Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เฝ้าระวัง 6 โรคในเด็กที่มากับอากาศร้อน

Posted By Plook Teacher | 21 พ.ค. 63
3,485 Views

  Favorite

ช่วงนี้ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัด เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของฤดูร้อน ซึ่งแต่ละปีนั้น หน้าร้อนของไทยจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 35 - 40 องศาเซลเซียล ซึ่งเป็นผลมาจากการที่การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นช่วงที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้ประเทศที่อยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ สภาวะอากาศจึงร้อนอบอ้าวทั่วไป

 

อากาศที่ร้อนอบอ้าวเช่นนี้ อาจส่งผลทำให้เด็กและเยาวชนเป็นโรคที่มากับหน้าร้อนได้ ดังนั้นจึงควรดูแลและเฝ้าระวังพวกเขา ให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรงและปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันในหน้าร้อน ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่มักจะเกิดในช่วงหน้าร้อนและต้องระมัดระวังมีดังนี้

 

ผดร้อน (Heat rash)

ผดร้อนเกิดจากตุ่มคันขนาดเล็ก ซึ่งเกิดจากรูขุมขนอุดตันและไม่สามารถขับเหงื่อได้ ทำให้เกิดเป็นตุ่มสีแดงที่ผิวหนัง โดยอาจปรากฏขึ้นได้ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า คอ หลัง อก ต้นขา หรือตามข้อพับต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการผื่นแดง คัน และรู้สึกไม่สบายตัว

สาเหตุหลักของการเกิดผดร้อน คือ เหงื่อ ซึ่งในช่วงหน้าร้อน ร่างกายจะมีการขับเหงื่อออกมาในปริมาณมาก เนื่องจากต้องการลดอุณหภูมิในร่างกายจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ซึ่งการขับเหงื่อในปริมาณมากนั้นจะทำให้ท่อส่งเหงื่อในร่างกายตามรูขุมขนนั้นเกิดการอุดตัน และทำให้เหงื่อที่สะสมซึมผ่านชั้นผิวหนังทำให้เกิดอาการแพ้หรืออักเสบได้

ซึ่งวิธีป้องกันการเกิดผดร้อนนั้น คือการเลือกใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ไม่หนาจนเกินไป มีความนุ่มและโปร่งสบาย เช่น ผ้าฝ้ายที่สามารถระบายความร้อนได้ดี และหลีกเลียงการออกไปกลางแดดโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ควรอาบน้ำเพื่อลดอุณหภูมิและไม่ควรทาโลชั่นซึ่งจะไปอุดตันรูขุมขน ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อได้ตามปกติ

แม้ว่าผดร้อนนั้นเป็นภาวะทางผิวหนังที่ไม่อันตราย และสามารถอาจหายได้เองเมื่อร่างกายเย็นลง แต่ถ้าภาวะผลร้อนนี้ ดูไม่ดีขึ้น แม้ว่าอุณหภูมิของร่างกายจะเย็นแล้ว อาจจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดต่อไป

 

โรคลมแดด (Heat stroke)

โรคลมแดด เกิดจากการที่ผู้ป่วยอยู่กลางแดดที่มีอากาศร้อนจัดมากจนเกินไป ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีอุณหภูมิสูงขึ้นระหว่าง 40-42 องศาเซลเซียส ประกอบกับระบบระบายความร้อนในร่างกายทำงานได้น้อยลงเพราะการสูญเสียน้ำในร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวร้อน ปวดศีรษะ คลื่นไส้และมีอาการสับสน ผิวหนังมีสีแดงผิดปกติ ซึ่งถ้ารุนแรงอาจเกิดอาจช็อกหมดสติ มีอาการชัก และอาจส่งผลให้ให้เกิดอุบัติเหตุหรือขาดอากาศหายใจ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในร่ม ปลดเสื้อผ้าของผู้ป่วยออกเพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนได้ดีขึ้น จากนั้นใช้พัด เปิดพัดลม และเช็คตัวด้วยน้ำเย็น เพื่อทำให้ร่างกายเย็นลง ซึ่งถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บหรือหมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

การสวมใส่เสื้อผ้าโปร่งๆที่เหมาะสมกับหน้าร้อน ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ และไม่ใช้เวลาอยู่กลางแดดที่ร้อนจัดมากจนเกินไป จะช่วยป้องกันการเกิดโรคลมแดดได้ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งเมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ

 

โรคไข้หวัดแดด (Summer Flu)

โรคไข้หวัดแดด เป็นโรคที่ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูง แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส เป็นไข้ มีอาการอ่อนเพลีย คอแห้ง ปากแห้ง ครั่นเนื้อครั่นตัว เบื่ออาหาร ตาแดงและปวดแสบปวดร้อนบริเวณกระบอกตาเนื่องจากร่างกายมีความร้อนสะสมมากจนเกินไป และอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียได้

โรคนี้เกิดขึ้นได้เมื่ออยู่กลางแดดร้อนจัดนานๆ หรืออยู่ในพื้นที่ที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทำให้ร่างกายเกิดพิษจากความร้อนสะสม ส่งผลให้มีอาการคล้ายๆเป็นโรคหวัด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนมากๆ และพยายามรักษาอุณหภูมิในร่างกาย โดยการเช็คตัวและอยู่ในบริเวณที่เป็นที่ร่ม และอากาศถ่ายเทสะดวก

โรคไข้หวัดแดดนั้น แตกต่างจากโรคไข้หวัดโดยทั่วไป เพราะโรคไข้หวัดนั้นเกิดจากการที่ร่างกายอ่อนแอ ทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในร่างกายแล้วก่อให้เกิดโรคได้ ในขณะที่ โรคไข้หวัดแดด เป็นผลมาจากการที่ร่างกายมีความร้อนสะสม จึงก่อให้เกิดโรคดังกล่าว 

 

โรคท้องร่วงฉับพลัน (Acute Diarrhea)

ในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว อาหารที่รับประทานส่วนใหญ่จะบูดเสียได้ง่าย ถ้าไม่ได้เก็บอาหารไว้ในตู้เย็น ซึ่งเป็นผลมาจาการเติบโตของเชื้อจุรินทรีย์ในอาหารที่สามารถทำปฏิกิริยาได้เร็วขึ้นเนื่องจากอากาศร้อน ซึ่งถ้ารับประทานอาหารที่ปนเปื้อนจุรินทรีย์เหล่านี้เข้าไป จะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร จนทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้

โรคท้องร่วงฉับพลัน เกิดจากการการที่รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจุรินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคเข้าไป ทำให้เกิดอาการปวดบิดในท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป ซึ่งปกติจะหายได้เองใน 1-2 วัน เนื่องจากร่างกายขับเชื้อออกมาทางการขับถ่ายได้หมด แต่ถ้าอาการหนัก อาจสูญเสียน้ำในร่างกายมากจนเกิดอาการช็อกได้ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องรับประทานผงเกลือแร่เพื่อรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย และไม่ควรรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะเป็นการไปขัดขวางการขจัดตามธรรมชาติของร่างกาย

วิธีป้องกันที่สำคัญที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นโรคท้องร่วงฉับพลันนั้น คือการรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ ไม่พยายามรับประทานอาหารที่ทิ้งค้างไว้ซึ่งเสี่ยงต่อการมีเชื้อโรค

 

ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn)

การอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ถ้าไม่ได้ทาครีมกันแดด อาจจะทำให้ผิวหนังเกิดอาการที่เรียกว่าผิวหนังไหม้แดดได้

ผิวหนังไหม้แดด เป็นผลมาจากการที่ร่างกายสัมผัสกับรังสียูวี (Ultraviolet: UV) จากแสงแดดจัดมากจนเกินไป ทำให้ผิวหนังกลายเป็นสีแดงและเกิดอาการแสบร้อน มีอาการคันและเกิดตุ่มพุพองคล้ายๆกับลักษณะของการโดนน้ำร้อนลวก ก่อนที่ผิวหนังบริเวณนั้นจะคล้ำลงและหลุดลอกออก เมื่อเกิดผิวหนังชั้นใหม่ ซึ่งการหลุดลอกของผิวหนังนี้จะส่งผลทำให้สีผิวบริเวณนั้น ไม่สม่ำเสมอก่อนที่จะกลับมาเป็นปกติในช่วง 2-3 สัปดาห์ถัดมา 

ผิวหนังไหม้แดดนั้น จะมีความรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เป็นไข้เนื่องจากพิษของอาการปวดได้ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งผิวหนังด้วย จึงควรป้องกันโดยการทาครีมกันแดดและไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วง 11.00 - 15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่แดดแรงที่สุด

 

ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)

หลายครั้งที่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กเล็ก มักจะเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆจนเพลิน แล้วลืมที่จะดื่มน้ำให้เพียงพอ ทำให้การเล่นกลางแจ้งของพวกเขาในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวนั้น อาจส่งผลให้เขาเกิดภาวะขาดน้ำได้

ภาวะขาดน้ำ เกิดจากปริมาณน้ำในร่างกายนั้น ถูกขับออกไปมาก และไม่ได้ดื่มน้ำเข้าไปทดแทนให้เพียงพอ ส่งผลทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ มีความดันต่ำ ชีพจรเต้นแรง หายใจถี่ และอาจจะเกิดอาการชัก แล้วนำไปสู่การเป็นโรคลมแดดได้ ถ้าไม่ได้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ดัวนั้นจึงควรบังคับให้เด็กและเยาวชนดื่มน้ำให้ได้ 4-8 แก้วต่อวัน เพื่อรักษาน้ำในร่างกาย และไม่ควรใช้เวลาในที่ที่ร้อนอบอ้าวมากจนเกินไป

 

ทั้งหมดนี้คือโรคหรืออาการป่วยบางส่วนที่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงหน้าร้อน ซึ่งผู้เขียนมองว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรจะเฝ้าระวังและสังเกตลูกหลานหรือรวมไปถึงตัวเองว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเหล่านี้หรือไม่ และควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นโรคหรือมีอาการป่วยดังกล่าว ซึ่งถ้าทำได้ พวกเราจะอยู่ร่วมกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวนี้ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข แม้ว่าในอนาคตอากาศหน้าร้อนจะร้อนเพิ่มขึ้นไปอีกหลายสิบองศาก็ตาม

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เอกสารอ้างอิง

 

https://www.pobpad.com/%E0%B8%9C%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99

https://www.bangkokhospital-chiangmai.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%94-heat-stroke/

 

https://www.sanook.com/news/8058574/

 

https://www.hfocus.org/content/2014/01/6208

 

https://www.healthandtrend.com/healthy/disease/skin-sun-burns?doing_wp_cron=1588849903.6215059757232666015625

https://www.paolohospital.com/th-TH/rangsit/Article/Details/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3----%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94-

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow