Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

7 ทักษะของคนยุคเก่า ที่เราควรสอนเด็กยุคใหม่

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 27 ส.ค. 63
3,350 Views

  Favorite

การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและลักษณะทางสังคมในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่อาจจะทำให้ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนรู้สึกว่า เรื่องที่เราเคยผ่านมาในวัยเด็กนั้น ช่างดูล้าหลัง โบราณเสียเหลือเกิน แตกต่างจากความทันสมัยในยุคนี้ ที่แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็ยังรู้จักการใช้สมาร์ทโฟนกันแล้ว เผลอ ๆ ยังใช้ได้คล่องแคล่วกว่าเราเสียอีก

 

แต่เชื่อไหมคะว่า กิจกรรมบางอย่างที่คนรุ่นคุณพ่อคุณแม่หรือคุณปู่คุณย่าเคยทำอย่างเคยชินนั้น ไม่เพียงมีประโยชน์ในเชิงประวัติศาสตร์หรือเก็บไว้เล่าให้ลูกหลานฟังเท่านั้น (ฮ่า) แต่ทักษะหรือกิจกรรมบางอย่าง ยังสามารถนำมาใช้ฝึกฝนเด็ก ๆ รุ่นนี้ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการหลาย ๆ อย่างให้กับพวกเขาได้ด้วย

 

ภาพ : Shutterstock

 

ในบทความนี้ครูพิมจะขอยกตัวอย่างกิจกรรมและทักษะง่าย ๆ ของคนยุคเก่า มาเล่าสู่กันฟังค่ะว่า จะสามารถนำทักษะเหล่านี้ มาช่วยเหลือเด็ก ๆ ยุคใหม่ได้อย่างไรบ้าง

 

1. การเขียนจดหมายหรือบันทึก

ช่วยฝึกทักษะด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก การคิด วิเคราะห์ เรียบเรียงภาษาให้มีความสละสลวย ฝึกสมาธิ ความรอบคอบ (ไม่พิมพ์แล้วลบง่าย ๆ แบบการใช้คอมพิวเตอร์)

2. การล้างจาน

ล้างจานด้วยเครื่องเป็นเรื่องทันสมัย แต่ล้างจานด้วยมือสิ นอกจากต้องให้สะอาดแล้ว ยังต้องระวังจานแตก บิ่น อีกด้วย การล้างจานจึงไม่ได้ช่วยแค่เรื่องสุขอนามัยหรือวินัยเท่านั้น แต่ยังเป็นกิจกรรมฝึกสมาธิได้อย่างดีเลยล่ะค่ะ

3. การรับโทรศัพท์

แปลกใจใช่ไหมคะ ว่าการรับโทรศัพท์นั้นยากอย่างไร แต่เนื่องจากปัจจุบันนั้น สมาชิกในบ้านส่วนใหญ่ มักจะมีโทรศัพท์ส่วนตัว จึงเคยชินกับการพูดคุยกับบุคคลที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ วิธีการรับโทรศัพท์แทน หรือการรับโทรศัพท์เพื่อรับธุระของผู้อื่น จึงกลายเป็นปัญหาสำหรับเด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คน ทั้งในเรื่องของมารยาททางโทรศัพท์ และการจับใจความสำคัญ ที่จำเป็นต้องมีการสอนหรือช่วยฝึกฝนนั่นเองค่ะ

4. การทำสวน / ดูแลต้นไม้

ทักษะที่เหมือนจะง่าย แต่กลับไม่ง่าย เพราะการเลี้ยงต้นไม้ให้โต ต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ และความอดทนประกอบกัน 

5. การเย็บผ้า

“แม่จ๋า เย็บผ้าให้หนูหน่อย” หากทุกครั้งที่ปัญหาเสื้อขาด ผ้าร่น กางเกงโดนเกี่ยวมา ต้องจบที่แม่ ครูพิมคิดว่า จังหวะนี้เป็นโอกาสที่ดีเลยล่ะค่ะ ที่เราจะได้สอนทักษะนี้ให้กับเด็ก ๆ ไปด้วยเลย โดยเริ่มจากวิธีการง่าย ๆ อย่างการเย็บ เนา ปะ ชุน ก็เพียงพอแล้วค่ะ

6. การซ่อมแซมของใช้

ใช้ไม่ได้ก็ทิ้ง ! นอกจากจะเกิดขยะเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ ขาดโอกาสในการฝึกฝนตนเองในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเห็นคุณค่าของสิ่งของ ทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะในการบริหารจัดการทรัพย์สิน และความอดทน เป็นต้นค่ะ

7. การอ่านแผนที่

หากการหลงทางเป็นเรื่องปกติของลูก ๆ หลาน ๆ เรา และ google map คือทางออกเดียวของปัญหา ครูพิมคิดว่า น่าจะถึงเวลาที่เราต้องสอนเด็ก ๆ อ่านแผนที่กันแล้วล่ะค่ะ แม้ว่าจุดประสงค์ในการอ่านแผนที่ในยุคสมัยนี้ จะไม่ใช่เพื่อการเดินทางอีกต่อไป (เพราะใช้สมาร์ทโฟนอาจจะไวกว่า) แต่การอ่านแผนที่ ช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกการมองภาพรวม ภาพย่อย ฝึกการวางแผน ความละเอียดรอบคอบ ฝึกการอ่านสัญลักษณ์ และยังช่วยให้เด็ก ๆ มีความรู้รอบตัวเพิ่มขึ้น และทำให้เข้าใจเรื่องของภูมิศาสตร์ผ่านกิจกรรมสนุก ๆ ได้อีกด้วยค่ะ

 

ทักษะเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของทักษะอีกหลายอย่าง ที่เราสามารถนำมาสอนเด็ก ๆ ได้ เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และสร้างช่วงเวลาที่ดีร่วมกันกับเด็ก ๆ ซึ่งเราแทบจะไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเพิ่มเติมเลยล่ะค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow