Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความเครียดกับระบบทางเดินอาหารสัมพันธ์กันอย่างไร

Posted By sanomaru | 21 ม.ค. 64
4,870 Views

  Favorite

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ความเครียดที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องผูก หรือแม้แต่ลำไส้แปรปรวน ความเครียดเหล่านั้นส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารได้อย่างไร และคำพูด "ท้องอิ่มสมองถึงแล่น" ที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างสมองและระบบทางเดินอาหาร ระบบทั้งสองเชื่อมโยงกันได้อย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

 

อย่างที่ทราบกันว่าระบบร่างกายของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนและมหัศจรรย์อย่างคาดไม่ถึง โดยทำงานภายใต้การควบคุมของระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System : CNS - สมองและไขสันหลัง) จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกหากสารสื่อประสาทที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกอย่างเซโรโทนิน (Serotonin) หรือหนึ่งใน "สารแห่งความสุข" ที่รู้จักกันดี จะหลั่งมาจากสมอง แต่สิ่งที่น่าแปลกคือ มีเซโรโทนินเพียง 5% ของทั้งหมดในร่างกายเท่านั้นที่มาจากสมอง ส่วนอีก 95% กลับสร้างมาจาก Enterochromaffin Cells ภายในลำไส้

ภาพ : Shutterstock

 

รู้จักกับเซโรโทนิน (Serotonin)

เรารู้จักกับเซโรโทนินในแง่มุมของสารสื่อประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก และการรับรู้ แต่แท้จริงแล้วมันมีหน้าที่มากกว่านั้น เซโรโทนินมีความเกี่ยวข้องกับการนอนหลับ การแข็งตัวของเลือด ความหนาแน่นของกระดูก สมรรถภาพทางเพศ ความรู้สึกอยากอาหาร รวมถึงการย่อยอาหาร การทำงานของระบบทางเดินทางอาหารมีความเชื่อมโยงกับสมอง ผ่านระบบแกนเชื่อมโยง brain-gut-axis เพื่อนำคำสั่งจากสมองมายังทางเดินอาหาร โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างระบบประสาทและสารสื่อประสาทอย่างเซโรโทนิน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงระดับของเซโรโทนินมีผลต่อการทำงานของลำไส้พอ ๆ กับผลต่อการทำงานของสมองเลยทีเดียว

ภาพ : Shutterstock

 

เซโรโทนินกับระบบทางเดินอาหาร

ตัวอย่างหนึ่งจากการทำงานของเซโรโทนินก็คือ เมื่ออาหารเข้าสู่ปากของเรา ตุ่มรับรสจะถูกกระตุ้นและส่งสัญญาณประสาทไปยังเซลล์บางชนิดและกระตุ้นการหลั่งเซโรโทนินออกมา เซโรโทนินจะสื่อสารให้เกิดการทำงานของหลอดอาหารและลำไส้ ในรูปแบบที่เรียกว่า เพอริสทัลซิส (Peristalsis) หรือการเคลื่อนไหวแบบบีบและคลายตัวเพื่อช่วยให้อาหารเคลื่อนไปข้างหน้า นอกจากนี้เซโรโทนินยังช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยจากตับอ่อน ช่วยให้เราลดความอยากอาหารลงและค่อย ๆ ทำให้รู้สึกอิ่มด้วย แต่หากสิ่งที่บริโภคเข้าไปนั้นเป็นสารพิษ เซโรโทนินจะหลั่งออกมาให้ปริมาณมากเกินไป ซึ่งจะไปกระตุ้นศูนย์ควบคุมที่เกี่ยวกับความรู้สึกคลื่นไส้ในสมอง ทำให้อาเจียนออกมา และส่งผลต่อการทำงานแบบเพอริสทัลซิสด้วย ดังนั้น เวลาในการเคลื่อนไปข้างหน้าของอาหารภายในหลอดอาหารและลำไส้จึงเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งกลไกดังกล่าวเป็นกลไกเพื่อขับสารพิษออกจากร่างกายนั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

ย้อนกลับมาที่ความรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล ซึ่งเป็นความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย การตอบสนองในภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับอันตราย หรือผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าว พบว่า ระดับของเซโรโทนินลดลง อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความเครียดทำให้เซโรโทนินลดลงหรือการที่ระดับเซโรโทนินลดลงทำให้เกิดความเครียดกันแน่ แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือการเชื่อมโยงระหว่างของความเครียดกับระดับเซโรโทนิน และระดับเซโรโทนินกับระบบทางเดินทางอาหาร เพราะเมื่อระดับของเซโรโทนินผิดปกติ มันทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติและเกิดโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) ตามมาได้ ซึ่งอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- "สารสื่อประสาท (Neurotransmitter)" ส่วนเล็ก ๆ ที่มีผลต่ออารมณ์และการทำงานของร่างกาย
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow