Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส สอนการปฏิบัติธรรม

Posted By มหัทธโน | 02 ธ.ค. 63
4,301 Views

  Favorite

พระราชดำรัสในโอกาสที่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2523

ว่าด้วยเรื่องของการปฏิบัติธรรม และการปฏิบัติเอง แม้จะมีแสงริบหรี่ก็ต้องทำ

 

…เนื่องจากที่ได้กล่าวแล้วว่า ท่านทั้งหลายหลังในบารมีให้ปกเกล้าบ้านเมืองนั้นก็เป็นอย่างหนึ่งที่น่าคิด เพราะว่าบ้านเมือง ประกอบด้วยบุคคลและแต่ละบุคคลจะต้อง “ทำด้วยตนเอง” ตามหลักของพระพุทธศาสนาแต่ละคนจะต้องการอะไร ก็ต้องการ “ความสุข” คือ “ความสงบ” และความสุข และความสงบจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วย “ตนเอง“

 

ฉะนั้นจะให้คนอื่นมาปกป้องรักษา ก็เป็นสิ่งที่ยาก ถ้า “ตัวเองไม่ทำ” อันนี้เป็นข้อสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา

 

แต่การที่จะอาศัยคนอื่นก็อาศัยได้โดยผู้อื่นที่ปฏิบัติดีชอบ และคอยฟังสั่งที่ผู้อื่นที่เราเห็นว่าปฏิบัติชอบได้พูดได้แนะนำ ดังนี้ ต้องเป็นสิ่งที่อาศัยผู้อื่นได้ ฉะนั้นก็ต้องมีการพิจารณาของตัวเองผู้ที่น่าที่จะดูการปฏิบัติ หรือฟังข้อแนะนำในการปฏิบัติและทำตาม อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลได้บรรลุถึงความสำเร็จความสุขได้

 

มาถึงปัญหาของพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งลำบากที่สุด ที่จะเห็นพระพุทธศาสนา และที่จะเห็นประโยชน์ของพระพุทธศาสนา เพราะเราแต่ละคนก็มีกายและใจของตัวเอง แต่ละคนมีความรู้ หรือปฏิบัติของตัวเอง แล้วแต่ภูมิ

 

การที่จะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนานั้น ย่อมจะเป็นแล้วแต่บุคคลแล้วแต่สภาพของตัว ฐานะนี้ไม่ได้หมายถึง…ฐานะการเงินการทอง หรือความเป็นอยู่ แต่หมายถึง… “ฐานะของจิตของแต่ละคน”

 

ฉะนั้น ถ้าว่าไป พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ลุ่มลึกที่ลำบากที่สั่งสอน หรือที่จะเรียนเพราะว่าแต่ละคนจะต้องทำฐานะของตัว หรือจะว่าได้ว่า…พุทธศาสนามีหลายชนิดแต่ละคนก็มีพุทธศาสนาของตัว ฉะนั้น การที่จะสั่งสอน การที่จะชี้แจง การที่จะฟัง การที่จะเรียนพุทธศาสนานั้น…จะต้องพยายามที่จะทำด้วยตนเอง

 

ภาพ : https://www.liekr.com/post01139111012512

 

“ปฏิบัติ” นั้นเป็นสิ่งสำคัญมากโดยมากพูดการปฏิบัติ ก็กลัวกันแล้วเพราะว่าการปฏิบัตินั้นมีวิธีต่าง ๆ แล้วก็โดยมากวิธีต่าง ๆ นั้นบรรยายกันมาต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องทรมาน ต้องเหนื่อย ต้องเสียเวลามาก ไม่สามารถจะปลีกตัวออกมาปฏิบัติ ความจริงปฏิบัติพระพุทธศาสนา ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่ของยาก แต่ละคนทำได้ทั้งนั้น แต่ว่าต้องมี…“ความตั้งใจ” เมื่อเราอยากที่ปฏิบัติ มีความอยากขึ้นมา อยากและก็เห็นว่าศาสนานี้เป็นที่มีประโยชน์ย่อมเป็นการ “เปิดไฟ” แม้จะริบหรี่ก็เป็นความสว่างให้เห็น “อยาก” เกิดขึ้นฉันใด เราก็เริ่มสนใจก็เริ่มทำได้แล้วฉันนั้น เสมือนหนึ่งเราเข้าไปอยู่ในห้องมืด หรือถ้าที่มืดสนิท ไม่ทราบสวิตช์ไฟอยู่ที่ไหน เรามีไฟฉายหรือไม้ขีดไฟในห้อง ในตัวก็เปิดไฟฉายอันริบหรี่นั้น ไปหาสวิตช์ไฟ ก็สามารถจะเปิดไฟในห้องนั้นได้ฉันนั้น เราจะไม่สามารถจะพบนอกจากบังเอิญ โดยบังเอิญ

 

โดยมากแล้วก็ต้องทำเอง แม้จะด้วยไฟริบหรี่ เรามีอยู่กับตัวเรา (คือการสนใจเบื้องต้น) ก็สามารถไปเปิดไฟได้ ท่านเรียกว่า เรามีความร่าเริงใจ ความสบายใจ พอใจในการปฏิบัติ มีความพอใจในการค้นคว้า เป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิบัติพุทธศาสนา คือ เรียกว่ามี “ฉันทะ” ซึ่งต้องอาศัยความมี “วิริยะ” พากเพียร ขยัน คู่กับ “ขันติ” คือความอดทน

 

ท้ายสุดที่สำคัญคือ “วิมังสา” มีการเอาใจใส่ติดตามอยู่ตลอดเวลา ติดตามดูไปถึงไหน ไม่ควรเผลอ ไม่ฟุ้งซ่าน จนบรรลุผลสำเร็จ.

 

ฉะนั้น จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่ตัว “สมาธิ”

ซึ่งเรามีทุกคน แต่จะชี้ให้เห็นว่า “นี่เป็นจุดเริ่มต้น” ของการ “ปฏิบัติธรรม” อยู่ที่ตัว “สมาธิ” นี้

 

หากดูดีๆ แล้วจะพบว่าเรามีมาตั้งแต่เด็ก ๆ ครูบาอาจารย์ พ่อแม่ได้สั่งสอนบอกเสมอๆ ว่า “ต้องตั้งใจ” นะ แค่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของ “สมาธิ” ฉะนั้น สมาธิที่ดีขึ้นนั้น ก็มีได้ทุกคน ก็อาศัย ความเพียร ความอดทน คือ สร้างสมาธิให้มีขึ้นหน่อย แล้วเอามาใช้ ไม่ต้องทำสมาธิให้หนักแน่นมาก

 

แต่สมาธิที่ควบคุมได้ เราจะมาเห็นใจ เราทำสมาธิให้นิ่ง จิตใจให้นิ่ง ก็จะมาเห็น “ใจของเรา” ใจจะไม่เป็นสิ่งที่ลึกลับ ใจจะเป็นสิ่งที่เปิดเผย คือ… “เรา เปิดเผยตัวเราเอง” เมื่อทำนานๆ บ่อยๆ ฝึกสมาธิจนเกิดสภาวะที่เรียกว่า “ระลึกรู้สึกใจ” เป็นใจนิ่ง ใจสงบ ใจสว่าง ใจสะอาด ดุจดั่ง “น้ำนิ่ง” กับ “จิตนิ่ง” เราจะเห็นได้ว่า ใจของเราเมื่อได้กระทบอย่างไรก็ตาม ด้วย “อารมณ์” ก็ตาม ใจนั้นก็จะกระเพื่อม คือ “ใจ” นั้นจะเหมือนกับ “น้ำ” ฉันนั้น ใจเราจะมีคลื่น น้ำก็จะมีคลื่น “คลื่น” นั่นคือ “อารมณ์”


พุทธศาสนาศึกษาอะไร ก็ศึกษาความทุกข์นี่เอง : ความทุกข์เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ชอบจะต้องการพ้นทุกข์สำหรับตัวเองและทุกคน ฉะนั้นการศึกษาพุทธศาสนานั้นคือ… “การศึกษาอริยสัจ” นั่นเอง

 

แต่ก่อนจะศึกษาอริยสัจหรือได้ทราบอริยสัจก็ย่อมต้องดูกลไกของการศึกษาของพระพุทธศาสนา เข้าใจว่าจะต้องเริ่มต้นจากที่กล่าวมาแล้ว คือ จุดเริ่มต้น คือ ดูใจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “สมาธิ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า การศึกษาพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยาก ถ้าจิตใจจดจ่อ (มีฉันทะ) ถ้ามีความตั้งใจจริง

 

และที่สำคัญคือ มี “ความสุจริต” ทุกคนต้องสุจริต ถ้าทุจริตแล้วไม่มีทางเพราะว่าไปในทางผิดที่ผิดทุกครั้ง."

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow