Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

6 หนังเหยียดผิวในอเมริกา ดูไว้ไม่เสียหลาย

Posted By witchy_fah | 13 มิ.ย. 63
6,579 Views

  Favorite

       กระแสการประท้วง #Blacklivematter ในสหรัฐอเมริกายังคงครุกรุ่น (แม้ในบ้านเราดูเหมือนจะเริ่มเงียบหาย) แต่คงยังไม่สายหากเราจะนำเสนอภาพยนตร์ที่ชูประเด็นการเหยียดหรือการแบ่งแยกอันยาวนานในประวัติศาสตร์อเมริกันมาให้ลองเลือกชมเลือกสรรกันในวันว่าง 

      

I am not Your Negro (2016)

 

       
       ภาพยนตร์เชิงสารคดีที่พัฒนาจากจดหมายบันทึกความทรงจำ(ซึ่งเขียนไม่เสร็จ) รวม 30 หน้าของ Jame Baldwin นักเขียนชาวอเมริกัน (ต้นฉบับชื่อว่า Remember This House ) โดยผู้กำกับ Raoul Peck ใช้ฟุตเทจ ภาพถ่ายเก่า ๆ รวมทั้งสื่อโฆษณาและภาพยนตร์ในห้วงเวลา 60s – 70s มายำรวมตัดต่อ และบรรยายเรื่องราวผ่านเสียงของแซมมวล แอล แจ๊คสัน นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง
        เจมส์ บาวด์วินเล่าถึงบ้านเกิดเมืองนอนที่เขาทั้งรักทั้งชัง ที่ ๆ ทำให้เขาและชาวแอฟริกันอเมริกันถูกทำให้กลายเป็น “คนอื่น” ในบ้านเกิดของตนเอง หนังค่อย ๆ ถ่ายทอดความอึดอัดและคับแค้นของผู้เขียนที่มีต่อ “ความไม่เท่ากัน” “ความแปลกแยก” หรือ ศัพท์เรียกแปลก ๆ อย่างคำว่า “นิโกร” ที่เหล่าคนขาวยัดเยียดให้พวกเขา และบาวด์วินยังเล่าถึงเพื่อนนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสามคนของเขาที่ถูกฆาตกรรม นั่นคือ Medgar Evers เมดการ์ เอเวอร์, Martin Luther King Jr มาร์ติน ลูเธอร์คิง, Malcolm X มัลคอล์ม เอ็กซ์ 
       แม้หนังจะไม่เน้นอารมณ์บันเทิงหวือหวา แต่ทั้งภาพและคำพูดที่สะท้อนออกมายิ่งสร้างความเศร้าสลด เพราะไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี เรื่องราวเหล่านี้ยังคงสร้างบาดแผลที่ให้กับผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน และนั่นแหละที่ทำยิ่งดูยิ่งจุก
 

 

"…when the Israelis or the Poles pick up guns and say ‘give me liberty or give me death,’ the entire white world applauds.
When a Black man says exactly the same thing, he is judged a criminal and treated like one.
Everything is done to make an example of this bad n**ga so there won’t be any more like him.”
Jame Baldwin
 

12 years a slave (2013)

 

       
       หากเทียบระดับความหดหู่ของภาพยนตร์แต่ละเรื่องในบทความนี้ 12 years a slave คงเป็นเบอร์แรงสุด หนังไม่ได้เล่าแค่ความไม่เท่าเทียมหรือการถูกทำให้แตกต่าง แต่กลับย้อนเวลาไปถึงยุคแห่งการค้าทาส ยุคที่คนไม่ปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์เยี่ยงคนด้วยกัน เรื่องราวเกิดขึ้นทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้แรงงานทาสในการใช้แรงงาน ความเจ็บช้ำที่หนังสะท้อน คือ การมองคนด้วยกันเป็นเพียงสมบัติที่ไร้ชีวิตจิตใจและผู้เป็นนายสามารถกระทำย่ำยีใดๆ กับพวกเขาก็ได้ 

 

       หนังเค้าโครงเรื่องจริงของ Solomon Northup ชายเชื้อสายแอฟริกันและนักไวโอลินมีชื่อแห่งนครนิวยอร์ก ผู้ชีวิตกลับพลิกผัน เขาถูกลักพาตัว เปลี่ยนชื่อ ถูกจับล่ามโซ่ตรวน และถูกปฏิบัติเยี่ยงทาสก่อนถูกส่งตัวไปขายทางตอนใต้ของอเมริกานานกว่า 12 ปี ความโหดร้ายที่ได้พบเจอทั้งกับตัวเองและเพื่อร่วมทาส ทำให้เค้าต้องดิ้นรนทุกวิธีทาง เพื่อกลับคืนสู่ตัวตนที่แท้จริงและกลับไปหาครอบครัวของเขาให้ได้อีกครั้ง 
 

The Help (2011)

 

 

       เรื่องราวของสาวใช้เชื้อสายแอฟริกันทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา ที่ถ่ายทอดข้อเท็จจริงอันน่าหดหู่ของระบบการแบ่งแยกสีผิวตลอดการทำงานเป็นแม่บ้านให้ครอบครัวคนขาว ซึ่งเป็นสิ่งไม่มีใครกล้าเอ่ยถึงมาก่อน หนังชูประเด็นความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ผิวต่างสีให้เห็นอย่างชัดเจน และยิ่งเป็นรัฐมิสซิสซิปปี้ด้วยยิ่งแล้วใหญ่ ในภาพยนตร์มีการกล่าวอ้างถึงกฏหมายปกครองของรัฐมิสซิสซิปปี้ที่มีต่อพลเมืองแอฟริกันอเมริกัน (ที่เรียกกันว่า Jim Crow laws) เช่น  “ห้ามพยาบาลผิวขาวรักษาคนไข้ชายนิโกร ห้ามบุคคลที่ตีพิมพ์ เผยแพร่ ยั่วยุให้เกิดการยอมรับหรือความเท่าเทียมกันระหว่างคนขาวกับนิโกร” (Mississippi: The Laws Governing the Conduct of Nonwhites and other Minorities) เรียกได้ว่าเป็นหนังที่ชูประเด็นการเหยียดผิวในระดับเบา ๆ พอแสบ ๆ คันๆ 

 

The Butler (2013)

 

       
       ความทรงจำอันเลวร้ายวัยเด็กของเด็กชายเชื้อสายแอฟริกัน เซซีล เก้นท์ ผู้เติบโตมาในการเป็นแรงงานไร่ฝ้ายทางใต้ของสหรัฐ ช่วยผลักดันให้เขาเรียนรู้งานบริการเป็นอย่างดีจนกระทั่งเขาได้กลายเป็นพ่อบ้านในทำเนียบขาวของประธานาธิบดีสหรัฐ แม้ว่าอาชีพของเขาจะโดนเหยียดหยาม แต่เมื่อรัฐยัดเยียดความเป็นพลเมืองชั้นสองให้แก่คนแอฟริกันอเมริกันอย่างเขา นี่อาจเป็นทางรอดและความหวังเพื่อชีวิตที่ดีกว่า 
       หนังเล่าประวัติศาสตร์ความแปลกแยกนี้ผ่านประธานาธิบดีคนแล้วคนเล่า ซึ่งปมขัดแย้งที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์เซซีลกับลูกชายผู้มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะนำความเท่าเทียมกลับมาสู่พลเมืองทุกคน ท่ามกลางความเป็นห่วงใยของผู้เป็นพ่อที่มีชุดความเชื่อและวิธีการที่ต่างกัน 
 

Green Book (2018)

 

       
       ลืมภาพความคุ้นเคยในภาพยนตร์เหยียดผิวย้อนยุคที่คนผิวขาวเป็นนายไปได้เลย หนังเรื่องนี้กลับตาลปัตรโดยการเล่าเรื่องการเดินทาง Dr.Don Shirley ของนักเปียโนมือฉมังที่จ้างสารถีชาวอิตาเลี่ยนพาเขาเดินทางไปแสดงดนตรีทางใต้ของสหรัฐ แม้ความสามารถด้านดนตรี การศึกษาสูงของและกิริยามารยาทงามหยด Dr.Don จะดีงามเพียงใด แต่สิ่งที่สังคมยุคนั้นยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ คือตัดสินคุณค่าที่สีผิวมากกว่าความสามารถ การเดินทางครั้งนี้จึงมีทั้งรอยยิ้ม น้ำตาและมิตรภาพที่ซ่อนอยู่ ไม่น่าแปลกเลยที่จะคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไว้ได้ในปี 2018 
       ชื่อของภาพยนตร์ Green Book  อ้างอิงถึงคู่มือการเดินทางชื่อเดียวกันของพลเมืองชั้นสองที่ถูกเรียกว่า "คนผิวสี" คู่มือดังกล่าวริเริ่มขึ้นโดย วิกเตอร์ ฮิวโก กรีน บุรุษไปรษณีย์ที่รวบรวมขอมูลจำเป็นสำหรับการเดินทางไกลทั้งที่พัก ร้านอาหาร ที่พร้อมจะต้อนรับพลเมืองอย่างพวกเขาจริง ๆ เห็นชัดเลยไหมว่าในยุคนั้นแบ่งแยกกันได้ขนาดไหน 
 

Hidden Figures (2016)

 

       

       สามสาวแอฟริกันอเมริกันผู้มีบทบาทการทำงานในนาซ่าและสนับสนุนภารกิจการสำรวจอวกาศของอเมริกาที่ต้องเบียดคู่แข่งอย่างโซเวียตให้ได้ อุปสรรคของพวกเธอไม่ใช่แค่เพียงการงานที่ยากลำบาก แต่กลับเป็นกำแพงเชื้อชาติสูงลิบลิ่วระหว่างคนขาวกับสาวผิวสีอย่างพวกเธอ ทางรอดเดียวคือการแสดงศักยภาพและมันสมองอันชาญฉลาดที่จะช่วยภารกิจนี้ให้สำเร็จได้ ภาพยนต์เรื่องนี้ถือเป็นหนังผิวสีที่ยังถือว่าให้ฟิลกู้ดอยู่มาก แม้ปมการเหยียดจะครุกรุ่นตลอดเรื่องก็ตาม

 

       6 ภาพยนตร์เหล่านี้เล่าได้แตกต่าง หลากมุมมอง ชูประเด็นการแบ่งแยกต่างระดับกันไป บางเรื่องถ่ายทอดความจริงที่ตรงประเด็นและเจ็บปวด บางเรื่องเล่าอย่างประนีประนอมนุ่มนวลเน้นสุนทรียะความบันเทิงมากกว่าการสะท้อนความรุนแรง ใครสนใจอยากชมที่เรื่องไหนก่อน เลือกกันได้ตามใจเลย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • witchy_fah
  • 1 Followers
  • Follow