Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมค่าใช้จ่ายของลูกในแต่ละวัย

Posted By Plook Parenting | 16 มิ.ย. 63
3,593 Views

  Favorite

สำหรับครอบครัวที่วางแผนกำลังจะมีลูก การวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะได้วางอนาคตที่ดีและมั่นคงให้กับเขาได้ง่ายขึ้น

 

การเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ดี นอกจากการทำความเข้าใจ ให้ความรักความอบอุ่นกับลูกแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือการวางแผนค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมอนาคตที่ดีให้กับเขา ดังนั้น เราจึงจำแนกค่าใช้จ่ายจำเป็นของเด็กแต่ละวัยมาให้คร่าว ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่คำนวณและเตรียมวางแผนค่าใช้จ่ายล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาจะได้ปรับเปลี่ยนและใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม

 

ภาพ : Shutterstock

 

ค่าใช้จ่ายช่วงตั้งครรภ์

ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าบำรุงครรภ์ ได้แก่ ค่าแพทย์ ค่าอาหาร ค่าข้าวของเครื่องใช้สำหรับแม่ท้อง และค่าข้าวของเครื่องใช้สำหรับตัวน้อยในครรภ์ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าแพทย์ ที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักในระหว่างตั้งครรถ์ จำแนกออกเป็นค่าฝากครรภ์และพบแพทย์ประมาณ 1,000 - 2,000 บาทต่อเดือน และค่าทำคลอดประมาณ 30,000 - 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็คเกจและโรงพยาบาลที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ ซึ่งรวม ๆ กันแล้วค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ราว ๆ 20,000 - 100,000 บาท

ค่าใช้จ่ายช่วงใกล้คลอด

นอกจากแพ็คเกจทำคลอดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ สำหรับซื้อหาอุปกรณ์จำเป็นเตรียมไว้ช่วงก่อนคลอดอีกด้วย อาทิ ผ้าอ้อม ขวดนม ที่อุ่นขวดนม เสื้อผ้าเด็ก เปลเด็ก อุปกรณ์อาบน้ำ อาหารสำหรับเด็ก ของเล่นเด็ก ฯลฯ ส่วนนี้ประมาณค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 30,000 - 50,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายจากการซื้ออุปกรณ์จำเป็นสำหรับคุณแม่หลังคลอดเพิ่มเติม อาทิ ชุดชั้นในสำหรับให้นม แผ่นซับน้ำนม ผ้าคลุมให้นม ฯลฯ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปกรณ์จำเป็นสำหรับคุณแม่หลังคลอดได้ที่ลิงก์นี้ >> รวมของใช้จำเป็นสำหรับคุณแม่หลังคลอด

ค่าใช้จ่ายช่วงลูกวัยทารก (อายุ 0-2 ปี)

ช่วงวัยทารก จะเกิดค่าใช้จ่ายประจำขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทุกเดือน มากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว อาทิ เสื้อผ้าเด็ก อาหารสำหรับเด็ก นมผงสำเร็จรูป ผ้าอ้อม แพมเพิร์ส ของเล่นเสริมพัฒนาการ ฯลฯ ซึ่งอาจอยู่ที่ราว ๆ 5,000 - 10,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเมื่อต้องพาลูกไปพบหมอตามกำหนด และค่าวัคซีนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องฉีดอีกด้วย

 

ภาพ : Shutterstock

 

ค่าใช้จ่ายช่วงวัยเด็กเล็ก (อายุ 2-6 ปี)

เด็กวัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่พ่อแม่จะเสียอาจเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนรู้และเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ อาทิ ของเล่นเสริมพัฒนาการ คอร์สเรียนพิเศษสำหรับเด็กเล็ก หรือบางครอบครัวอาจพาลูกไปคาเฟ่เด็กเล็ก รวมไปถึงเนิร์สเซอร์รี่ต่าง ๆ ตามความสนใจของลูก ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ที่ราว ๆ 5,000 - 15,000 บาท แตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังควรเตรียมเงินสำหรับให้ลูกเข้าเรียนช่วงชั้นอนุบาลไว้ล่วงหน้า เพราะเมื่อลูกอายุครบ 4 ขวบตามเกณฑ์ จะได้เลือกโรงเรียนที่เหมาะกับลูกได้ โดยค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนช่วงวัยอนุบาลจะอยู่ที่ 40,000 - 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับโรงเรียนที่เลือก (แนะนำว่าควรพาลูกไปโรงเรียนที่คุณพ่อคุณแม่หมายตาไว้ก่อน เพื่อดูว่าเขาชอบหรือไม่)

สำหรับครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานประจำ และปู่ย่าตายายไม่สามารถช่วยเลี้ยงดูได้ อาจมีค่าใช้จ่ายสำหรับพี่เลี้ยงเพิ่มขึ้นมา อาจอยู่ที่ 5,000 - 10,000 บาทต่อเดือน

ค่าใช้จ่ายช่วงวัยเด็กโต (6-12 ปี)

ค่าใช้จ่ายหลักของลูกวัยนี้คือ ค่าเล่าเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียน ซึ่งค่าเทอมที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้อยู่ที่โรงเรียนที่คุณพ่อคุณแม่เลือกด้วยเช่นกัน หากเป็นโรงเรียนรัฐบาล ค่าใช้จ่ายอาจน้อยลงมาเมื่อเทียบกับโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนอินเตอร์ แต่ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเลือกโรงเรียนที่ลูกชอบ เหมาะสมกับลูก และสอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัว โดยค่าเล่าเรียนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 20,000 - 50,000 บาทต่อปี ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเรียนเสริม กิจกรรม และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ อาทิ ของเล่น เสื้อผ้า ค่ารักษาพยาบาล ค่าวัคซีน ฯลฯ

ค่าใช้จ่ายช่วงลูกวัยรุ่น (12-20 ปี)

ค่าใช้จ่ายหลักของลูกวัยนี้ก็ยังคงเป็นเรื่อง การศึกษา เช่นเดิม แต่อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากระดับการศึกษาที่สูงขึ้นตามลำดับ คุณพ่อคุณแม่ที่มีการวางแผนให้ลูกย้ายสถานศึกษาตามความเหมาะสม ค่าใช้จ่ายก็อาจสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเรียนพิเศษ อุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ ในการดำเนินชีวิตของลูก อาทิ ค่าขนม ค่าเดินทาง ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องวางแผนให้รอบคอบ และสอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัวอย่างรัดกุม

 

เหล่านี้เป็นเพียงการประเมินค่าใช้จ่ายอย่างคร่าวเท่านั้น แต่ละครอบครัวมีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกัน ดังนั้น การประเมินสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัว พร้อมทั้งวางแผนการเงินอย่างรัดกุม จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ควรจัดลำดับความสำคัญเรื่องการใช้เงินภายในครอบครัว เพื่อให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด และสร้างปัญหาภาระหนี้สินในภายหลัง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow