Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สรุปความก้าวหน้าในการจัดหาวัคซีนในปี 2563 ในสหภาพยุโรป

Posted By thaiscience | 04 มี.ค. 64
3,956 Views

  Favorite

ตลอดทั้งปี 2563 สหภาพยุโรปได้ให้งบสนับสนุนการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัย วิธีการรักษา และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกวัคซีนในการจัดทำซื้อขายวัคซีนล่วงหน้าและเดินหน้าเจรจาทำข้อตกลงซื้อขายวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 กับบริษัทต่าง ๆ ที่พัฒนาวัคซีนซึ่งให้ผลการทดสอบทางคลินิกเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ถือเป็นภารกิจภายใต้กรอบกลยุทธ์ EU vaccines strategy โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้แต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ รวมทั้งการบริจาควัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง หรือให้กับประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA)

 

โดยปัจจุบันมีบริษัทเวชภัณฑ์จำนวน 6 บริษัทที่สหภาพยุโรปได้จัดทำข้อตกลงซื้อวัคซีนแล้ว ได้แก่ บริษัท BioNTech-Pfizer บริษัท Moderna  บริษัท AstraZeneca บริษัท Sanofi-GSK บริษัท Janssen Pharmaceutica NV และบริษัท CureVac ซึ่งวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นจากบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ผ่านการทดลองทางคลินิกขั้นที่ 3 แล้วและคาดว่าจะมีการเริ่มฉีดวัคซีนจากบางบริษัท เช่น BioNTech-Pfizer และ Moderna ในสหภาพยุโรปได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 หลังจากได้รับการอนุมัติจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency, EMA)ในเดือนธันวาคม 2563 โดยวัคซีนจากทั้ง 6 บริษัทมีความแตกต่างกันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

 

ความแตกต่างด้านวิทยาการในการพัฒนาวัคซีน

บริษัท Pfizer-BioNTech

บริษัท Pfizer จากสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกับบริษัท BioNTech จากประเทศเยอรมนีได้พัฒนาวัคซีนที่ชื่อว่า BNT162b2 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยี mRNA ในรูปแบบ nucleoside-modified mRNALNP โดยมีการนำ mRNA ของไวรัส SARS-CoV-2 มาดัดแปลงและทำให้บริสุทธิ์ และนำมาห่อหุ้มด้วยอนุภาคนาโนไขมัน (lipid nanoparticle) โดยสรุป วัคซีนชนิดนี้จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ 1) mRNA (messenger RNA) ที่จำเพาะต่อโปรตีนหนามของเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 ซึ่งโปรตีนดังกล่าวนี้มีความสำคัญในการเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ โดยปกติ mRNA มีหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ในการสร้างโปรตีน หรือนำข้อมูลทางพันธุกรรมจาก DNA ไปใช้ในการสร้างโปรตีนที่มีความสำคัญ และ 2) อนุภาคนาโนไขมัน (lipid nanoparticle) ที่ใช้ห่อหุ้ม mRNA ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ mRNA ถูกย่อยสลายจากเอนไซม์ไรโบนิวคลิเอสซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกาย

ภาพ : Shutterstock

 

หลังจากที่ได้ฉีดวัคซีน BNT162b2 เข้าไปในร่างกายแล้ว mRNA ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของพันธุกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนจะถูกถอดรหัสและนำไปสร้างเป็นโปรตีนที่มีลักษณะเหมือนกับโปรตีนบนหนามของไวรัส ซึ่งโปรตีนนี้จะเข้าไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างแอนติบอดี้ที่ใช้ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีชนิดนี้ในการพัฒนาวัคซีน คือ สามารถลดขั้นตอนและระยะเวลาจากเดิมได้มาก เพราะการสร้างวัคซีนแบบเก่าจะต้องเพาะเชื้อไวรัสก่อนแล้วทำให้เชื้อนั้นอ่อนแอ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงที่สูงกว่าและใช้ระยะเวลามากกว่า

 

นอกจากนี้ mRNA จะสร้างแต่โปรตีนของไวรัส ไม่ได้เป็นสารพันธุกรรมทั้งเส้นของไวรัส ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะสร้างอนุภาคไวรัสที่ติดเชื้อต่อไปได้ ความปลอดภัยของวัคซีนจึงเทียบเท่ากับวัคซีนอื่น ๆ ที่ใช้โปรตีนเป็นแอนติเจน แต่ mRNA อาจจะไปกระตุ้นการสร้างสารจำพวกอินเตอร์เฟียรอน ( Interferon) ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่ถูกหลั่งออกมาจากเซลส์ของสัตว์และมนุษย์เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ที่เข้าสู่ร่างกาย โดยสารอินเตอร์เฟียรอนที่เกิดขึ้นในร่างกายดังกล่าวอาจจะมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้บ้าง

 

สำหรับวัคซีน BNT162 b2 จากบริษัท PfizerBioNTech ถือว่ามีจุดเด่น 2 ประการ คือ 1) จากผลการทดลองทางคลินิกพบว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของไวรัสได้ดีถึงร้อยละ 95 และ 2) สามารถผลิตได้ในจำนวนมากในเวลาไม่นาน แต่ยังมีข้อกังวลในประเด็นที่ว่า mRNA เสียสภาพได้ง่าย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการจัดเก็บวัคซีน ณ อุณหภูมิที่ต่ำมาก ๆ โดยต้องจัดเก็บ ณ อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส รวมไปถึงก่อนฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีขั้นตอนการละลายและปรับอุณหภูมิของวัคซีน พร้อมทั้งมีการทำให้เจือจาง นอกจากนี้ ยังพบผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้แต่ถือว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรงซึ่งพบได้ทั่วไปจากการฉีดวัคซีน

ภาพ : Shutterstock

 

บริษัท Moderna

บริษัท Moderna จากสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาวัคซีนที่ชื่อว่า mRNA-1273 โดยใช้นำ mRNA ของไวรัส SARS-CoV-2 มาดัดแปลงและบรรจุในอนุภาคนาโนไขมัน (lipid nanoparticle) เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนเช่นเดียวกับ บริษัท Pfizer-BioNTech แต่มีใช้ mRNA ในปริมาณสูงกว่า และวัคซีนของบริษัท Moderna มีความคงสภาพที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส

 

บริษัท CureVac

บริษัท CureVac เป็นบริษัทสัญชาติเยอรมันตั้งอยู่ ณ เมือง Tübingen ได้พัฒนาวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกับบริษัท Pfizer-BioNTech และบริษัท Moderna นั่นคือการใช้ mRNA ห่อหุ้มด้วยอนุภาคนาโนไขมัน (lipid nanoparticle)

 

บริษัท Sanofi-GSK

บริษัท Sanofi-GSK ซึ่งเป็นการร่วมมือพัฒนาวัคซีนระหว่าง 2 บริษัท คือ บริษัท Sanofi จากฝรั่งเศส และบริษัท GSK จากสหราชอาณาจักร ได้ร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด โดยบริษัท Sanofi ได้ใช้เทคโนโลยีการตัดต่อดีเอ็นเอสายผสม (recombinant DNA) ซึ่งเป็นการนำโมเลกุลดีเอ็นเอจากสิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธุ์แตกต่างกันมาเชื่อมต่อกันเป็นดีเอ็นเอสายเดียวกัน จากนั้นนำมาพัฒนาโปรตีนแอนติเจนที่ชื่อว่า S-protein COVID-19 antigen ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในวัคซีน ซึ่งวิธีนี้จะสามารถผลิตสารพันธุกรรมที่ตรงกับโปรตีนบนพื้นผิวของไวรัสอย่างแม่นยำ และสามารถนำมาผลิตเป็นวัคซีนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

 

ในขณะที่บริษัท GSK ได้พัฒนานวัตกรรมของระบบสารเสริมฤทธิ์ประเภทต่าง ๆ โดยสารเสริมฤทธิ์ เป็นสารประกอบที่ใส่ลงในวัคซีนบางชนิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันมีความแข็งแรงและออกฤทธิ์นานกว่าเดิมเพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ดีกว่าการใช้วัคซีนเพียงอย่างเดียว การใช้สารเสริมฤทธิ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค เพราะช่วยลดปริมาณของแอนติเจนที่ต้องผสมลงในวัคซีน ช่วยให้ผลิตวัคซีนได้เพิ่มขึ้น และทำให้สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์นี้เคยถูกนำมาใช้ในการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่จนเป็นผลสำเร็จมาแล้ว

 

บริษัท Johnson & Johnson

วัคซีนที่บริษัท Johnson & Johnson ทำการทดลองและพัฒนามีชื่อว่า Ad26.COV2.S โดยวัคซีนดังกล่าวได้ใช้อะดิโนไว รัสเซโรไทป์ 26 ( Ad26) เป็นตัวเหนี่ยวน า ซึ่งสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง โดยสร้างแอนติบอดีที่มีฤทธิ์ลบล้าง ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสในปอดอย่างสมบูรณ์

 

บริษัท AstraZeneca และมหาวิทยาลัย Oxford

บริษัท AstraZeneca (กลุ่มบริษัทยาสวีเดน-สหราชอาณาจักร) และมหาวิทยาลัย Oxford ได้พัฒนาวัคซีนที่ชื่อว่า ChAdOx1 nCoV-19 ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นจากเชื้ออะดิโนไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดในชิมแปนซี ที่ถูกนำมาดัดแปลงพันธุกรรมจนไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้ และทำให้มีลักษณะคล้ายเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

 

ความแตกต่างด้านคุณลักษณะอื่น ๆ

นอกจากนี้วัคซีนจากทั้ง 6 บริษัทยังมีความแตกต่างในประเด็นประสิทธิภาพการทำงาน จำนวนโดสที่ฉีด อุณหภูมิการจัดเก็บ และราคา ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  PfizerBioNTech Moderna AstraZeneca และ มหาวิทยาลัย Oxford CureVac Sanofi-GSK Johnson & Johnson
ชนิดวัคซีน mRNA mRNA อะดิโนไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดในชิมแปนซี mRNA S-protein COVID-19 antigen ที่ได้จากการตัดต่อดีเอ็นเอสายผสม (recombinant DNA) และการใช้สารเสริมฤทธิ์ อะดิโนไวรัส เซโรไทป์ 26 (Ad26)
สถานะการทดสอบทางคลินิกกับมนุษย์ ขั้นที่ 3 ขั้นที่ 3 ขั้นที่ 3 ขั้นที่ 3 (สิ้นสุดในปลายปี 2563) ขั้นที่ 1/2 ขั้นที่ 3
ประสิทธิภาพการต้านไวรัส 95% 94.5% 70% ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีการเผยแพร่ผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ
จำนวนโดสที่ต้องฉีด/คน 2 โดส 2 โดส 2 โดส 1 หรือ 2 โดส 1 หรือ 2 โดส 1 หรือ 2 โดส
อุณหภูมิการจัดเก็บ -70 °C แต่เก็บภายใต้อุณหภูมิ 2-8 °C ได้เป็นเวลาแค่ 5 วัน -20 °C นาน 6 เดือน หรือ อุณหภูมิ 2-8 °C ได้เป็นเวลา 30 วัน อุณหภูมิ 2-8 ° C ได้เป็นเวลา 6 เดือน อุณหภูมิ 2-8 ° C ได้เป็นเวลา 3 เดือน อุณหภูมิ 2-8 ° C อุณหภูมิ 2-8 ° C
ราคาต่อโดส 12 ยูโร 20-30 ยูโร 3 ยูโร 10 ยูโร 8 ยูโร 7 ยูโร
จำนวนโดสที่สั่งซื้อโดยสหภาพยุโรป 200 ล้านชุด (แผนซื้อ เพิ่มเติมอีก 100 ล้านชุด) 80 ล้านชุด (แผนซื้อ เพิ่มเติมอีก 80 ล้านชุด) 300 ล้านชุด (แผนซื้อ เพิ่มเติมอีก 100 ล้านชุด) 225 ล้านชุด (แผนซื้อ เพิ่มเติมอีก 180 ล้านชุด) 300 ล้านชุด 200 ล้านชุด (แผนซื้อ เพิ่มเติมอีก 200 ล้านชุด)

 

สถานะล่าสุดและแผนการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในสหภาพยุโรป

ณ ปัจจุบัน จากทั้งหมด 6 บริษัทที่สหภาพยุโรปได้ทำการข้อตกลงซื้อขายวัคซีน มีเพียงแค่ 2 คือ บริษัท Pfizer-BioNTech และ บริษัท Moderna ที่ได้ยื่นขออนุมัติวัคซีนเพื่อให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินกับองค์การยาแห่งสหภาพ ยุโรป (European Medicines Agency - EMA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม2563 วัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech ได้รับอนุมัติจากการประเมินโดยองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นวัคซีนชนิดแรกที่จะใช้ในยุโรป โดยจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนของบริษัท PfizerBioNTech ทั่วสหภาพยุโรปพร้อมกันได้ตั้งแต่ในช่วงวันที่ 27-29 เดือน ธันวาคม 2563 โดยบริษัท BioNTech สัญชาติเยอรมนีได้รับงบสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสหภาพยุโรปในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นอกจากนี้บริษัท Pfizer-BioNTech ยังได้รับการอนุมัติจากทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรไปเรียบร้อยแล้ว และเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในรัฐบาลสหราชอาณาจักรแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 โดย วัคซีนได้มาจากโรงงานของบริษัท PfizerBioNTech ที่ตั้งอยู่ในเมือง Puurs ประเทศเบลเยียม แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาการขนส่งวัคซีนโดยรถบรรทุก เนื่องจากหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ทำให้ต้องมีการตรวจสินค้าที่ผ่านเข้าออกชายแดนระหว่างเบลเยียมและสหราชอาณาจักร จึงจะทำให้เกิดการจราจรติดขัดและอาจจะต้องเสียเวลานานในการรอ ด้วยเหตุนี้บริษัท Pfizer-BioNTech จึงมีแผนที่จะขนส่งวัคซีนโดยเครื่องบินไปยังสหราชอาณาจักร

 

ในขณะที่วัคซีนของบริษัท Moderna ได้รับอนุมัติจากทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรและจากการประเมินโดยองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เมื่อต้นเดือน มกราคม 2654 และเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในเดือนมกราคม 2564

 

สำหรับการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน หลาย ๆ ประเทศในยุโรปมีการประกาศแผนการฉีดวัคซีนมาแล้วว่าจะให้สิทธิแก่ผู้อาศัยและเจ้าหน้าที่ในบ้านพักคนชรา รวมทั้งอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ที่สัมผัสกับบุคคลดังกล่าว ซึ่งได้แก่ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและที่ทำงานเกี่ยวกับครอบครัวและสังคม (อาจรวมถึงครูด้วย) บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป และบุคคลอายุระหว่าง 45-65 ปีที่มีโรคประจำตัว ตามลำดับ ถัดมาจะเป็นผู้ที่มีอาชีพที่มีความจำเป็นต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและปลอดภัย (เช่น ตำรวจ พนักงานดับเพลิง พนักงานทำความสะอาดหรือเก็บขยะ เป็นต้น) โดยมีการตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 70 ของประชากรจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนภายในฤดูร้อน (กรกฎาคม-สิงหาคม) ปี 2564

ภาพ : Shutterstock

 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน

หลังจากมีการฉีดวัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech ให้กับชาวอังกฤษเป็นรายแรกของโลก ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 บริษัท Pfizer-BioNTech ได้มีการเผยแพร่รายงานซึ่งมีข้อมูลว่าด้วยเรื่องประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนรวมอยู่ด้วย โดยในรายงานระบุว่าประสิทธิภาพของวัคซีนมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยตามอายุและชาติพันธุ์ โดยพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มคนผิวดำสูงถึงร้อยละ 100 ขณะที่ในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 55 ปี ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ร้อยละ 94 และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ร้อยละ 95 เป็นต้น

 

ในประเด็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนพบว่า อาการที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับปานกลางและไม่รุนแรง โดยส่วนใหญ่กลุ่มอาการที่พบ ได้แก่ ความเจ็บปวด ณ บริเวณที่ถูกฉีดยา (ร้อยละ 84) อาการง่วงและอ่อนเพลีย (ร้อยละ 63) ปวดหัว (ร้อยละ 55) อาการหนาวสั่น (ร้อยละ 32) อาการปวดตามข้อต่อ (ร้อยละ 24) และมีไข้ (ร้อยละ 14) เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเองในเวลา 1-2 วัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วย 4 รายที่ได้รับวัคซีนที่มีอาการอัมพาตในกล้ามเนื้อบางส่วนของใบหน้า ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบว่ามีสาเหตุมาจากวัคซีนหรือไม่ และในรายงานได้บ่งชี้ว่าผู้สูงอายุมีโอกาสได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนน้อยกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า โดยเบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญบางท่านคิดว่าการพบผลข้างเคียงในระดับที่ไม่รุนแรงถือเป็นสัญญาณที่ดีเพราะผลข้างเคียงดังกล่าวอาจแสดงให้เห็นว่าวัคซีนนั้นกำลังทำงานและออกฤทธิ์ได้จริง

 

นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีนของบริษัท PfizerBioNTech ในสหราชอาณาจักร เกิดอาการแพ้เป็นจำนวน 2 ราย แต่ได้หายเป็นปกติแล้ว ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจมีสารบางอย่างในวัคซีนที่ทำหน้าที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ในกลุ่มบุคคลที่มีอาการแพ้ยาหรืออาหารบางประเภท โดยทั่วไปอาการของการแพ้วัคซีนจะประกอบด้วย การเกิดผื่นคันที่ผิวหนัง มีอาการหายใจถี่และใบหน้าหรือลิ้นบวม ด้วยเหตุนี้องค์กรกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency, MHRA) จึงได้ออกประกาศแนวทางการฉีดวัคซีนฉบับใหม่ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยมีคำแนะนำว่าผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีน ยา หรืออาหารแล้วมีอาการตอบสนองรุนแรง หรือผู้ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ใช้เครื่องฉีดอะดรีนาลีนแบบพกพา ไม่ควรได้รับวัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรงได้

 

บริษัท Pfizer-BioNTech มีแผนที่จะศึกษาและติดตามอาการของผู้ที่ได้รับวัคซีนเป็นเวลา 2 ปี เพื่อประเมินถึงผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีน ว่าสามารถป้องกันผู้ที่ได้รับวัคซีนจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV2 ได้เป็นระยะเวลานานเท่าใด และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนซ้ำ ณ เวลาไหน

 

ที่มา:
https://www.fiercepharma.com/pharma/despite-pfizer-s-high-efficacy-expectations-other-covid-vaccines-may-have-a-logistics-edge
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_20_2200
https://www.biospace.com/article/comparing-covid-19-vaccines-pfizer-biontech-moderna-astrazeneca-oxford-j-and-j-russia-s-sputnik-v/
https://www.vrt.be/vrtnws/nl/
https://ec.europa.eu/info/sites/info/files/research_and_innovation/research_by_area/documents/ec_rtd_cv-projects.pdf
https://www.wsj.com/articles/takeaways-from-the-pfizer-biontech-vaccine-reports11607449550


จากวารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 12 ประจำเดือน ธันวาคม 2563

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow