Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คุยกับลูกวัยรุ่นอย่างไร...ในวันที่พ่อแม่ต้องแยกทาง

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 21 ก.ค. 63
3,244 Views

  Favorite

หนึ่งในเรื่องที่ติดอันดับความลำบากใจของพ่อแม่มากที่สุดในการเลี้ยงดูลูก คงจะหนีไม่พ้นปัญหาเกี่ยวกับการแยกทางหรือหย่าร้างกัน โดยเฉพาะความยากในการสื่อสารและทำความเข้าใจกับลูก

 

ในเรื่องนี้ ครูพิมเองก็มีประสบการณ์จากการฟังและให้การช่วยเหลือมาหลากหลายครอบครัว จึงอยากจะนำเอาวิธีการสื่อสารที่จะช่วยให้ทุกครอบครัวผ่านเรื่องราวนี้ไปได้ง่ายขึ้นมาฝากกันค่ะ โดยเฉพาะกับครอบครัวที่กำลังมีลูก ๆ หลาน ๆ อยู่ในช่วงวัยรุ่น และนี่คือ ข้อปฏิบัติ 3 ข้อ ที่ควรทำก่อนจะมีการแยกทางกันเกิดขึ้นค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ข้อปฏิบัติ

1. เตรียมตัวก่อนล่วงหน้า

การเตรียมตัวในที่นี้ หมายถึง การเปิดโอกาสให้ลูกได้รับรู้ถึงสิ่งที่จะเป็นไป ตามระยะเวลาอันเหมาะสม ไม่ควรทำให้เป็นความลับ หรือแจ้งข่าวแบบทันทีทันใด แต่ควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างพ่อแม่ ให้มีความสอดคล้องกัน ดังนั้น ทั้งพ่อและแม่ จึงควรพูดคุยและตกลงกันให้ชัดเจนก่อนในทุก ๆ เรื่องเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้การสื่อสารกับลูกเกิดความสับสนค่ะ

     • แสดงออกให้ลูกรับรู้ถึงการเป็นที่รักของพ่อกับแม่เหมือนเดิม

     • สื่อสารถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

2. สื่อสารด้วยกัน คือหัวใจสำคัญ

หลาย ๆ ครั้ง เรามักเลือกที่ให้ลูกรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ด้วยตัวเอง หรือรู้จากผู้อื่น หรือรู้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้บางครั้ง ตัวเด็กเกิดคำถามหรือมีความค้างคาใจ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ที่เริ่มมีความคิดเป็นเหตุเป็นผลแล้ว การสื่อสารของพ่อแม่จึงควรมีความสอดคล้องกับสถานการณ์และช่วงวัยของลูกด้วย โดยคำแนะนำก็คือ การหาโอกาสร่วมกันทั้งพ่อและแม่ในการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา และให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตบางส่วนของตนเอง โดยมีข้อพึงระวังอย่างหนึ่งคือ อย่าพยามยัดเยียดทุกหัวข้อหรือทุกประเด็นปัญหาเข้าไปในการสื่อสารเพียงครั้งเดียว แต่ควรมีความค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับการเตรียมตัวล่วงหน้าตามข้อแรกค่ะ

3. อย่าใช้ลูกเป็นตัวแทนของตนเอง

สิ่งหนึ่งที่มักทำให้เด็กรู้สึกแย่และสับสนจากการหย่าร้างของพ่อแม่ ก็คือการที่พ่อแม่ใช้ลูกเป็นตัวแทนของตนหรืออีกฝ่าย ในการสื่อสารหรือในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งการกระทำเช่นนี้ มักจะทำให้เด็กเกิดความอึดอัดและรู้สึกสับสน นอกจากนี้ ยังควรระวังในการสื่อสารที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นชนวนที่ทำให้เกิดปัญหาระหว่างพ่อแม่ด้วยนะคะ เพราะโดยทั่วไปแล้ว เด็ก ๆ และวัยรุ่น มีแนวโน้มที่จะโทษว่าตนเป็นสาเหตุของการแยกทางของพ่อแม่อยู่แล้ว เราจึงต้องระวังในจุดนี้ให้มากค่ะ

 

ปัญหาการแยกทางหรือหย่าร้างนั้น ไม่มีครอบครัวใดที่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง แต่เมื่อเหตุการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้น ก็ควรที่จะมีการเตรียมการรับมือและวางแผนไม่แตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ของชีวิต โดยเฉพาะเมื่อชีวิตของเรามีเด็ก ๆ ที่น่ารักเข้ามาเป็นส่วนร่วมด้วยแล้วนั้น สิ่งที่เราต้องคำนึงถึง จึงไม่ใช่เพียงชีวิตตัวเองหรือชีวิตคู่อีกต่อไปค่ะ ขอให้ทุกท่านโชคดีนะคะ แล้วพบกันในบทความต่อ ๆ ไปค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow