Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ที่มาของ สารทไทย และ ประเพณีแซนโฎนตา พิธีไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร

Posted By มหัทธโน | 17 ก.ย. 63
9,516 Views

  Favorite

วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถือเป็นวันสารทไทย และ เป็นวันแซนโฎนตา สำหรับชาวไทยเชื้อสายเขมร ในจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ เป็นพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  มาทำความรู้จัก วันนี้ในแต่ละภูมิภาคกันค่ะ 

 

ต้นกำเนิดของ "สารทไทย"    ในประเทศไทย

การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

กิจกรรมในวันสารทไทย          

กิจกรรมหลัก ๆ ของวันสารทไทย คือ การนำข้าวปลาอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือ ขนมกระยาสารท ไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ตักบาตรน้ำผึ้งที่มีเฉพาะชาวไทยมอญ

 

การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยนั้น มีความเชื่อว่า เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีการฟังธรรมเทศนา ถือศีล ปล่อยนกปล่อยปลา

ภาพ : http://www.94fmclub.net/news/detail/1200

 

 

ประเพณีภาคใต้          

มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน 10 เป็นสองวาระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

 

ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองวาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า

การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกเป็น 4 อย่างคือ

          1. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก


          2. ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความสัมพันธ์กับอินเดีย เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลางดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีทำบุญสารท หรือเดือนสิบ ซึ่งที่รู้จักกันดีคือ ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช

          3. ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต คำว่า จัดหมรับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ

 

การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย


 ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรตนั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ

กล่าวคือ เมื่อจัดหมรับ ยกหมรับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่

 

แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ

ขนมพอง โดยหมายถึงจะให้เป็นแพฟ่อง ล่องลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ,

ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม,

ขนมกง หรืองบางทีก็ใช้ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ,

ขนมดีซำ ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย

ขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์

 

สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควร เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา)

เปรตมีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหาร และขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต แล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล

 

การทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรตและชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลอง หมรับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย ซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน

 

          4. ประเพณีทำบุญตายาย หรือประเพณีรับ-ส่งตายาย โดยถือคติว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่มีบางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านี้เป็นต ายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย

 

แซนโฎนตา

จังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ จะมีงานสำคัญที่เรียกว่า ประเพณี “แซนโฎนตา” หรือพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

 

ความหมายของคำว่า แซนโฎนตา

แซนโฎนตา เป็นภาษาเขมร แปลตามหลักภาษาศาสตร์

คำว่า แซน ภาษาไทยน่าจะตรงกับคำว่า เซ่น หมายถึง การเซ่นไหว้

ส่วนคำว่า โฎนตา แยกเป็น 2 คำ คำว่า โฎน หมายถึงยาย หรือย่า ส่วน ตา หมายถึงปู่ หรือตา

 

ถ้าในภาษาไทยก็น่าจะใกล้เคียงกับคำว่าบรรพบุรุษ หรือญาติโกโหติกา นั่นเอง

 

 มีแค่ปีละครั้งเท่านั้น เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมานานกว่า 1,000 ปี ของชุมชนชาวพื้นเมืองเชื้อสายเขมร ทั้งสุรินทร์และศรีสะเกษ

เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะบรรพบุรุษหรือญาติที่ใกล้ชิด และหมายรวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วโดยไม่เจาะจงว่าเป็นใครด้วย

 

เรื่องเล่า ถึงทีี่มาของแซนโฎนตา

เล่ากันว่า สมัยก่อนพอถึงช่วงเทศกาลแซนโฎนตา ในช่วงกลางคืน จะได้ยินเสียงคนคุยกันที่ใต้ถุนเรือน เมื่อมองลอดช่องพื้นกระดานลงไปจะเห็นคนผมหงอก ผมดำ นั่งผิงไฟคุยกัน แต่ฟังไม่รู้เรื่องว่าพูดภาษาอะไร

 

คนเฒ่าคนแก่บอกว่านั่นคือ “ขม๊อจโฎนตา” หรือผีปู่ย่าตายาย ที่เทวดาท่านปล่อยให้มาเยี่ยมลูกหลานและรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศให้ในช่วงเทศกาลแซนโฎนตานั่นเอง

 

ประเพณี จูนโฎนตา

นอกจากการไหว้ผีในพิธีแซนโฎนตาแล้ว ยังมีประเพณีย่อยในช่วงนี้อีกอันหนึ่ง เรียกว่า ประเพณี จูนโฎนตา ที่บรรดาลูกหลานญาติพี่น้องจะกลับมาบ้านมาไหว้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และจะนำเอามะพร้าว ข้าวสารเหนียว ขนมต่าง ๆ มามอบให้ รวมทั้งเงินทอง เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้นำไปใช้ทำบุญในประเพณีแซนโฎนตา

 

หากพ่อแม่ปู่ย่าตายายเสียชีวิตไปแล้ว ก็จะไปกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพและมอบข้าวของเงินทองให้ เช่นเดียวกัน

 

ของเซ่นไหว้ 

 กรวยดอกไม้ 5 กรวย หรือที่เรียกว่าขันธ์ 5 ใส่พานพร้อมทั้งเงินทองของมีค่า เสื้อผ้าใหม่ ผ้าโสร่ง และผ้าซิ่นไหม ที่ยังไม่ได้ใช้ 1 สำรับ

 

พร้อม แป้งหอม น้ำหอม น้ำอบ หวี กระจก, สำรับกับข้าว 1 สำรับ เป็ดต้ม ไก่ต้ม

 

และขนมไทยและขนมเขมร หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ข้าวต้มห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน ขนมข้าวต้มหมู, ข้าวต้มมัด, ขนมเทียน, ขนมใส่ไส้, ขนมกันกันเตรือม, ขนมกันตางราง, ขนมนางเล็ด, ขนมไข่หงส์ ขนมข้าวเกรียบ และขนมข้าวพอง เป็นต้น

 

โดยของเซ่นไหว้ที่สำคัญของประเพณีนี้คือ ข้าวต้มมัด หรือที่ภาษาเขมรเรียกว่า “บายเบ็ณฑ์” ซึ่งหมายถึงข้าวที่ปั้นเป็นก้อนเพื่อใช้ใส่บาตรพระเป็นขนมที่ทำจากข้าวใหม่ที่เพิ่งออกรวง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow