนผสมโรงร่วมด้วย

 

“แกล้งอ่านเพลงยาวกล่าวกระทบมา โอ้ว่าดวงดอกฟ้ามณฑาธาร

อ้ายโห้งโก่งคอต่อกลอนนาย พี่เห็นเจ้าเข้าหมายว่าของหวาน

ดูกระเพื่อมตละเชื่อมซึ่งเต้าตาล”

 

แค่รูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ของขุนช้าง นางพิมก็สุดจะทนแล้ว ยังมาเจอท่าทีลวนลามล่วงเกินนางอย่างจงใจ เรียกว่าหน้าตาไม่ดี วิธีก็ยังไม่ผ่านอีก สมควรโดนด่าที่สุด นางจึงโกรธจัดจนถึงขั้นด่าไปถึงบุพการีของขุนช้าง
 

“นางพิมโกรธาด่างุ่นง่าน แม่มึงอ้ายหัวล้านกบาลใส”

 

ทุกครั้งที่นางพิมจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกับขุนช้าง ก็จะมีคำเด็ด ๆ มาด่าศีรษะที่ล้านของขุนช้างได้ตลอด บางครั้งนางก็เรียกบ่าวไพร่แถวนั้นมาด่าอ้อม ๆ เช่น “อ้ายขุนหัวครึ่ง” ที่แปลว่า อ้ายขุนหัวล้าน นั่นแหละ

 

ขุนช้างโดนด่าขนาดนี้ก็ไม่เข็ด ยังพยายามขอร้องให้แม่เทพทอง (แม่ของขุนช้าง) ไปสู่ขอนางพิม แต่แม่ก็ปฏิเสธไม่ยอมไปขอให้ ขุนช้างจึงไปขอพบนางศรีประจันด้วยตัวเอง เพื่อปรึกษาเรื่องสู่ขอนางพิม นางศรีประจันก็ดันไปเห็นดีเห็นงามด้วย นางพิมที่แอบฟังอยู่เมื่อรู้เรื่องเข้าก็โกรธมากที่แม่จะยกตนให้ขุนช้าง นางจึงแกล้งเรียกบ่าวไพร่ของตัวเองแถวนั้นมาด่ากระทบขุนช้างที่หัวล้านเหมือนกันลั่นบ้าน

 

“เปิดหน้าต่างแล้วร้องไป อ้ายผลไปไหนมึงมานี่

อ้ายหัวล้านอกขนคนอัปรีย์ งานการยังมีไม่นำพา”

 

ฝ่ายขุนช้างเมื่อได้ยินก็รู้สึกอับอายมาก จึงรีบขอตัวกลับบ้าน แต่ขุนช้างมีอาการกระสับกระส่ายมาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดแต่เรื่องจะสู่ขอนางพิมมาเป็นของตนให้ได้ ทำให้วันรุ่งขึ้นขุนช้างถือดีขนเงินขนทองมา และรีบเร่งรัดสู่ขอนางพิมกับนางศรีประจัน เรียกง่าย ๆ ก็คือเอาเงินมาฟาดนั่นแหละ นางศรีประจันเมื่อเห็นเงินเห็นทองจึงเกิดความโลภ ดีใจจนเนื้อเต้น เลยเรียกหานางพิมไปทั่วบ้าน

 

“แม่พิมเอ๋ยแม่พิมไปอยู่ไหน เป็นไรจึงไม่ออกมาไหว้พี่

มารู้จักกันไว้เป็นไรมี มาซีทูนหัวของมารดา”

 

Cr: silpa-mag.com
 

นางพิมตัดรอนตอบแม่กลับไปแบบไม่เกรงใจ “จึงร้องตอบแม่พลันในทันใด ไม่ไปละอย่าเรียกให้ยากเลย” ครั้งนี้นางพิมถึงขนาดปรี๊ดแตกสุดจะทน จึงเรียกบ่าวไพร่คนเดิมมาด่ากระทบขุนช้างแบบชุดใหญ่จัดเต็ม

 

“จองหองเอาเงินมาอวดอึง แม่มึงกูหาปรารถนาไม่

ขี้เกียจการงานนี่สุดใจ น้ำขอดโอ่งไหไม่นำพา

อ้ายเจ้าชู้ลอมปอมกระหม่อมบาง ลอยชายลากหางเที่ยวเกี้ยวหมา

ชิชะแป้งจันทน์น้ำมันทา หย่งหน้าสองแคมเหมือนหางเปีย

หมามันจะเกิดชิงหมาเกิด มึงไปตายเสียเถิดอ้ายห้าเบี้ย

หน้าตาเช่นนี้จะมีเมีย อ้ายมะม่วงหมาเลียไม่เจียมใจ”

 

ในเสภาบทนี้เรียกว่าทุกอย่างที่รวมเป็นขุนช้าง นางพิมขุดขึ้นมาด่ายับ ไม่ว่าจะเป็น “อ้ายเจ้าชู้” “อ้ายหัวล้าน” หรือแม้กระทั่ง “ลอมปอม” ที่แปลว่า ลามปาม บทนี้จึงแปลประมาณว่า “อ้ายคนลามปาม” “ลอยชายลากหางเที่ยวเกี้ยวหมา” ประโยคนี้เป็นการเยาะเย้ยการนุ่งผ้าลอยชายของขุนช้าง คือนุ่งผ้าแบบลำลอง ไม่รวบชายผ้าไปเหน็บไว้หลังบั้นเอว ปล่อยชายยาวลากพื้น นางพิมจึงเปรียบว่าขุนช้างไม่ได้เกี้ยวสาว แต่จะไปเกี้ยวหมา แถมยังด่าว่าขุนช้างว่าชิงหมามาเกิดอีกด้วย

 

“ชิชะแป้งจันทน์น้ำมันทา หย่งหน้าสองแคมเหมือนหางเปีย” ประโยคนี้นางพิมเยาะเย้ยขุนช้างค่อนข้างแรงว่า ต่อให้ทาแป้งผสมเครื่องหอมชั้นดีมีราคา ทาน้ำมันใส่ผมทำผมหย่ง ๆ ยิ่งดูทุเรศตา เพราะการจัดแต่งทรงผมให้สูงขึ้นของขุนช้าง ดูไปก็ใกล้เคียงกับแคมของผู้หญิง (คงไม่ต้องให้ขยายความไปมากกว่านี้นะคะว่าหมายถึงอะไร)

 

ในวรรคหนึ่งจะมีตอนที่นางพิมใช้คำว่า “อ้ายห้าเบี้ย” เบี้ยในที่นี้เป็นอัตราค่าเงินต่ำสุดในสมัยนั้น 100 เบี้ย เท่ากับ 1 อัฐ หรือ 1 สตางค์ครึ่ง ความหมายก็คือถึงแม้ว่าขุนช้างจะรวยมากขนาดไหน แต่ก็ไม่มีค่ากับนางเลยแม้แต่น้อย และถ้าเราลองผวนคำว่า “อ้ายห้าเบี้ย” ก็จะรู้ว่านางพิมยังมีคำด่าที่ซ่อนอยู่ในคำนี้เพิ่มอีกด้วย

 

“หน้าตาเช่นนี้จะมีเมีย อ้ายมะม่วงหมาเลียไม่เจียมใจ” ในวรรคนี้นางพิมด่าขุนช้างว่า หน้าตาอุบาทว์ขนาดนี้ยังจะอยากมีเมีย “อ้ายมะม่วงหมาเลีย” ประโยคนี้นางพิมจะสื่อว่าขุนช้างเป็นคนไร้ค่าเหมือนกับมะม่วงที่ตกอยู่บนพื้นแล้วหมายังมาเลีย ไม่มีใครกินลง และที่นางพิมชอบเปรียบขุนช้างเป็นหมาเพราะว่า คนไทยสมัยก่อนไม่ได้เลี้ยงหมาไว้เป็นเหมือนเพื่อน หรือเหมือนลูกอย่างคนสมัยนี้ แต่เลี้ยงเอาไว้เฝ้าบ้าน และคนสมัยก่อนจะให้หมาอยู่แค่ใต้ถุนบ้านเท่านั้น เพราะฉะนั้นการเปรียบคนกับหมาในสมัยนั้นเท่ากับว่าเป็นการเหยียดหยามกันอย่างมาก

 

แค่นี้ก็ทำให้เราได้รู้แล้วว่า ”นางพิม” หรือ “วันทอง” ของเราจริง ๆ แล้วเป็นคนปากร้ายมากขนาดไหน แต่ถึงแม้ว่านางพิมจะด่าขุนช้างได้เจ็บแสบจนแทบจะแทรกแผ่นดินหนียังไง สุดท้ายอย่างที่เรารู้กันว่านางพิมก็ต้องตกไปเป็นของขุนช้างอยู่ดี คือเรียกได้ว่าเกลียดอย่างไรก็ได้อย่างนั้น

 
 
 
แหล่งข้อมูล
- หนังสือเสภาเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน
- หนังสือวรรณคดีไทยไดเจสต์
- ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
 
 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow