Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สอนลูกให้รู้จักขอโทษอย่างได้ผล...ต้องทำแบบนี้

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 29 ก.ค. 63
3,438 Views

  Favorite

เวลาดีก็ดีใจหาย...แต่เวลาร้าย วิ่งหนีลูกเดียว ไม่ยอมรับความผิดใด ๆ ทั้งนั้น ลูกบ้านไหนเป็นแบบนี้ ยกมือให้ครูพิมดูทีค่ะ เชื่อว่าน่าจะยกกันหลายบ้านเลยทีเดียว

 

เรื่องของการทำผิดแต่ไม่อยากหรือไม่ยอมขอโทษนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองกลุ้มอกกลุ้มใจกันไม่น้อย เพราะกลัวว่าพอออกนอกบ้านไปแล้ว หากลูกเราทำพฤติกรรมเช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะเป็นที่ไม่ต้อนรับของสังคมได้ วันนี้ครูพิมจึงมีเทคนิคดี ๆ เชิงจิตวิทยา มาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปปรับใช้ในการสอนให้เด็ก ๆ รู้จักขอโทษได้อย่างเต็มใจกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

1. เปลี่ยนการบรรยายเป็นการอธิบายให้เห็นภาพ

หลายครั้งเวลาที่เราเห็นลูกทำผิด เรามักจะรีบอธิบายความผิดนั้นอย่างยืดยาว พร้อมกับอธิบายต่ออีกว่า จะต้องขอโทษอย่างไร ทำไม เพื่ออะไร หรือบางครั้งก็พ่วงยาวไปจนถึงความผิดในครั้งอดีต ซึ่งการพูดในลักษณะนี้ มักไม่ค่อยก่อให้เกิดประโยชน์ หรือทำให้เด็ก ๆ รู้สึกอยากขอโทษแต่อย่างใดเลยค่ะ ในทางตรงกันข้าม การพูดบรรยายยาว ๆ จะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเบื่อหน่าย และไม่ได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้ว ความผิดของเขาคืออะไร และทำไมจึงต้องขอโทษหรือรับผิดชอบ ดังนั้น วิธีการที่ดีกว่า คือการอธิบายอย่างกระชับและรวดเร็วเลยว่า สิ่งที่ทำผิดนั้น ก่อให้เกิดผลอะไรขึ้น และการขอโทษที่ว่านั้น ควรทำอย่างไรบ้าง เช่น ยกมือไหว้ รีบเก็บของ เช็ดน้ำที่หก ฯลฯ

2. สร้างความเข้าใจ อย่าเอาแต่ใช้การลงโทษ

เมื่อเด็กทำผิดและกำลังจะถูกลงโทษ เขาย่อมต้องการคำอธิบายและการสร้างความเข้าใจ ไม่ต่างจากผู้ใหญ่อย่างเราค่ะ โดยเฉพาะเมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดครั้งแรก หรือเป็นความผิดที่มาจากความไม่รู้ หรือข้อจำกัดของวัยและประสบการณ์ ซึ่งหากผู้ใหญ่ละเลยในจุดนี้ไป จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไม่ชอบการขอโทษ และต่อต้านการรับผิดชอบได้ เพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงถูกลงโทษเช่นนั้นนั่นเองค่ะ

3. ทำไปด้วยกัน ไม่ผลักเป็นภาระของลูก

ข้อนี้ครูพิมอยากดอกจันท์ไว้สักสามสี่ดอก เพราะการรับผิดชอบร่วมกันกับลูก เป็นหัวใจสำคัญอย่างมากที่ทำให้เด็ก ๆ ซึมซับพฤติกรรมที่ดีนี้ โดยที่เราแทบจะไม่ต้องบอกหรือสอนอะไรให้มากความเลยค่ะ วิธีการง่าย ๆ ก็คือเมื่อลูกทำผิดพลาด โดยเฉพาะในครั้งแรก ๆ ของการทำผิดนั้น เราควรร่วมรับผิดชอบไปกับลูกด้วยเสมอ ลงมือทำไปด้วยกัน ขอโทษก่อนหรือขอโทษด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็ก ๆ เกิดเป็นภาพจำและเข้าใจได้ง่ายที่สุด และเป็นวิธีการที่ทำให้เด็ก ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมได้ในเชิงบวกอีกด้วย

 

สำหรับเทคนิคทั้ง 3 ข้อนี้ จะว่าง่ายก็ง่าย แต่หากไม่นำไปฝึกใช้ ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องยากได้นะคะ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด จึงหนีไม่พ้นการลงมือทำหรือนำไปปฏิบัติในสถานการณ์จริง ครูพิมขอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านโชคดีค่ะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow