Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สอนลูกอย่างไร ให้เรียนรู้ “สิทธิ์” ของตนเอง

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 23 ก.ค. 63
2,090 Views

  Favorite

การสอนให้ลูกรู้จักปกป้อง “สิทธิ์” ของตนเอง เป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรจะปลูกฝังให้กับลูกตั้งแต่วัยเด็ก

 

โดยเริ่มจากพ่อแม่เองจะต้องแสดงให้ลูกเห็นถึง “สิทธิ์” ส่วนตัวที่ลูกพึงมีตั้งแต่วัยเด็กทารก เช่น การไม่ให้คนแปลกหน้าอุ้ม กอด หอม หรือมาสัมผัสตัวลูกของเราหากลูกของเราไม่ยินยอม เพราะเรามักจะเห็นอยู่บ่อยครั้งว่า พ่อแม่จะยินดีที่มีคนเข้ามาขออุ้ม ขอหอมลูกของตนเอง เพราะน่ารัก ถึงแม้ลูกจะร้องไห้ งอแง พ่อแม่ก็จะไม่สนใจ และคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ

 

ภาพ : Shutterstock

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้กำลังสร้างความเครียด และทำให้ลูกรู้สึกถูกคุมคามอยู่ พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจว่า “ความไว้ใจ” กว่าจะสร้างขึ้นได้ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะในเด็กเล็ก “ความไว้ใจ” ที่ลูกจะมอบให้ใครคนใดคนหนึ่งนั้นต้องใช้ระยะเวลา การที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้คนแปลกหน้าเข้ามากอด หอม หรืออุ้มลูกนั้น ย่อมสร้างความรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจให้กับลูก

ทางแก้ไขในกรณีนี้ ก็คือ หากมีคนแปลกหน้ามาชื่นชม หรืออยากเล่นกับลูกของเรา สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือ การให้เวลาลูกได้ทำความคุ้นเคยก่อน อาจเริ่มด้วยการพูดคุย หยอกล้อ แต่ที่สำคัญลูกยังคงต้องอยู่ในอ้อมกอดเรา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกว่าเรายังคงอยู่ตรงนี้ อย่าผลักไสลูกออกไปโดยที่จิตใจของลูกยังหวาดกลัวและไม่มั่นคง วิธีนี้นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับลูกแล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานในเรื่องของการปกป้องสิทธิ์ของตนเองอีกด้วย

ในวัยเด็กพ่อแม่หลายคนมักละเลย และไม่สนใจในเรื่อง “สิทธิ์” ของลูก พ่อแม่มักมองว่าการที่ลูกเข้ากับคนง่าย ไม่งอแงเวลาเจอคนแปลกหน้าเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความจริงแล้วการที่ลูกร้องไห้เมื่อเจอคนแปลกหน้า ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่ลูกแสดงออกเมื่อรู้สึกว่าตนเองกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สบายใจ หรืออยู่กับบุคคลที่ตนเองไม่รู้สึกไว้วางใจเท่านั้นเอง ซึ่งหากพ่อแม่ให้ความใส่ใจและให้เวลาลูกปรับตัว ค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ ให้ความรู้ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

 

เห็นไหมคะว่าเรื่อง “สิทธิ์” ของลูกนั้น เป็นเรื่องพื้นฐานที่เริ่มได้ง่าย ๆ จากเรื่องใกล้ตัว พ่อแม่ควรตระหนักในเรื่องการไม่ให้คนแปลกหน้าเข้าถึงตัวลูก เมื่อลูกไม่ยินยอม พ่อแม่ต้องปกป้อง “ความปลอดภัยของลูกต้องมาก่อนความต้องการของคนรอบข้างเสมอ" และในวันหนึ่งลูกจะรับรู้ได้ว่า “การปกป้องสิทธิ์และความเป็นส่วนตัว เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกจะให้ใครมาละเมิด ไม่ได้”

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow