Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จดทะเบียนสมรส หรือ ทะเบียนรับรองบุตร สำคัญอย่างไรเมื่อมีลูก

Posted By พระจันทร์สีส้ม | 25 ส.ค. 63
2,947 Views

  Favorite

ในยุคนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายคู่อาจแต่งงานและมีเจ้าตัวน้อย แต่ตัดสินใจไม่จดทะเบียนสมรสกัน ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ทราบหรือไม่คะว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบในด้านกฎหมายเกี่ยวกับลูกอยู่เหมือนกันนะ ลองมาดูกันว่า การที่คุณพ่อคุณแม่ไม่จดทะเบียนสมรส ส่งผลอย่างไรบ้าง

 

People photo created by freepik - www.freepik.com

 

ไม่มีทะเบียนสมรส และทะเบียนรับรองบุตร บุตรเป็นที่ชอบของแม่เพียงฝ่ายเดียว

แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะมีลูกที่ให้กำเนิดมาด้วยกัน แต่หากไม่มีทะเบียนสมรสแล้ว บุตรจะถือเป็นที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณแม่แต่เพียงผู้เดียว นั่นหมายความว่า สิทธิในตัวลูกจะเป็นของฝ่ายคุณแม่เพียงคนเดียว และคุณพ่ออาจไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย หรือในกรณีที่เลิกราหย่าร้างกัน คุณแม่ก็ไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรจากคุณพ่อได้ ยกเว้นว่า คุณพ่อจะดำเนินการรับรองให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตน ด้วยการจดทะเบียนรับรองบุตรแล้วนั่นเองค่ะ

จดทะเบียนสมรส หรือทะเบียนรับรองบุตร ทำให้ลูกสามารถใช้นามสกุลพ่อได้

การจดทะเบียนสมรส หรือทะเบียนรับรองบุตรทำให้บุตรมีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณพ่อ และสามารถใช้นามสกุลพ่อได้

จดทะเบียนสมรส หรือทะเบียนรับรองบุตร ทำให้ลูกมีสิทธิในมรดก

จดทะเบียนสมรส หรือทะเบียนรับรองบุตร ทำให้ลูกมีสิทธิรับมรดกจากผู้เป็นพ่อได้ และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดกรณีที่บิดาถึงแก่ความตายด้วย

 

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าการแต่งงานจะเป็นเรื่องของความรัก ไม่ใช่แค่เอกสารใบเดียว แต่เอกสารเหล่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ต้องการให้คุณพ่อและคุณแม่มีสิทธิในตัวของลูกเท่า ๆ กัน ก็อย่าลืมให้คุณพ่อจดทะเบียนรับรองบุตรด้วยนะคะ

 

วิธีการจดทะเบียนรับรองบุตร

การจดทะเบียนรับรองบุตรก็สามารถทำได้โดย ให้คุณพ่อเป็นผู้ยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต แห่งใดก็ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยเตรียมหลักฐานได้แก่

- สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ของบิดา มารดา และบุตร                                 

- บัตรประจำตัวประชาชน ของบิดา มารดา สูติบัตรของบุตร ไปแสดง

- พยานบุคคลจำนวน 2 คน

 

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและคุณแม่ของเด็ก และคุณพ่อต้องบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย คือ มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส คืออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์เท่านั้นค่ะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • พระจันทร์สีส้ม
  • 8 Followers
  • Follow