Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ออกกำลังกาย สร้าง “พลังสมอง”

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 10 พ.ย. 63
2,163 Views

  Favorite

รู้หรือไม่ การที่เราพาลูก ๆ ไปวิ่งเล่น ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง จะช่วยสร้างระบบความจำของลูกให้ทำงานได้ดีขึ้น

 

เพราะเมื่อร่างกายได้ออกกำลัง จะเป็นการกระตุ้นสารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า BDNF (Brain-derived neurotrophic factor) ให้เกิดการหลั่งออกมา และเจ้าสาร BDNF นี้นี่เอง ก็คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นอาหารเสริมสำคัญของการสร้างเซลล์สมอง ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแตกแขนงของเซลล์ประสาทภายในสมองมากขึ้นด้วยเซลล์ประสาท (Neurons) เหล่านี้หากมีการเชื่อมต่อระหว่างกันมากจะทำให้การส่งข้อมูลต่าง ๆ ในสมองมีความรวดเร็วมากขึ้น ช่วยให้ลูกของเราสามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นนั่นเอง

 

ภาพ : Shutterstock

 

การได้ทำกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย จะทำให้สมองส่วนหน้า (Frontal lobe) เกิดการใช้งานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สมองส่วนนี้เกิดการพัฒนา และทำงานได้ดียิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น การที่เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเล่น ปั่นจักรยาน หรือปีนป่าย ก็เหมือนกับว่าเด็ก ๆ กำลังได้ออกกำลังกายอยู่ ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้เลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการศึกษาแบบภาคตัดขวาง (เป็นการศึกษาแบบสังเกตประเภทหนึ่งที่วิเคราะห์ข้อมูลของประชากร หรือของกลุ่มตัวแทนประชากร ที่เวลาใดเวลาหนึ่ง) กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนประถมศึกษาสองแห่งในรัฐนิวเซาท์เวลส์ออสเตรเลีย ศึกษากับนักเรียนจำนวน 55 คน แบ่งเป็นเด็กผู้ชายจำนวน 25 คน และเด็กผู้หญิงจำนวน 30 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษามีอายุเฉลี่ย 6 ปี 9 เดือน

 

ภาพ : Shutterstock

 

ผู้ศึกษาได้ทำการลดเวลาเรียนในหลักสูตรของทางโรงเรียน  แล้วทำการเพิ่มชั่วโมงการส่งเสริม และพัฒนาทักษะด้านร่างกายเข้าไปให้เด็ก ๆ แทน เพื่อพิสูจน์สมมติฐานที่เขาได้ตั้งขึ้น โดยใช้แบบทดสอบจำนวน 2 แบบทดสอบเป็นเกณฑ์ในการวัดผล ได้แก่แบบทดสอบที่มีชื่อว่า The Bruininks-Oseretsky Test of Motor Proficiency (2nd Edition) และ the Wechsler Individual Achievement Test II (Australian Edition) ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ใช้ในการวัดผลทักษะด้านร่างกาย(ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่) และทักษะด้านวิชาการตามลำดับ มีการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของความสามารถด้านร่างกาย และผลการเรียนโดยใช้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบ Pearson’s and Spearman’s correlation analyses 

 

ผลการศึกษาปรากฎว่า ... การมีทักษะด้านร่างกาย (กล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว) ที่แข็งแรงขึ้น ส่งผลเชิงบวกต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างมีนัยสำคัญ

 

เห็นไหมคะว่า การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับลูกแล้ว ยังช่วยสร้าง “พลังสมอง” ให้กับลูกได้อีกด้วย

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow