Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัสสการพราหมณ์ บ่างช่างยุ กับ โทษของการแตกสามัคคี เหตุใดพระพุทธองค์จึงทรงให้ธรรม จนวัสสการพราหมณ์ได้อุบาย

Posted By มหัทธโน | 09 ธ.ค. 63
70,551 Views

  Favorite

ที่มาของเรื่อง สามัคคีเภทคำฉันท์ 

บทประพันธ์เรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์”  นี้ว่าด้วยกษัตริย์ลิจฉวี  กรุงเวสาลี  แห่งแคว้นวัชชี  ถูกวัสสการพราหมณ์  มหาอำมาตย์ของพระเจ้าอชาตศัตรู  กรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ  เข้าไปบ่อนทำลายความสามัคคีจนเสียเมือง 

เรื่องนี้มีมาในมหาปรินิพพานสูตรและอรรถกถาสุมังควิลาสินี  โดย นายชิต  บุรทัต  ได้อาศัยเค้าคำแปลเรื่องนี้เป็นโครงร่างในการประพันธ์  ได้ต่อเติมเสริมความตามลีลาแห่งฉันท์เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๕๗
 

ข้อคิดดี ๆ จากเรื่องราวนี้
เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงให้ธรรมะ เป็นอุบายแด่วัสสการพราหมณ์?

-- การใช้ปัญญาเอาอุบายชนะศัตรูโดยไม่เสียเลือดเนื้อ
แม้บางท่านอาจะะมองว่า พระพุทธองค์ ทรงเข้าข้าง พระเจ้าอชาตศัตรู ในการพูดถึง อปริหานิยธรรม กับพระอานนท์

ทำให้วัสสการพราหมณ์คิดอุบายตีเมืองวัชชีได้ ก็ตาม แต่ ด้วยความฉลาดของวัสสการพราหมณ์ ทำให้การรบครั้งนี้ ไม่มีการเสียเลือดเนื้อใด ๆ แม้แต่คนเดียว 

และเมื่อวัสสการพราหมณ์กลับไปแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงเรียกภิกษุสงฆ์มารวมตัว เพื่อแสดงธรรม อปริหานิยธรรมสำหรับพระสงฆ์ ทันที เพราะทรงเห็นความสำคัญของความมีสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์เช่นกัน 

และการที่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ต่างหูเบา  ขาดวิจารญาณ ขาดการไตร่ตรอง มิได้สอบถามที่มาของปัญหาอย่างรอบคอบ ทุกฝ่าย ทำให้มิได้ยึดถือ อปริหานิยธรรม สำหรับคฤหัสถ์อีกต่อไป จึงเป็นการแสดงผลเสียของการเสื่อมจากอปริหานิยธรรมชัดเจน 

--  การเลือกใช้บุคคลให้เหมาะสมกับงานจะทำให้งานสำเร็จได้ด้วยดี

--  การใช้วิจารณญาณไตร่ตรองก่อนทำการใด ๆ เป็นสิ่งที่ดี

--  การหูเบา ด่วนตัดสิน โดยมิได้ใช้เหตุผล สอบถามเบื้องหน้าเบื้องหลังของปัญหาจากทุกด้าน ทำให้การงานล่มสลายได้ เพราะเกิดความขัดแย้งกัน

 

ที่มาภาพ : สำนักพิมพ์เสบียงบุญ แหล่งรวมหนังสือเพื่อธรรมทาน

 

เรื่องราวของ สามัคคีเภทคำฉันท์ เรื่องของวัสสการพราหมณ์ 

พระเจ้าอชาตศัตรูขึ้นครองราชย์ โดยการทรมานพระราชบิดา พระเจ้าพิมพิสาร จนสวรรคต

ในครั้งพุทธกาลแคว้นมคธมีกรุงราชคฤห์เป็นเมืองหลวง  เป็นมหาอาณาจักรบนลุ่มแม่น้ำคงคา  พระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  มีพระราชโอรสองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า  อชาตศัตรู  เจ้าชายอชาตศัตรูนี้นับถือศาสนาเชน  มิได้นับถือพุทธศาสนาเหมือนพระราชบิดา  จึงถูกพระเทวทัตยุให้กบฏชิงราชสมบัติ 

 

อยู่มาวันหนึ่งเจ้าชายเหน็บกริชลอบเข้าไปหมายจะสังหารพระราชบิดา  เมื่อถูกจับได้ก็สารภาพว่าจะสังหารเพื่อให้ได้ราชสมบัติ  พระเจ้าพิมพิสารได้พระราชทานอภัยโทษและยกราชสมบัติให้พระราชโอรส เมื่อก่อนพุทธปรินิพพาน ๘ ปี หรือก่อน พ.ศ. ๙ ปี  

 

แต่ทว่าพระเจ้าอชาตศัตรูหวาดระแวงว่าพระราชบิดาจะเปลี่ยนพระทัย  จึงสั่งให้อำมาตย์จับพระราชบิดาไปขังไว้บนภูเขาคิชฌกูฎและทรมานจนสวรรคต

 

พระเจ้าอชาตศัตรูต้องการปราบแคว้นวัชชี ที่มี "อปริหานิยธรรม" 

แคว้นวัชชีเป็นสหพันธรัฐตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคันธกะ   แควหนึ่งแห่งแม่น้ำคงคา  มีกรุงเวสาลีเป็นเมืองหลวง  และมีพรมแดนติดต่อกับแคว้นมคธ 

 

ในสมัยนั้นที่แคว้นวัชชีนี้มีการปกครองด้วยระบบกษัตริย์เหมือนกับแคว้นอื่นๆ แต่พิเศษกว่าก็คือมีการแบ่งเขตปกครองกันออกเป็น 6 เมืองด้วยกัน แต่ละเมืองเป็นอิสระต่อกันไม่ขึ้นตรงต่อเมืองใดเมืองหนึ่ง มีความสามัคคีกลมเกียวปรองดองกันดี ช่วยเหลือกันอยู่ตลอด ยากที่ข้าศึกศัตรูจะรุกรานได้ เพราะกษัตริย์ลิจฉวีผลัดเปลี่ยนกันปกครองโดยระบอบสามัคคีธรรม  มีรัฐสภาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน  และมีวัฒนธรรมประจำชาติซึ่งยึดถือปฏิบัติอย่างมั่นคง  ๗  ประการ  เรียกว่า  อปริหานิยธรรม  ฉะนั้นแม้แคว้นวัชชีจะเล็กกว่าแคว้นมคธ  ก็มีความเจริญรุ่งเรืองและสามัคคีกันไม่น้อยกว่าแคว้นมคธ

 

อปริหานิยธรรม หมายถึง ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม แต่เป็นธรรมเพื่อความเจริญ กล่าวคือ ถ้าบุคคล ปฏิบัติตามอปริหานิยธรรม บุคคลนั้น จะมีแต่ความเจริญความก้าวหน้าในชีวิต ไม่มีความเสื่อม ความเสียหาย อันเป็นอุปการะมากสำหรับผู้ปฏิบัติ ผู้บริหาร หมู่ชน และคนในสังคม

 

อปริหานิยธรรม 

หมายถึง ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม แต่เป็นธรรมเพื่อความเจริญ กล่าวคือ ถ้าบุคคล ปฏิบัติตามอปริหานิยธรรม บุคคลนั้น จะมีแต่ความเจริญความก้าวหน้าในชีวิต ไม่มีความเสื่อม ความเสียหาย อันเป็นอุปการะมากสำหรับผู้ปฏิบัติ ผู้บริหาร หมู่ชน และคนในสังคม แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. อปริหานิยธรรมสำหรับคฤหัสถ์
2. อปริหานิยธรรมสำหรับพระสงฆ์

 

อปริหานิยธรรมสำหรับคหัสถ์ (วัชชีอปริหานิยธรรม) 7 ประการ

อปริหานิยธรรมสำหรับคหัสถ์ 7 ประการ แสดงธรรมโดยพระพุทธองค์ แก่เจ้าลิจฉวีเพื่อให้ปฏิบัติตาม เมื่อครั้นประทับ ณ สารันทเจดีย์ ใกล้กรุงเวสาลี แคว้นวัชชี ประกอบด้วยธรรม 7 ประการ คือ
1. จัดประชุม และหารือกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เป็นนิตย์
2. การประชุมต้องให้หมู่คณะมีเพรียงกัน รวมถึงการเลิกประชุม และการทำกิจอันสมควรให้พร้อมเพรียง
3. บัญญัติหรือมีมติในสิ่งในเรื่องใหม่ และข้อบัญญัติไม่ขัดหรือตัดรอนบัญญัติก่อน พร้อมยอมรับ และศึกษาในธรรมะของชาววัชชีที่ได้บัญญัติก่อน
4. ให้เคารพนับถือคำกล่าวของผู้อาวุโส
5. ไม่ล่วงละเมิดทางใจ และกายในสตรีที่มีสามีหรือสตรีสาวในชาววัชชี
6. ให้ความเคารพ และสักการะ รวมถึงการบูรณะเจดีย์หรือพุทธสถานที่ปลูกสร้างไว้
7. ให้การสงเคราะห์ และอุปการะแก่สงฆ์ทั้งหลาย

 

อปริหานิยธรรมสำหรับพระภิกษุ (ภิกขุอปริหานิยธรรม) 7 ประการ

หลังจาก ได้แสดงอปริหานิยธรรม 7 ประการ แก่วัสสการพราหมณ์แล้ว ต่อมาจึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่ในกรุงราชคฤห์ พร้อมกับแสดงธรรมอปริหานิยธรรมทั้ง 7 ประการ ดังนี้
1. ให้หมั่นประชุม และหา เพื่อแลกเปลี่ยนธรรมกันเป็นนิตย์
2. การประชุมให้เกิดความพร้อมเพรียงทั้งในหมูคณะ การเลิกประชุม และการทำกิจอันสมควร
3. ไม่พึงบัญญัติในสิ่งที่พระพุทธองค์ไม่เคยบัญญัติ และไม่เพิกถอนที่สิ่งที่พระพุทธองค์ได้บัญญัติไว้ รวมถึงข้อบัญญัติใหม่ไม่พึงขัดหรือตัดรอนกับบัญญัติที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้
4. พึงเชื่อ และเคารพในภิกษุที่อาวุโส
5. พึงละเว้น และไม่ลุในความอยากทั้งหลาย
6. พึงยินดีในสถานที่พักของตน
7. พึงตั้งความปรารถนาดีในทางธรรมต่อพระภิกษุหรือสามเณรผู้ที่จะเข้ามาอยู่ร่วม

ที่มาภาพ : https://sites.google.com/site/samakkheephetkhamchan/

 

พระเจ้าอชาตศัตรูมีกรณีพิพาทเป็นประจำกับกษัตริย์ลิจฉวี  เรื่องแย่งเครื่องเทศอันมีค่าที่เชิงภูเขา พรมแดนห่างจากแม่น้ำคงคาประมาณ ๘ โยชน์  พระองค์จึงทรงวางแผนสงครามโดยใช้ให้มหาอำมาตย์สุนิธะ กับปุโรหิตผู้เฉลียวฉลาดนามว่าวัสสการพราหมณ์ ให้ไปสร้างบ้านปาฏลิคามขึ้นเป็นเมือง ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้ปากน้ำคันธกะ  ทางเข้าสู่แคว้นวัชชี  เมืองนี้เพียบพร้อมด้วยค่ายคูประตูหอรบ  เพื่อใช้เป็นฐานทัพเข้าโจมตีแคว้นวัชชี  แต่ถึงอย่างไรก็ดีพระเจ้าอชาตศัตรูก็ยังไม่กล้าจะหักหาญ  เพราะเกรงอิทธิพลของกษัตริย์ลิจฉวีอยู่

 

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเสวยราชย์ได้ ๗ ปี หรือ ก่อนพุทธปรินิพพาน ๑ ปี ทรงใช้วัสสการพราหมณ์ให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแทนพระองค์บนเขาคิชฌกูฎ  ให้ทูลถามถึงความทุกข์สุขก่อน  แล้วให้กราบทูลถึงพระราชดำริของพระองค์ที่จะโจมตีแคว้นวัชชี  และเมื่อพระพุทธองค์รับสั่งอย่างไร  ก็ให้จำมากราบทูลอย่างนั้น

วัสสการพราหมณ์ ผู้นี้เป็นบุคคลที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดมาก ๆ เป็นนักการเมือง เป็นมหาอำมาตย์ของพระเจ้าอชาตศัตรู 

 

พระเจ้าอชาตศัตรูให้วัสสการพราหมณ์ไปเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธเจ้า ถึงวิธีปราบแคว้นวัชชี

วัสสการพราหมณ์ไปเฝ้ากราบทูลตามพระราชบัญชา 

พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามพระอานนท์ว่า

"ชาววัชชียังประพฤติวัฒนธรรม (อปริหานิยธรรม) ๗  ประการอยู่หรือ ?"

 

พระอานนท์ก็กราบทูลว่า  "ได้ยินว่าเขายังประพฤติกันอยู่"

พระพุทธองค์จึงตรัสต่อไปว่า

"ได้ทรงแสดงธรรมทั้ง ๗ นี้แก่กษัตริย์ลิจฉวีครั้งหนึ่ง  เมื่อเสด็จไปประทับที่สารันทเจดีย์  กรุงเวสาลี  ว่าเป็นความเจริญฝ่ายเดียว  ไม่มีความเสื่อม" 

 

วัสสการพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นจึงกราบทูลว่า 

"แม้เพียงข้อเดียวเท่านั้นก็มีความเจริญฝ่ายเดียวไม่มีความเสื่อมเลย  ไม่ต้องกล่าวถึง ๗ ข้อ  เพราะฉะนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูจึงไม่ควรทำการรบกับพวกวัชชี  นอกเสียจากการรอมชอม หรือการทำลายสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีเสียก่อน"

 

เมื่อกราบทูลความคิดเห็นอย่างนี้แล้วก็ทูลลากลับไป

 

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Sabiangbunpublishing/posts/1752260721730081/

 

เมื่อวัสสการพราหมณ์กลับไปแล้ว  พระพุทธองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์แสดงภิกขุอปริหานิยธรรมสูตร ซึ่งมีลักษณะคล้ายวัชชีอปริหานิยธรรมสูตร 

เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฎเป็นเวลาพอสมควรแล้ว  จึงเสด็จผ่านบ้านปาฏลิคามที่สร้างขึ้นเป็นเมืองปาฏลีบุตรแล้ว  รอนแรมไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี  ประทับจำพรรษาสุดท้ายที่นั่น  ต่อจากนั้นก็เสด็จไปปรินิพพานที่อุทยานสาลวัน  แขวงกรุงกุสินารา  แคว้นมัลละ

 

วางแผนขับไล่วัสสการพราหมณ์ ให้ไปทำลายอปริหานิยธรรมสูตรของแคว้นวัชชี

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงทราบดังนั้นจึงไม่กล้าโจมตีแคว้นวัชชี  แต่ทรงปรึกษากับวัสสการพราหมณ์ออกอุบายทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวี  โดยแกล้งลงโทษวัสสการพราหมณ์แล้วเนรเทศให้ไปอยู่แคว้นวัชชี 

วัสสการพราหมณ์ผู้ซื่อสัตย์ก็ออกอุบาย "ยอมเจ็บแลกเมือง" ให้พระเจ้าอาชาตศัตรูสั่งให้ทหารเฆี่ยนตีจนหลังลายปางตาย แล้วทำทีเป็นเนรเทศออกนอกเมือง แล้วไปของพึ่งพิงอาศัยอยู่กับชาววัชชีเพื่อตบตาข้าศึก

ด้วยเหตุที่รู้ไม่ทันแผนชักศึกเข้าบ้านหรือม้าโทรจันเมืองทรอย และกิติศัพท์ด้านความรู้ความสามารถของวัสสการพราหมณ์ว่า เป็นผู้ฉลาดพวกเจ้าวัชชีก็อยากเอาไว้ใช้งาน จึงให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือศิลปะวิชาการต่างๆ ให้กับราชกุมารของราชวงศ์ในแคว้นวัชชี

เป็นการชักศึกเข้าบ้านโดยไม่รู้ตัวเพราะวัสสการพราหมณ์เป็นไส้ศึกที่พระเจ้าอาชาตศัตรูส่งมานั่นเอง

 

ในช่วงที่สอนหนังสือให้กับเหล่าราชกุมารเหล่านั้นก็คอยยุแหย่ เสี้ยมสอนให้พวกกุมารเหล่านั้นทะเลาะกัน แตกแยกมีปากมีเสียงกันอยู่บ่อยๆ จนเป็นเรื่องเป็นราวทะเลาะเบาะแว้งกัน จากเรื่องทะเลาะกันระหว่างเด็กๆ ก็ขยายวงออกไปสู่พ่อแม่ ผู้ใหญ่ ในที่สุดก็ทำให้เจ้าวัชชีทั้ง 6 แตกสามัคคีกันจนได้

เมื่อได้เวลาเหมาะเจาะแล้ว วัสสการพราหมณ์ก็แอบส่งข่าวให้พระเจ้าอาชาตศัตรูยกทัพมาถล่มแคว้นวัชชี และเอาชนะพวกเจ้าวัชชีได้อย่างง่ายดาย

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงทราบแล้วก็กรีธาทัพเข้าไปยึดครองแคว้นวัชชีโดยไม่มีการสู้รบ  ภายหลังพุทธปรินิพพาน ๒ ปี หรือก่อน พ.ศ. ๓ แคว้นวัชชีก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าอชาตศัตรู

 

อ้างอิงที่มา : 

เนื้อหาในพระไตรปิฏก (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต) และในอรรถกาสุมังคลวิลาสินี ทีฑนิกาย มหาวรรควรรณนา อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร และใน สามัคคีเภทคำฉันท์ 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow