Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สาระธรรม จาก ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร - สูตรของการหมุนกงล้อธรรม ที่ทรงแสดงเพียงครั้งเดียว

Posted By มหัทธโน | 05 ก.ค. 63
26,723 Views

  Favorite

สาระธรรม แห่งปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ปฐมเทศนา เทศนาธรรมแรกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า สูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป"

ทรงแสดงครั้งแรกในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือ วันอาสาฬหบูชา ซึ่งพบว่า หลังจากพระองค์ตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง 5 แล้ว ก็มิได้ตรัสแสดงสูตรนี้อีกเลย


โดยตลอดระยะเวลา 45 พรรษาแห่งการตรัสเทศนาเผยแผ่พระศาสนานั้น ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถา ขยายความแห่งปฐมเทศนา ในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ 

source : Shutterstock

 

เหตุใดเรียก "กงล้อแห่งธรรม - ธรรมจักร"

ปฐมเทศนาหรือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกเวไนยสัตว์ทั้งหลายออกจากห้วงวัฏสงสาร 

 

โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือ ล้อรถ หรือที่เรียกว่า “จักร” นั่นเอง ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า “จักรธรรม” หรือ “ธรรมจักร”

ตามธรรมดา “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือดุม กำ และ กง 
ส่วน “จักรธรรม” นี้  ทรงอุปมาเปรียบ โพธิปักขิยธรรมเป็นดุม - ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นกำ - อริยสัจ ๔ เป็นกง

 

Source : ShutterStock


สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

การประกาศทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)

ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่

- ไม่เอียงไปทาง กามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นการประกอบตนแสวงหาความสุขจากกามคุณทั้ง 5

- ไม่เอียงไปทางอัตตกิลมถานุโยค อันเป็นการทรมานตนโดยหาประโยชน์มิได้

ซึ่งข้อปฏิบัติทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา นี้ เป็นข้อปฏิบัติอันกระทำเครื่องเห็น (ดวงตา) และเครื่องรู้ (ญาณ) ให้เป็นปกติ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม หรือ รู้ดี เพื่อความดับตัณหา เพื่อพ้นไปจากข้าศึก คือ กิเลส เป็นทางของพระอริยเจ้า
 

Source : ShutterStock


???? อริยสัจ 4 ????

ทุกข์ -สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์)-นิโรธ (การดับทุกข์) -มรรค (หนทางสู่การดับทุกข์)
 

ความทุกข์ 

ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น 

ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ 5 เป็นทุกข์

สาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย)  

ได้แก่ "ตัณหา" ความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ ได้แก่ 

กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม 
ภวตัณหา ความทะยานในภพ 
วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ

ความดับทุกข์ (นิโรธ)  

คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค 

หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (มรรค)  

ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8

1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
 

ญาณทัสนะในอริยสัจ 4 อันมีรอบ 3 อาการ 12 ของพระพุทธเจ้านั้นหมดจดดีแล้ว พระองค์จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมทั้งในโลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่

 

จากหลักฐานอันมีปรากฏอยู่นั้น พบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง 5 เป็นปฐมแล้ว มิได้ตรัสแสดงสูตรนี้อีกเลยตลอดระยะเวลา 45 พรรษาแห่งการตรัสเทศนาเผยแผ่พระศาสนานั้น ล้วนแต่ทรงแสดงธรรมกถาขยายความแห่งปฐมเทศนาในแต่ละหมวดโดยเอกเทศ 

 

???? ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ ????

สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา

 

#สามเณรปลูกปัญญาธรรม โดย #ทรูปลูกปัญญา
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow