Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ดุลูกอย่างไร ให้มีศิลปะ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 07 พ.ค. 63
2,668 Views

  Favorite

วันนี้แม่แหม่มขออนุญาตหยิบยกปัญหาใหญ่ของคนเป็นแม่ขึ้นมานำเสนอในอีกมุมมองหนึ่งนะคะ ปัญหานั้นก็คือ การดุลูกนั่นเอง เพราะตามทฤษฎีการเลี้ยงดูเชิงบวกส่วนใหญ่มักให้พ่อแม่หลีกเลี่ยงการดุ หรือต่อว่าลูก เพราะจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการ

 

แต่ในความเป็นจริง แม่แหม่มเชื่อว่าในหลายครอบครัวก็ยังคงต้องใช้การดุ เพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการตักเตือน หรือหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก แต่... ดุลูกอย่างไรให้มีศิลปะ และไม่ทำร้ายจิตใจลูกมากจนเกินไป วันนี้แม่แหม่มมีเทคนิคง่าย ๆ มาแชร์ประสบการณ์กันค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ดุด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์

เมื่อถึงคราวที่พ่อแม่จะต้องดุลูก เราควรแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เขากำลังถูกดุ หรือถูกตำหนินั้นคือเรื่องอะไร ให้พูดถึงสิ่ง ๆ นั้น มากกว่าการตอกย้ำ หรือดุว่าในตัวลูก เช่น แม่ไม่ชอบที่หนูไม่ยอมอาบน้ำ หรือแม่ไม่ชอบเด็กที่ไม่ทำการบ้าน บอกให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังดุ หรือว่านั้นคือพฤติกรรมไม่ดีที่ลูกกำลังทำอยู่ และที่สำคัญจงหลีกเลี่ยงการดุที่เป็นการขู่ เช่น ถ้าหนูไม่อาบน้ำแม่จะไม่รัก หรือลูกเป็นเด็กที่แย่มาก พ่อแม่ไม่อยากได้ลูกแบบนี้ เพราะคำพูดที่เป็นการตำหนิที่ตัวลูก หรือการนำเรื่องความรักของพ่อแม่มาเป็นเงื่อนไข จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความมั่นใจของลูก ลูกอาจกลายเป็นเด็กที่ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง และอาจมีพฤติกรรมต่อต้าน และเพิกเฉยต่อคำสั่งสอนของพ่อแม่ไปเลย

ดุแล้ว บอกสิ่งที่อยากให้ลูกทำทันที

มีพ่อแม่หลายคนที่เมื่อดุลูกแล้ว ก็จะพูดถึงเรื่องโน้น เรื่องนี้ต่อไปยืดยาว เพราะคิดว่าเป็นการสั่งสอน และยกตัวอย่างมามากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เราควรทำทันที ก็คือ การบอกให้ลูกทำสิ่งที่ถูกต้องในสถานการณ์นั้น ๆ เลย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกเฉื่อยชาไม่อาบน้ำ เราก็บอกไปเลยว่า ถึงเวลาอาบน้ำแล้วลูก ไปอาบน้ำซะ ไม่ต้องพูดยืดยาวว่า เห็นไหมลูกดึกแล้ว อาบน้ำดึกจะทำให้เป็นหวัด โตแล้วต้องรู้หน้าที่....เพราะการพูดที่ยืดยาวออกไป นอกจากจะไม่ทำให้ลูกรับรู้ และปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำแล้ว ยังก่อให้เกิดความรำคาญ และอาจเป็นต้นเหตุของการโต้เถียงกันจนทำให้ปัญหาบานปลายออกไป

ไม่ดุลูกต่อหน้าคนอื่น

ถึงแม้การดุของพ่อแม่จะมีเป้าหมายเพื่อการอบรมสั่งสอนมากกว่าการทำให้ลูกเกิดความเสียใจหรืออับอาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดุหรือการอบรมสั่งสอนลูกก็ควรทำกันในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว เช่นที่บ้าน เพราะการดุลูกในที่สาธารณะ นอกจากจะไม่ทำให้ลูกเกิดกระบวนการเรียนรู้แล้ว จะทำให้ลูกเสียหน้า ขาดความมั่นใจ และรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ให้เกียรติ ส่งผลให้ลูกยิ่งต่อต้านคำสอนของพ่อแม่ และมีพฤติกรรมในด้านลบเพิ่มมากขึ้น

เปิดใจรับฟังเหตุผล

เมื่อดุลูกแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ การลองเปิดใจรับฟังเหตุผลของลูกบ้าง อย่ารีบตัดสินหรือตำหนิลูกโดยที่ยังไม่เปิดใจรับฟังคำอธิบายหรือเหตุผลของลูก เพราะในบางครั้งลูกอาจมีมุมมองหรือมีความเข้าใจต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ตรงกับประสบการณ์เดิมของพ่อแม่ ดังนั้นการเปิดใจรับฟัง นอกจากเป็นการช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ยังถือเป็นการส่งต่อ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างพ่อ แม่ และลูกอีกด้วย

 

สุดท้ายแล้วไม่ว่าพ่อแม่จะดุ หรือต่อว่าลูกมากแค่ไหน ในใจลึก ๆ แล้วพ่อแม่ทุกคนล้วนมีความปราถนาดี และมีความรักอย่างมากมายให้กับลูก ๆ ทุกคน ดังนั้นในครั้งต่อไปหากหลีกเลี่ยงการดุลูกไม่ได้ อยากให้พ่อแม่ลองนำคำแนะนำเหล่านี้ไปใช้กันดูนะคะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow