Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เริ่มต้นอย่างไร ให้ลูก “เขียน” เก่ง

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 23 มิ.ย. 63
2,394 Views

  Favorite

การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก มีกระบวนการทำงานที่เป็นขั้นตอนกว่าจะกลายมาเป็นทักษะ “การเขียน” ที่สมบูรณ์ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้พ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กว่าที่ลูกจะขีดเขียนตัวหนังสือได้หนึ่งตัวนั้น จะต้องมีกระบวนการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานใดบ้าง

 

วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงรายละเอียดการเรียนรู้นั้นกันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ในวัย 1-1 ขวบครึ่ง

เป็นวัยที่พ่อแม่ควรเริ่มหากิจกรรมที่จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การให้ลูกได้หยิบ ได้จับ ได้ขยำ และใช้มือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการระบายสี (โดยอาจใช้สีเทียนแท่งใหญ่เพื่อให้ลูกจับได้ถนัด) การเล่นแป้งโดว์ การฉีกปะกระดาษ ในช่วงของการเริ่มต้นพ่อแม่ต้องพยายามให้อิสระ และทำให้ลูกรู้สึกว่าการได้เล่น ได้ละเลง ได้ฉีก ได้ขยำ คือความสุข เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

เด็กวัย 2-2 ขวบครึ่ง

วัยนี้จะเป็นวัยที่ลูกจะเริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีขึ้น และเริ่มบังคับทิศทางในการวาดและเขียนเส้นในลักษณะต่าง ๆ ได้มากขึ้น ลูกจะเริ่มขีดเป็นเส้นตรง แนวตั้ง แนวนอน วาดเส้นโค้ง โดยวัยนี้ยังคงต้องใช้สีหรือดินสอแท่งใหญ่ เพื่อให้ลูกจับได้ถนัดมากขึ้น หรืออาจหาตัวช่วยเป็นที่จับดินสอ แล้วให้ลูกได้ลองฝึกวาดรูปเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ตามจินตนาการ เช่น วาดเป็นถนนยาว ๆ วาดสายรุ้ง โดยเริ่มจากรูปง่าย ๆ ที่มีเรื่องราวใกล้ตัว

เด็กวัยวัย 3-4 ขวบ

พ่อแม่ยังคงต้องหากิจกรรมที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้กับลูกอย่างต่อเนื่อง ส่วนในเรื่องของพัฒนาการด้านการเขียนนั้น ในช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มมีการบังคับทิศทางในการเขียนได้อย่างคล่องแคล่วขึ้น เริ่มวาดรูป “วงกลม” ได้ วาดรูป “สี่เหลี่ยม” ได้ ซึ่งการที่ลูกจะวาดเป็นรูปทรงเช่นนี้ได้นั้น ก็มีพื้นฐานมาจากการที่ลูกฝึกวาดเส้นตรงแนวตั้ง แนวนอน และเส้นโค้งมาก่อนแล้วนั่นเอง ในช่วงวัยนี้พ่อแม่อาจให้ลูกได้ลองวาดภาพ ที่มีองค์ประกอบของเส้นในลักษณะต่าง ๆ มากขึ้น เช่น รูป บ้าน รถยนต์ หรือสิ่งของใกล้ตัวที่ลูกเห็นในชีวิตประจำวัน

เด็กวัย 4-5 ขวบ

ในวัยนี้ลูกจะเริ่มทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้หลากหลายมากขึ้น นอกจากการทำกิจกรรมศิลปะ ขีดเขียน พ่อแม่อาจให้ลูกช่วยงานบ้าน โดยเริ่มจากกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การกรอกน้ำ การตากผ้า พับผ้า เพื่อช่วยเสริมให้ลูกมีทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและบังคับทิศทางการใช้ได้ดีขึ้น ส่วนในเรื่องของทักษะการเขียน ในวัยนี้ลูกจะเริ่มขีดเขียนเส้นเฉียง เส้นซิกแซกได้ ทำเครื่องหมายกากบาทได้ และเริ่มวาดรูปทรงสามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยมได้ดีขึ้น

 

จะเห็นได้ว่าพัฒนาการการเขียนหนังสือนั้น จะเริ่มต้นจากการที่พ่อแม่ฝึกให้ลูกได้คุ้นเคยกับการขีดเขียน วาดเส้นพื้นฐานต่าง ๆ ให้คล่องแคล่วเสียก่อน เพราะถ้าลูก ๆ ยังไม่สามารถวาดเส้นและรูปทรงต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นได้ จะเป็นการยากที่เราจะเริ่มให้เขาเขียนตัวเลขหรือตัวอักษร โดยเฉพาะตัวอักษรภาษาไทยค่ะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow