Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อสมองเหนื่อยล้าก็นำไปสู่ภาวะหมดไฟ (Burnout) ได้

Posted By Amki Green | 10 มิ.ย. 63
8,416 Views

  Favorite

เมื่อเราทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อ เช่น การออกกำลังกาย การวิ่ง ในบางครั้งเราอาจรู้สึกปวดเมื่อยหรือเมื่อยล้าตามกล้ามเนื้อของส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย แล้วหากพูดถึงสมองของเราละ สมองของเรามีความเหนื่อยล้าได้หรือไม่ วันนี้เรามีคำอธิบายค่ะ

ภาพ : Shutterstock

 

สมองของเรามีความเหนื่อยล้าหรือไม่

ในแต่ละวันสมองของเราทำงานอย่างหนักจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เราเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า สมองของเราจะรู้สึกเหนื่อยล้าเหมือนตอนที่เราใช้กล้ามเนื้อในการออกกำลังกายหรือไม่ ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักกับสมองก่อน

 

สมองของเราเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ในสมองของเรานั้นประกอบไปด้วยไขมันเป็นส่วนใหญ่และมีเนื้อเยื่อกล้ามเนื้ออยู่เพียงเล็กน้อย ภายในมีเซลล์ไฟฟ้าที่เรียกว่า เซลล์ประสาท (Neuron) ซึ่งจะส่งสัญญาณประสาทผ่านสารสื่อประสาท แต่ถึงแม้ว่าสมองจะไม่ใช่กล้ามเนื้อ แต่สมองก็ต้องการพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ภาพ : Shutterstock

 

สมองของเราใช้พลังงานในการคิด โดยสารอาหารที่สมองใช้คือ น้ำตาลกลูโคส (Glucose) เมื่อน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์สมอง กลูโคสจะแปรสภาพเป็นอะดีโนซีน ไตรฟอสเฟต (Adenosine triphosphate : ATP) เป็นสารอาหารพลังงานสูงที่ให้พลังงานแก่ร่างกายของเรา ซึ่งเป็นพลังงานที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolism) ในร่างกาย ATP เป็นสารที่ให้พลังงานสูง โดย 1 โมเลกุลของ ATP จะให้พลังงานประมาณ 7 กิโลแคลอรี ซึ่งเป็นพลังงานที่ร่างกายนำออกมาใช้และหมดไปอย่างรวดเร็ว

 

นักวิจัยจากออสเตรเลียและเบลเยียมได้แสดงความคิดเห็นว่า สารประกอบ ATP นั้นมีผลทำให้สมองเกิดอาการเหนื่อยล้า เนื่องจากเมื่อสมองทำงานอย่างหนัก สมองได้ใช้พลังงานจากน้ำตาลกลูโคสไปจนหมด ทำให้อัตราน้ำตาลกลูโคสลดลงและโมเลกุลของ ATP เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่น มีความสุข

 

จากบทความที่ได้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Sports Medicine ในปี 2018 ได้กล่าวว่า หากสมองไม่ได้รับฮอร์โมนโดปามีนที่เพียงพอ จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง แต่ถึงอย่างไรก็ตามสมองของมนุษย์นั้นไม่ได้ใช้ทักษะกระบวนการคิดขั้นสูงอยู่ตลอดเวลา หากงานที่เราทำเป็นงานซ้ำ ๆ งานที่ทำเป็นประจำทุกวัน สมองของเราก็จะมีการทำงานที่น้อยลง แต่หากสมองได้เจอกับสิ่งใหม่ ๆ สมองจะมีการใช้ความคิดและต้องใช้พลังงานอย่างมากในการตัดสินเรื่องต่าง ๆ ในกรณีนี้สมองอาจจะทำงานหนักมากเกินไปและส่งผลให้จิตใจอ่อนล้าและเกิดอาการหมดไฟอีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

การตอบสนองของเคมีในสมอง

หากสมองของเราอ่อนล้า เราอาจจะคิดว่าการเติมน้ำตาลกลูโคสให้กับสมองจะทำให้สมองกลับมาสดชื่นได้ แต่การบริโภคขนมหรือกาแฟสามารถช่วยได้แต่ไม่ได้มีผลต่อสมองโดยทันทีเนื่องจากการทำงานของสมองนั้นมีความซับซ้อนมากกว่านั้น

 

เซลล์สมองของมนุษย์เรานั้นเชื่อมต่อกับเซลล์ในร่างกายอื่น ๆ อีก 100,000 กว่าเซลล์ เพื่อทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เมื่อสมองเกิดอาการเหนื่อยล้า การไหลเวียนของเลือดในสมองจะลดลง ดังนั้น การทำให้การทำงานของสมองดียิ่งขึ้นนั้นต้องมีองค์ประกอบดังนี้
1. น้ำตาลกลูโคสจะต้องไหลเวียนอยู่ในเลือด
2. ภายในเซลล์จะต้องมีการลำเลียงกลูโคสอย่างมีประสิทธิภาพ
3. กลูโคสจะต้องเข้าไปอยู่ในไมโทคอนเดรีย ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งแปรรูปอาหาร มีหน้าที่ในการเผาผลาญสารอาหาร เป็นแหล่งสร้างพลังงานสูง ATP ทำให้ร่างกายมีพลังงานสูงสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้
4. ในไมโทคอนเดรียต้องสามารถผลิตพลังงานสูง ATP ได้

การที่สมองจะทำงานได้ดีต้องมี 4 ขั้นตอนนี้ หากร่างกายไม่มีกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สมองเกิดอาการอ่อนล้าและส่งผลต่อจิตใจและเกิดอาการหมดไฟอีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีช่วยให้สมองไม่เหนื่อยล้า

เราสามารถช่วยให้สมองเรามีความสดชื่นหรือลดอาการหมดไฟได้ โดยเราควรรู้ข้อจำกัดของสมอง สมองส่วนหน้า (Perfrontal cortex) เป็นสมองส่วนที่ช่วยในการคิดตัดสินใจ สมองส่วนนี้จะถูกใช้งานอย่างหนักและใช้พลังงานอย่างมาก ดังนั้น สมองของเรานั้นไม่สามารถคิดซับซ้อนได้ทั้งวัน เราจึงควรใช้สมองคิดงานที่ท้าทายในช่วงเช้าจะดีที่สุด นอกจากนั้นการช่วยให้สมองของเรามีความสดชื่น ไม่อ่อนล้า เราควรพักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง

 

สมองของเรานั้นช่วยในการคิดและมีการทำงานที่ซับซ้อน ดังนั้น การจะทำให้สมองของเรามีความสดชื่น ไม่เกิดอาการเหนื่อยล้า เราควรดูแลสมองของเราโดยการไม่คิดมากและคิดซับซ้อนจนเกินไป รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้สมองของเราเกิดความแข็งแรงอยู่กับเราไปนาน ๆ ค่ะ
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow