Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

น้ำมันปลากับน้ำมันตับปลาต่างกันอย่างไร

Posted By sanomaru | 04 ก.พ. 64
18,479 Views

  Favorite

ในยุคที่สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เริ่มส่งผลเสียต่อมนุษย์ การดูแลสุขภาพให้ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ร่างกายของเรามีภาวะเจ็บป่วยน้อยที่สุด และการดูแลสุขภาพอย่างหนึ่งของผู้คนยุคใหม่ก็คือ การรับประทานอาหารเสริม เพราะมันสะดวกสบาย ง่ายที่จะทำ ทั้งยังหาซื้อได้ทั่วไปอีกด้วย แต่อาหารเสริมนั้นก็มีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ วิตามินบี ธาตุเหล็ก สังกะสี หรือสารอาหารอื่น ๆ รวมถึงน้ำมันปลาที่ให้โอเมก้า-3 ซึ่งหลายคนก็ยังสับสนระหว่างน้ำมันปลากับน้ำมันตับปลา ว่าพวกมันมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

น้ำมันปลา (Fish oil) และน้ำมันตับปลา (Cod liver oil) ทำมาจากอะไร

ทั้งน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาล้วนเป็นอาหารเสริมหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ที่มา สารอาหาร และคุณประโยชน์

 

สำหรับน้ำมันปลานั้นสกัดมาจากส่วนต่าง ๆ ของปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาเฮอร์ริง ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล และปลาแซลมอน หรือปลาทะเลน้ำลึกอื่น ๆ ในขณะที่น้ำมันตับปลาสกัดมาจากตับของปลาค็อด ตามชื่อของมัน (Cod liver oil) เรียกได้ว่าน้ำมันตับปลาก็คือ น้ำมันปลาชนิดหนึ่งนั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

ความแตกต่างระหว่างน้ำมันปลากับน้ำมันตับปลา

ในน้ำมันปลามีกรดไขมันจำเป็นอย่างโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ร่างกายของเราไม่สามารถผลิตขึ้นมาเองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในอาหารทะเล โดยที่ปลาทะเลหรืออาหารทะเลเหล่านั้นก็ได้โอเมก้า-3 มาจากการกินสาหร่ายขนาดเล็กซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 เข้าไปอีกที

 

โอเมก้า-3 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวและและมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย โดยช่วยเสริมสร้างระบบการทำงานของร่างกายและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ  กรดไขมันโอเมก้า-3 มี 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ 1) กรดอีโคซะเพนตะอีโนอิก (Eicosapentaenoic acid, EPA)   2) กรดโดโคซะเฮกซะอีโนอิก (Docosahexaenoic acid, DHA) และ 3) อัลฟาไลโนเลนิก (Alpha-linolenic acid, ALA)

 

ในน้ำมันปลามีกรดไขมันสองชนิดแรก คือ EPA และ DHA อยู่ถึง 30% แบ่งเป็น EPA 18% และ DHA 12% อีก 70% เป็นไขมันอื่น ๆ และมีวิตามิน A และ D อีกเล็กน้อย ขณะที่น้ำมันตับปลานั้นมี EPA และ DHA ในปริมาณที่น้อยกว่า แต่มีวิตามิน A และ D ที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น หากต้องการโอเมก้า-3 ในปริมาณสูง จึงควรเลือกรับประทานน้ำมันปลา แต่หากต้องการประโยชน์จากวิตามิน A และ D ก็ควรเลือกรับประทานน้ำมันตับปลาแทน ส่วนกรดไขมันชนิดที่ 3 คือ ALA พบได้ในพืชบางชนิด เช่น ถั่ว เมล็ดพืช

ภาพ : Shutterstock

 

ประโยชน์ของน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา

1. ลดการอักเสบเรื้อรังและความกังวลจากการอักเสบ

โอเมก้า-3 ในน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา ช่วยลดอาการอักเสบเรื้อรังได้ โดยการเข้าไปจัดการกับโปรตีนที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ขณะที่วิตามิน A และ D ในน้ำมันตับปลา ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยลดการอักเสบโดยการต้านสารอนุมูลอิสระที่เป็นอันตราย

 

ในงานวิจัยบางงานยังพบว่า อาการอักเสบส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้เกิดความกังวลหรือซึมเศร้าได้ ซึ่งหากอาการอักเสบเรื้อรังลดลง ความกังวลและอาการซึมเศร้าก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบความเชื่อมโยงระหว่างการเพิ่มขึ้นของปริมาณวิตามิน D ในกระแสเลือดกับการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเโซโรโทนิน ซึ่งเป็นหนึ่งในสารแห่งความสุข ส่งผลต่อความกังวลและอาการซึมเศร้าอีกด้วย

 

2. เสริมสร้างมวลกระดูก

โดยทั่วไป มวลกระดูกของคนเราจะเริ่มลดลงไปตามวัยหลังอายุ  30 ปี ซึ่งนำไปสู่กระดูกเปราะหรือแตกหักได้ง่าย แต่วิตามิน D ในน้ำมันตับปลา จะช่วยลดอัตราการหายไปของมวลกระดูกที่มาจากช่วงวัย เพราะวิตามิน D ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น และแคลเซียมทำให้กระดูกแข็งแรง กรณีนี้น้ำมันตับปลาจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ไกลเส้นศูนย์สูตรที่ได้รับแสงแดดปริมาณน้อย ร่างกายจึงนำมาสังเคราะห์เป็นวิตามิน D ได้น้อย

ภาพ : Shutterstock

 

3. ลดอาการปวดตามข้อจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ในงานวิจัยบางงานระบุว่าโอเมก้า-3 ช่วยลดอาการเจ็บปวดตามข้อ และลดอาการอักเสบหรือบวมได้ ดังนั้น มันจึงช่วยลดอาการปวดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้

 

4. ช่วยให้มีสุขภาพตาที่ดีขึ้น

ผู้คนจำนวนมากประสบปัญหาเกี่ยวกับสายตาและการมองเห็น และ 2 เหตุผลใหญ่ ๆ ที่นำไปสู่ภาวะดังกล่าวคือ การเป็นต้อหิน และ จอประสาทตาเสื่อมตามวัย ซึ่งมาจากการอักเสบเรื้อรัง แต่การรับประทานน้ำมันตับปลาที่มีทั้งโอเมก้า-3 และวิตามิน A อยู่นั้นช่วยต้านการอักเสบและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดต้อหิน เช่น ความดันในตาหรือเส้นประสาทตาถูกทำลายได้

 

5. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

โอเมก้า-3 สามารถลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลงได้ถึง 15-30% ลดความดันเลือด เพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดีในเลือด ป้องกันการเกิดคราบพลัก (Plaque) ซึ่งเป็นการสะสมของไขมันและแคลเซียมในหลอดเลือดแดง จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

 

อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ ยังคงต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก เพื่อเป็นหลักฐานรองรับและสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาอย่างเพียงพอและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ควรรับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาตอนไหน

น้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาควรรับประทานพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน เพราะระบบย่อยจะทำงานได้ดี และสามารถดูดซึมโอเมก้า 3 ได้ดียิ่งขึ้น

ภาพ : Shutterstock

 

ควรรับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาในปริมาณเท่าไร

โดยปกติการรับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลา ควรดูปริมาณที่แนะนำตามฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ หรือปรึกษาแพทย์ แต่องค์การอนามัยโลกก็ได้ระบุปริมาณที่ควรรับประทานไว้เช่นกัน คือ EPA+DHA ในปริมาณ 0.2-0.5 กรัมต่อวัน (200-500 มิลิกรัมต่อวัน) สำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี แต่ไม่แนะนำในผู้หญิงตั้งครรภ์หรือมีภาวะเสี่ยงของโรคหัวใจ

 

รับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลามากเกินไปเป็นอันตรายหรือไม่

การรับประทานน้ำมันปลาซึ่งมีโอเมก้า-3 สูงในปริมาณที่มากเกินไปมีผลต่อกลุ่มผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือเบาหวาน เนื่องจากโอเมก้า-3 ทำให้เลือดไม่แข็งตัว และกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่วนผู้ที่มีสุขภาพปกติดี หากรับประทานมากเกินไปก็อาจจะทำให้รู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก หรืออาหารไม่ย่อยได้

 

ส่วนในน้ำมันตับปลาซึ่งมีวิตามิน A และ D สูง วิตามินทั้งสองตัวนี้เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จึงสะสมอยู่ในร่างกายของเรา ต่างจากวิตามินกลุ่มละลายในน้ำที่ร่างกายสามารถขับออกได้  ดังนั้น การรับประทานน้ำมันปลามากเกินไปจึงอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาหารไม่ย่อย ผิวหนังเป็นผื่น นอนไม่หลับ และในระยะยาวมีผลต่อตับอาจจะทำให้ตับทำงานล้มเหลวได้


ร่างกายของเราต้องการโอเมก้า-3 เพื่อช่วยในกระบวนการทำงานต่าง ๆ จึงควรรับประทานอาหารทะล 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่หากไม่สะดวกในการรับประทานอาหารทะเล ก็สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอย่างน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลามารับประทานแทนได้ ทั้งนี้ควรอยู่ในเงื่อนไขหรือข้อกำหนดที่ปลอดภัย และควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow