Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

3 กลยุทธ์หยุดลูกขี้โมโห ฉบับนักจิตวิทยา

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 02 ก.ค. 63
4,328 Views

  Favorite

เด็กขี้โมโห แค่ได้ยินก็ฟังดูไม่น่ารัก ไม่น่าอภิรมย์เอาเสียเลยใช่ไหมล่ะคะ แต่ก็เป็นเรื่องที่หลาย ๆ บ้านไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่อเด็ก ๆ ที่น่ารักของเรา กำลังอยู่ในวัย 3-4 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังพัฒนาความเป็นตัวเองอย่างถึงขีดสุด (แต่ก็ยังสุดได้อีกในช่วงวัยรุ่น)

 

อันที่จริงแล้ว อารมณ์เหวี่ยงวีน ขี้โวยวาย เอาแต่ใจ ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมทางด้านลบอย่างเดียวเสมอไปนะคะ เพราะเบื้องหลังของพฤติกรรมนี้ ก็คือการพัฒนาทักษะเกี่ยวกับตนเอง การรับรู้อำนาจและตัวตน ซึ่งก็เป็นพัฒนาการตามปกติของมนุษย์ค่ะ เพียงแต่เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคมแล้วนั้น การที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ที่จะระงับอารมณ์และจัดการกับการแสดงออกของตัวเองนั้น ก็เป็นสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

แล้วเรา ในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะช่วยหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ให้กับลูก ๆ ได้อย่างไรบ้าง วันนี้ ครูพิมมีเทคดี ๆ มาแนะนำอีกเช่นเคยค่ะ

1. คลายก่อนเครียด

หลาย ๆ ครั้งที่เด็ก ๆ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เอาแต่ใจ หรือโมโหร้าย เพราะเกิดจากความเครียดสะสมหรือไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกในใจของตนเองอย่างไรดี การให้เด็ก ๆ ได้มีเวลาผ่อนคลายตัวเองเป็นระยะ ๆ ในแต่ละวัน โดยเฉพาะหลังจากที่ทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดหรือต้องอยู่ในกรอบในระเบียบเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น ก่อนหรือหลังเรียน ก่อนหรือหลังทานข้าว จะเป็นหนึ่งวิธีการที่จะทำให้เด็ก ๆ จัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น ลดความเหนื่อยล้า และทำให้มีแนวโน้มที่จะลดพฤติกรรมที่ไม่น่ารักลงได้ค่ะ

2. อย่ามองข้ามปัจจัยเล็ก ๆ น้อย ๆ

ก่อนที่เด็ก ๆ จะเริ่มมีพฤติกรรมโมโห โวยวายในระดับสูง มักจะมีสัญญาณบางอย่างบ่งบอกมาก่อนเสมอ ทันทีที่เรารู้สึกถึงสัญญาณนั้น ครูพิมแนะนำให้เช็คก่อนเลยค่ะว่า เด็ก ๆ กำลังอยู่ในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในนี้หรือเปล่า

- หิว

- ง่วง

- เหนื่อย

- ไม่สบายตัว

เพราะ 4 ปัจจัยที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ เป็นสาเหตุสำคัญของพฤติกรรมใหญ่ ๆ ที่เราเห็นมานักต่อนักแล้วค่ะ ดังนั้น เช็คก่อนนะคะ จะได้ช่วยหยุดปัญหาได้อย่างตรงจุดค่ะ

3. จัดการสภาพแวดล้อม ก่อนจัดการเด็ก

หลาย ๆ ครั้งเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่เราไม่สนับสนุน เรามักเลือกที่จะจัดการที่ตัวเด็กก่อน แต่ในบางสถานการณ์ สภาพแวดล้อมก็เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กทำพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้น ดังนั้น หากสถานการณ์ใดที่เราสามารถจัดการกับสภาพแวดล้อมได้ก่อน เช่น เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนเสื้อผ้า (ที่อาจจะกำลังเลอะเทอะ) เปลี่ยนเสียงรบกวน หรือนำสิ่งของเจ้าปัญหาออกจากสถานการณ์ก่อน ก็จะเป็นการช่วยให้เราจัดการกับพฤติกรรมของเด็ก ๆ ได้ง่ายขึ้นอย่างมากทีเดียวค่ะ

 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับ 3 กุลยุทธ์ที่ครูพิมนำมาฝากในวันนี้ ครูพิมมั่นใจเลยว่า หากคุณพ่อคุณแม่ได้ลองหยิบไปใช้ซักอย่างน้อย 1 ใน 3 เทคนิคนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้เห็นว่า การจัดการกับอารมณ์ที่ไม่น่ารักของลูก ๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เราคิดก็ได้ค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow