Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

3 เคล็ดลับ ช่วยอย่างไรดีเมื่อลูกเป็นเด็กขี้กังวล

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 29 ต.ค. 63
3,495 Views

  Favorite

ผวาง่าย ฝันร้าย ตื่นบ่อย วิตกกังวล กลัว ไม่กล้าแสดงออก ไม่อยากเสี่ยง สิ่งเหล่านี้ คือการแสดงออกที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาบางอย่างที่อยู่ภายในใจของเด็ก ๆ

 

และหลายๆ ครั้ง พฤติกรรมเหล่านี้ ก็ล้วนมีจุดกำเนิดจุดเดียวกันนั่นก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ความเครียด นั่นเองค่ะ

แม้ว่าความเครียดของเด็ก ๆ อาจจะมีที่มาที่ไปแตกต่างจากความเครียดของผู้ใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ว่า สิ่งนี้ไม่เป็นปัญหา หรือไม่ต้องการความช่วยเหลือนะคะ ในทางตรงกันข้าม ความกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูเผิน ๆ เหมือนว่าจะเป็น “เรื่องไม่เป็นเรื่อง” นี่หละ ที่เรา ในฐานะของผู้ใหญ่ ต้องหมั่นคอยสังเกตและให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพื่อไม่ให้ความกังวลเล็ก ๆ เหล่านี้ พัฒนาไปเป็นบุคลิกภาพของเด็ก หรือทำให้กลายเป็นคนวิตกจริตในอนาคตได้ค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

วันนี้ครูพิมจึงมีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากผู้อ่านทุกท่าน กับ 3 วิธีการง่าย ๆ ที่จะทำให้เด็ก ๆ คลายกังวลและลดความรู้สึกกลัวแบบไม่มีสาเหตุ (หรือมีแต่เราไม่รู้) ให้น้อยลงหรือหายไปได้ ลองมาทำความเข้าใจแต่ละวิธีการไปด้วยกันเลยนะคะ

 

1. เมื่อลูกกลัว จงแสดงการช่วยเหลือและสนับสนุน ไม่ใช่ซ้ำเติม

การแสดงออกซึ่งความกลัว หรือความกังวลของเด็ก ๆ หลาย ๆ ครั้งมักมีที่มาจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่คุ้นเคย ไม่ชิน หรือมีภาพจำที่ไม่ดีนักเกี่ยวกับสิ่งนั้นหรือเหตุการณ์นั้นมาก่อน แต่หลาย ๆ ครั้ง ผู้ปกครองหรือคนที่ไม่เข้าใจ มักจะคิดว่า เด็กกลัวหรือกังวลอะไรบางอย่างแบบไม่เข้าเรื่อง

เมื่อกลัวว่าเด็กจะไม่กล้าหาญ เราจึงมักใช้ความพยายามที่จะทำให้เด็กรู้สึกกล้า เช่น ใช้การขู่ บังคับ ผลักดันให้เกิดสถานการณ์ที่เด็กต้องเผชิญหน้ากับความกลัวโดยที่ยังไม่พร้อม หรือใช้คำพูดที่กดดัน มากกว่าเป็นการให้กำลังใจ

 

ภาพ : Shutterstock

 

สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ไม่ช่วยให้เด็กคลายกังวลเท่านั้น ทว่ามักจะยิ่งทำให้เด็กเกิดความรู้สึกกลัวหรือกังวลต่อสิ่งนั้น ๆ มากขึ้นไปอีก ดังนั้น วิธีการที่ดีกว่า ก็คือการพยายามทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ไว้ใจ หรือเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้มากขึ้น โดยที่มีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง เป็นกำลังใจหรือสนับสนุนอย่างใกล้ชิด เช่น เมื่อเด็กกลัวการเข้าไปในห้องที่มืด แทนที่เราจะพูดว่า “จะไปกลัวทำไม ไม่เห็นจะมีอะไรเลย”

ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ แก่เด็ก เราอาจจะใช้คำพูดในทำนองที่ว่า “มันไม่มีอะไรหรอกลูก ที่มืดเพราะว่ามันไม่มีไปเฉย ๆ หนูอยากให้แม่เข้าไปด้วยไหม” ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเด็กได้ดีกว่าค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

2. บอกลูกว่า ความกังวลเป็นเรื่องปกติ

หลาย ๆ ครั้ง เรามักใช้วิธีการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงอารมณ์หรือความรู้สึกในแง่ลบกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กหรือแม้แต่ตัวเราเองก็ตาม แต่ในทางทฤษฎีนั้น การที่เราพูดถึงความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ มักจะช่วยแก้ปัญหาทางจิตใจได้ดีกว่า ความกังวลของเด็ก ๆ ก็เช่นกันค่ะ หากเราสังเกตได้ว่า ลูกมีความกลัวหรือกังวลต่อสิ่งใด เราอาจจะชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งนั้น มากกว่าที่จะหลีกเลี่ยงและพยายามให้เด็กเก็บความรู้สึกนั้นไว้ เพราะบางครั้งปัญหาหรือสิ่งที่เด็ก ๆ คิด อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่หากเรามองข้ามไป หากเราได้ทำความเข้าใจ เด็ก ๆ ก็จะคลายความรู้สึกนั้นได้ง่ายกว่าที่คิดค่ะ

3. หาโอกาสให้ลูกได้ฝึกสมาธิบ้าง

คำว่าสมาธิในที่นี้ แม้จะฟังดูเป็นหลักการทางศาสนา แต่แท้ที่จริงแล้ว สมาธิ หรือ Mindfulness ในภาษาสากล เป็นสิ่งที่ช่วยเด็ก ๆ ในการคลายความวิตกกังวลต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้มากทีเดียวค่ะ และคำว่าสมาธิในที่นี้ ก็ไม่ใช่เพียงการนั่งอยู่กับที่ มือประสานที่หน้าตัก เท่านั้น แต่ยังมีวิธีการอีกมากมาย ที่ทำให้เด็ก ๆ รู้จักที่จะสร้างความสงบง่าย ๆ ให้กับตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นอย่างอิสระ การทำงานศิลปะ การอ่านหนังสือ หรือแม้แต่การดูแลต้นไม้ดอกไม้ เมื่อเด็ก ๆ รู้จักวิธีการที่จะสร้างความสงบ เมื่อเจอสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกังวล เด็ก ๆ ก็จะจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/Matureyourchild

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow