Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หลักการของโรลเลอร์โคสเตอร์

Posted By sanomaru | 14 ม.ค. 64
18,039 Views

  Favorite

คงเป็นเรื่องยากสักหน่อยที่จะเล่นรถไฟเหาะตีลังกาแบบไม่กรีดร้อง เพราะการเคลื่อนที่ขึ้น ๆ ลง ๆ พร้อมทั้งตีลังกากลับหัวอย่างรวดเร็วนั้น น่าจะทำให้ผู้โดยสารรู้สึกหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย แต่เบื้องหลังของความหวาดเสียวปนความสนุกสุดเหวี่ยงนี้ มีหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง เราจึงได้เครื่องเล่นชนิดนี้มาสร้างความบันเทิงให้กับวันที่สุดแสนจะน่าเบื่อ

ภาพ : Shutterstock

 

รถไฟเหาะขบวนแรกของโลกเปิดตัวในปี 1884 ที่เกาะโคนีย์ (Coney Island) รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ประดิษฐ์ขึ้นโดย  LaMarcus Thompson มีความยาวประมาณ 600 ฟุต และสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วสุงสุด 6 ไมล์ต่อชั่วโมง รถไฟเหาะขบวนนี้สามารถวิ่งบนรางลักษณะเป็นเนินโค้งได้ แต่มันยังไม่สามารถตีลังกาได้แบบเดียวกับรถไฟเหาะตีลังกาในปัจจุบัน รถไฟเหาะที่ขึ้นลงเนินได้นี้ใช้กฎการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีพลังงานศักย์และพลังงานจลน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

พลังงานในการขึ้นลงเนินและตีลังกา

โดยทั่วไปแล้วรางของรถไฟเหาะจะเป็นเนินสูงต่ำ ทำให้เกิดความหวาดเสียวขณะเล่น แต่จะสังเกตว่า เนินแรกของรางมักเป็นเนินที่สูงที่สุด นั่นก็เพื่อกักเก็บพลังงานให้อยู่ในรูปของพลังงานศักย์ ก่อนจะเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังงานจลน์ ด้วยการเคลื่อนขบวนลงมาจากจุดสูงสุด และยิ่งเนินนั้นสูงมากเท่าไร พลังงานศักย์ก็ยิ่งมีมากเท่านั้น และเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ได้มากเช่นเดียวกัน พลังงานจลน์จะสูงที่สุดเมื่อขบวนรถไฟกลับลงมายังจุดต่ำสุดของรางแล้ว ดังนั้น รถไฟเหาะจึงมีแรงเคลื่อนขึ้นเนินที่เตี้ยกว่าต่อ ๆ ไปได้

ภาพ : Shutterstock
ภาพ : sanomaru

 

เมื่อเราพิจารณาด้วยกฎการอนุรักษ์พลังงาน ขณะที่พลังงานศักย์เปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ ความสูงและพลังงานศักย์จะค่อย ๆ ลดลง ส่วนพลังงานจลน์จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และได้เป็น
∑ พลังงานรวมที่จุดสูงสุด = ∑ พลังงานรวมที่จุดต่ำสุด
mgh = 1/2mv2
จากสมการ ความสูงกับความเร็วจึงมีความสัมพันธ์กัน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ขบวนรถไฟขับเคลื่อนเข้าสู่วงแหวนเพื่อตีลังกาได้

 

การตีลังกาของรถไฟเหาะ

เครื่องเล่นที่โดดเด่นอยู่ในสวนสนุกอย่างรถไฟเหาะนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ กระทั่งตอบสนองกลุ่มคนที่ชอบความหวาดเสียวได้มากที่สุดเมื่อมันสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงและตีลังกากลับหัวได้ จากหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยแรงกระทำหลัก 2 แรง ที่ทำให้รถไฟเหาะตีลังกาหรือโรลเลอร์โคสเตอร์สามารถตีลังกาได้จริง ๆ นั่นคือ แรงแนวฉาก (Normal force) และแรงโน้มถ่วง (Force of gravity)

แรงแนวฉากเป็นแรงกระทำระหว่างผิววัตถุสองก้อนที่สัมผัสกัน โดยมีทิศตั้งฉากกับพื้นผิวสัมผัส ในกรณีนี้เป็นแรงที่รถไฟเหาะและรางกระทำต่อกันในแนวตั้งฉาก และเป็นเช่นนี้ไปตลอดแนวรางที่รถไฟเคลื่อนไป โดยขณะที่รถไฟเหาะวิ่งเข้าสู่รางรูปวงแหวนเพื่อตีลังกา แรงแนวฉากจะมีทิศพุ่งเข้าหาจุดศูนย์กลาง ทำให้เกิดแรงสู่ศูนย์กลาง (FC) และมีความเร่งสู่ศูนย์กลาง (aC) เกิดขึ้น
สูตรการหาแรงสู่ศูนย์กลาง    FC = maC
สูตรการหาความเร่งสู่ศูนย์กลาง    aC = V2/r

 

ส่วนแรงโน้มถ่วงเป็นแรงดึงดูดระหว่างมวลของวัตถุ ในกรณีนี้เป็นแรงที่โลกกระทำต่อรถไฟเหาะ ซึ่งจะดึงดูดโดยมีทิศเข้าสู่ศูนย์กลางโลกหรือลงด้านล่างเสมอ
สูตรการหาแรงโน้มถ่วง    F = mg    โดย g คือค่าความเร่งโน้มถ่วงของโลก มีค่าประมาณ 9.81 m/s2

ภาพ : sanomaru

 

จากสมการ จะสังเกตเห็นว่า ขนาดของแรงแนวฉากจะขึ้นกับความเร็วของรถไฟ รัศมีของวงแหวน และมวลของรถไฟ แต่ที่จุดสูงสุดของวงแหวน หากจะหาความเร็วที่น้อยที่สุดที่ทำให้รถไฟเหาะยังเคลื่อนไปบนรางวงแหวนได้โดยไม่หล่นลงมา จะต้องแทนค่าให้แรงแนวฉากมีค่าเป็น 0 เสมือนว่ารถไฟอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก จึงได้สมการเป็น    

0 =  m (V2/r) - mg

mg = m (V2/r)
V2 = gr
V = √gr

ภาพ : sanomaru

 

ความรู้สึกสนุกที่เกิดจากแรง

แรงแนวฉากเป็นแรงที่ทำให้คนเรารู้สึกถึงน้ำหนักของตนเอง ยิ่งน้ำหนักมาก แรงแนวฉากก็ยิ่งมาก และเมื่อเราอยู่บนรถไฟเหาะที่กำลังวิ่งโดยมีความเร็วเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แรงแนวฉากที่กระทำต่อเราก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยขณะที่รถไฟเหาะแล่นผ่านฐานของวงแหวน ที่จุดนี้จะมีแรงกระทำต่อตัวเรามากที่สุด และเมื่อรถไฟเคลื่อนขึ้นไปถึงจุดบนสุดของวงแหวน เราจะรู้สึกถึงได้ถึงสภาวะไร้น้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีแรงเฉื่อยที่พยายามจะรักษาตำแหน่งเดิมของร่างกายไว้ ทำให้เกิดการเหวี่ยง หรือการที่ตัวเราถูกดันไปติดกับพนักที่นั่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของแรงที่กระทำต่อตัวเราเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกสนุก ตื่นเต้นตลอดเวลาขณะที่นั่งอยู่บนรถไฟเหาะ

 

ความสนุกสุด ๆ จากการเล่นรถไฟเหาะเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นเมื่อวิศวกรได้ออกแบบรางรถไฟให้เป็นมีลักษณะม้วนเป็นหยดน้ำทรงคว่ำแทนที่จะเป็นวงกลมแบบเดิม ๆ ความสนุกเกิดขึ้นจากการที่รัศมีของวงด้านบนมีค่าน้อยกว่าด้านล่าง ทำให้ความเร่งสู่ศูนย์กลางของรถไฟที่ด้านบนมีค่ามากกว่า (จาก FC = mV2/r) ด้านบนของวงแหวนทรงหยดน้ำจึงมีความเร็วมาก มีแรงดันให้ตัวของเราติดกับที่นั่งมากขึ้น  และเมื่อรถไฟแล่นกลับลงมา ความเร่งจะลดลง ทำให้ผู้เล่นไม่รู้สึกอึดอัดนั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- จักรยานกับสมดุลต่อการหมุน
- การเคลื่อนที่แนววงกลม
- การเคลื่อนที่แนววงกลมเป็นการเคลื่อนที่แบบไหน
- กฎการอนุรักษ์พลังงาน
 

 

แหล่งข้อมูล
The Organic Chemistry Tutor. Roller Coaster Physics Problem, Conservation of Energy - How To Calculate The Speed & Minimum Height. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
The Organic Chemistry Tutor. Normal Force on a Hill, Centripetal Force, Roller Coaster Problem, Vertical Circular Motion, Physics. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
Matt Anderson. Roller coaster loop the loop. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
iggyphysics101. Forces on a vertical loop.mp4. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
History. First roller coaster in America opens. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
6sqft. 133 years ago, America’s first roller coaster opened at Coney Islan. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
Science ABC. The Physics Of Roller Coasters. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
How stuff works? How Roller Coasters Work. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล, คณะวิทยาศาสตร์, ภาควิชาฟิสิกส์. วิ่งขึ้นแล้วก็ต้องวิ่งลง. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
คลังความรู้ Scimath. ฟิสิกส์ในชีวิตประจำวัน ตอนรถไฟเหาะตีลังกา. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
สสวท. คู่มือครูฟิสิกส์ ม. 4 เล่ม 1. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow