Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คนสมัยก่อนเป็นสิวแล้วรักษายังไง ชวนดูตัวอย่างการรักษาสิวที่เราต้องขนลุก !

Posted By Plook Magazine | 01 ก.ย. 63
10,580 Views

  Favorite

เคยสงสัยไหมว่าปัญหาเรื่องสิวมีมานานแค่ไหนแล้ว ? ล่าสุดเราได้อ่านเจอเรื่องประวัติศาสตร์สิวจาก หมอผิง - พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล บอกว่า สิวเป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน โดยมีหลักฐานว่าชาวอียิปต์โบราณคิดค้นยาทาสิวที่ประกอบด้วยน้ำผึ้งคลุกกับอวัยวะของสัตว์มาบดรวมกัน หรือชาวอียิปต์เชื่อว่าสิวเกิดจากการพูดโกหก แต่ทำไมเราไม่เคยเห็นภาพคนหลายพันปีก่อนเป็นสิวกันเลยล่ะ ไม่ว่าจะในมิวเซียมดัง ๆ ก็ไม่เห็นจะมีรูปคนสมัยโบราณเป็นสิวเลย แล้วคนสมัยก่อนเวลาเป็นสิวเขารักษายังไง ?

 

 

Cr. Racked

 

‘สิว’ นั้นเป็นปัญหาให้คนปวดหัวมาตั้งนานแล้ว มีบันทึกไว้ว่า สิวมีมาตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน และอียิปต์เป็นต้นมา เพราะแม้แต่ในหลุมฝังศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนแห่งอียิปต์ที่มีสมบัติและทรัพย์สินมีค่ามากมายยังมียาทาสิวฝังรวมอยู่ด้วย ! 

 

 

ประวัติศาสตร์ ‘สิว’ และความเชื่อเกี่ยวกับ ‘สิว’

คำว่า 'สิว' หรือที่เราเรียกว่า ‘acne’ มาจากคำว่า ‘acme’ ในภาษากรีกแปลว่า จุด กระ หรือคราบ โดยก่อนที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่จะค้นพบสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้เกิดสิว มนุษย์ในสมัยโบราณ (ฝั่งยุโรป) เคยมีความเชื่อแปลก ๆ เกี่ยวกับสิวและการรักษาสิวมากมายในอดีตกาล เช่น

 

Cr. manrepeller

 

• ชาวอียิปต์เชื่อว่าสิวเกิดจากการพูดโกหก

• ชาวโรมันเชื่อว่าถ้าใช้ผ้าเช็ดสิวตอนดาวตก สิวจะตกออกไปจากหน้าด้วย

• รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธแห่งอังกฤษเชื่อว่าสิวเกิดจากมนต์ดำของแม่มด (Witchcraft) เพื่อที่จะทำลายใบหน้าของหญิงสาวในยุคที่การปรากฏตัวของผู้หญิงเริ่มถูกให้ความสำคัญ   

• คนสมัยก่อนเชื่อว่า เมื่อกดสิวสิ่งที่ออกมาคือหนอนแมลงชนิดหนึ่ง (a maggot) แต่ความจริงแล้วมันคือก้อนไขมันจากรูขุมขนต่างหาก 

• ในสมัยปี ค.ศ.1638-1648 มีความเชื่อว่า สิวเกี่ยวข้องกับประจำเดือนและคนที่มีความรักซึ่งเป็นความเชื่อที่น่าจะใกล้เคียงกับปัจจุบันมากที่สุด

 

 

การรักษา ‘สิว’ ของคนโบราณในอดีต

ก่อนที่เราจะมีบิวตี้บล็อกเกอร์และคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาผิวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ชาติแรกที่เริ่มออกมาพูดถึงการรักษาสิวคือ ชาวโรมันโบราณ โดยนิยมผสมกำมะถัน (Sulfur) ลงในอ่างอาบน้ำแร่ (Mineral baths) เพื่อรักษาสิว ซึ่งวัยรุ่นในยุคนั้นฮิตลงไปแช่ในอ่างอาบน้ำที่ผสมด้วยกำมะถันเพื่อรักษาสิว แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 4 ก็มีความเชื่อว่า ให้เช็ดสิวด้วยผ้าระหว่างที่ดูดาวตก แล้วสิวมันจะหลุดออกไปจากหน้าเหมือนดาวที่ตกจากฟ้า  

 

Cr. Wellcome Images

 

ในส่วนของคนกรีกและคนอียิปต์จะทันสมัยขึ้นมาหน่อย เพราะนิยมรักษาสิวด้วย ‘น้ำผึ้ง’ โดยมีนักปรัชญากรีกบางคนที่สนใจศึกษาเรื่องสิว แนะนำว่าให้ใช้น้ำมันหอมระเหย (Galbanum) และโซดาเทลงไปผสมกับน้ำส้มสายชูและน้ำผึ้ง เพื่อที่จะทำให้สิวหายไป นอกจากนั้นก็ยังมีคนเชื่อว่า ผักชีฝรั่งบดสามารถรักษาสิวได้เหมือนกัน (แต่ความจริงแล้วผักชีฝรั่งบดใช้รักษาแผลสดต่างหาก)

 

ส่วนในประเทศไทยเราในสมัยอยุธยาตอนปลาย เครื่องสำอางและสกินแคร์คู่บ้านในสมัยนั้นก็คงหนีไม่พ้น ‘แป้งร่ำ’ หรือ ‘ดินสอพอง’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่อยากทำเครื่องหอมขึ้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านจะใช้ดินสอพองมาทา ทา ทาเพื่อช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด บำรุงผิวหน้าไม่ให้หมองคล้ำ และยังช่วยป้องกันการระคายเคืองจากสิวและผดผื่นได้ด้วย

 

แต่บางตัวอย่างของการรักษาสิวในอดีตที่ผิดไปมากและสะเทือนใจที่สุดเลยก็คือ หลักฐานการบันทึกของ Robert Caro’s biography of Lyndon B. Johnson คือเคยมีว่าที่ประธานาธิบดีคนหนึ่งได้ทดลองใช้ ‘ขี้วัว’ พอกไปที่หน้าของคนที่เป็นสิวเห่อมาก ๆ เพื่อจะดูว่าขี้วัวสามารถรักษาสิวได้หรือไม่ ก่อนจะใช้ผ้าเช็ดออก ถ้าเป็นสมัยนี้เราคงได้แต่ร้องจ๊ากว่าไม่เป็นไรจ้าาา อย่าหาทำเลย

 

สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตก็อาจะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราดูแลผิวหน้าด้วยวิธีที่เหมาะสมกับยุคสมัย และอย่าไปหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีองก์กรที่น่าเชื่อถือมารองรับ และเราขอเป็นกำลังใจให้คนที่เป็นสิวมีสติและสู้ต่อไปกับการรักษาผิวหน้าอย่างถูกวิธีน๊าาา 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

กินอะไรแล้วสิวไม่ขึ้น ช่วยบำรุงผิวให้แข็งแรง สิวหายเร็วขึ้น !

วิธีลดอาการบวมแดงของสิวอักเสบให้ดีขึ้นภายใน 24 ชม.

กินอะไร นอนกี่โมง เพื่อให้ผิวสวยสุขภาพดี มีออร่าแบบสาวเกาหลี

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow