Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มารู้จักกับการเรียนแบบ PBL (Problem-based Learning) กันเถอะ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 19 พ.ค. 63
3,857 Views

  Favorite

ท่ามกลางโลกที่พัฒนาไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง กระบวนการสอนและสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กก็จะต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปด้วย เราจะเห็นว่าในปัจจุบันหลาย ๆ โรงเรียนเริ่มนำแนวการสอนแบบใหม่เข้ามาใช้ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ รูปแบบการสอนแบบ PBL หรือ Problem – based Learning

 

PBL ย่อมาจาก Problem-based Learning คือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้และแก้ปัญหาเป็น โดยกระบวนการเรียนรู้ก็คือ การให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง (Learning by Doing) โดยใช้บอร์ดเกม และของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิด ให้เด็กได้ลงมือทำและรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ โดยมีกระบวนการสอนดังนี้

 

ภาพ : Shutterstock

 

สร้างความเข้าใจ

การที่จะทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ และสามารถเชื่อมโยงเพื่อนำไปใช้ได้นั้น คุณครูจะต้องมีการสร้างกิจกรรมที่ให้เด็กสามารถคิดเชื่อมโยงและแก้ไขปัญหาได้ โดยอาจใช้เป็นบอร์ดเกม หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้เด็กเกิดทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุและผลในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาจากง่ายไปยาก

เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย

ในการเล่นเกมกิจกรรม คุณครูจะต้องมีการเฝ้าสังเกตถึงพัฒนาการในการเล่นของเด็ก ว่าสามารถเล่นได้ถึงระดับไหน และถ้าเล่นได้แล้วควรจะต้องมีการเล่นซ้ำ ย้ำ ทวน เพื่อให้เด็กมีความเชี่ยวชาญ และคล่องแคล่วมากพอที่จะสามารถนำไปบูรณาการในการคิดแก้ปัญหาขั้นต่อไปได้ คุณครูจะมีการติดตามและบันทึกผลการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนอย่างใกล้ชิด

มีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ในการจัดกิจกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้และทำความเข้าใจนั้น กิจกรรมที่ใช้จะต้องถูกจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและมีความต่อเนื่อง คือ เด็กจะต้องได้รับการฝึกฝนในทุกสัปดาห์ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดความพยายามในการฝึกฝน ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างทักษะทางความคิดแล้ว ยังเป็นการช่วยพัฒนาทักษะทางอารมณ์ได้อีกด้วย เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้และเข้าใจ ก็จะสามารถนำไปต่อยอดและแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

สร้างสังคมและการสื่อสาร

ในกระบวนการเรียนรู้นี้ สิ่งสำคัญที่เด็กจะได้รับอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเรียนรู้ที่จะเล่นและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เด็กจะเกิดการสื่อสารและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการปรับตัว และมีการควบคุมตัวเอง เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ให้ได้อย่างมีความสุข

คิดวิเคราะห์และนำไปใช้ได้

เมื่อกระบวนการเรียนรู้จบลง คุณครูจะต้องมีการตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นให้เด็กสรุปประเด็นถึงวิธีคิด ทบทวนถึงความแตกต่างของกระบวนการแก้ปัญหาในแต่ละครั้งของการเล่นเกม เพื่อพัฒนาการสื่อสาร และทบทวนเรื่องการสร้างระบบความคิดที่เป็นรูปธรรมได้

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นในการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน PBL (Problem-based Learning) ครูผู้สอนจะต้องมีความเข้าใจ และทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนอย่างเหมาะสม คอยให้คำปรึกษา กระตุ้นให้เด็กเกิดการพัฒนากระบวนการคิด และรู้จักนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินชีวิตได้

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow