Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แบคทีเรียจากแม่สู่ลูก : หนึ่งกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาด้านสุขภาพของทารก

Posted By thaiscience | 10 มี.ค. 63
5,297 Views

  Favorite

แบคทีเรียและไวรัสที่ส่งผ่านจากแม่สู่ทารกมีบทบาท สําคัญในการกําหนดสถานะสุขภาพในภายหลังของเด็กได้ ซึ่งผลจากงานวิจัยนี้สามารถนําไปต่อยอดพัฒนาวิธีในการจัดการโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วนและอาการภูมิแพ้ได้

 

หากแม่ของคุณเป็นโรคอ้วน คุณก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคอ้วนเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถอธิบายได้โดยปัจจัยทางวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ เด็กที่เป็นโรคอ้วนตามแม่นั้นเป็นเพราะได้รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกับแม่ของตนเอง ปัจจัยที่สอง คือ ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เด็กได้รับยีนจากแม่ ซึ่งยีนนี้มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดภาวะโรคอ้วนเช่นเดียวกับแม่ และปัจจัยที่สาม ซึ่งปัจจุบันกําลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในวงการวิจัย นั่นก็คือ จุลินทรีย์ทั้งหมดที่อาศัยในร่างกายของเด็ก หรือ ไมโครไบโอตา ซึ่งบางส่วนได้รับมาจากแม่ตั้งแต่ตอนอยู่ในมดลูก หรือจะในระหว่างการให้นมบุตร

ภาพ : Shutterstock


ไมโครไบโอตา (Microbiota)

ไมโครไบโอตา หรือ ชุมชนจุลชีพ คือ จุลินทรีย์ทั้งหมด ที่อาศัยในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยนับรวมทั้งที่อยู่บนผิว ภายในเนื้อเยื่อ หรือในสารคัดหลั่ง ของอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ผิวหนัง ต่อมน้ํานม รก น้ำอสุจิ มดลูก รังไข่ ปอด น้ำลาย เยื่อบุช่องปาก เยื่อบุตา ท่อน้ำดี และทางเดินอาหาร สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีทั้งที่เป็นแบคทีเรียอาร์เคีย เชื้อรา โปรติสต์ และ ไวรัส นอกจากนี้ยังอาจมีสัตว์ขนาดเล็กอาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ ในร่างกายของคนปกติ โดยส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 90 อยู่ที่ลําไส้ใหญ่ส่วนท้ายที่เรียกว่าโคลอน


ในร่างกายมนุษย์มีเซลล์จํานวนมากกว่าหนึ่งร้อยล้านล้านเซลล์ หากความเป็นจริงแล้วเซลล์มนุษย์เป็นเพียง 1 ใน 10 ส่วนของจํานวนเซลล์ทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกาย ทั้งนี้อีก 9 ส่วนที่เหลือคือจํานวนเซลล์ของจุลินทรีย์ โดยจุลินทรีย์เหล่านี้มีผลต่อระบบการทํางานและของร่างกายในส่วนต่าง ๆ ตามแหล่งที่อาศัยอยู่ บางชนิดมีส่วนช่วยป้องกันจุลินทรีย์ก่อโรคอื่น ๆ ที่เข้ามารุกราน ช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร ระบบการเผาผลาญ และระบบขับถ่าย บางชนิดช่วยสร้างสารที่จําเป็นต่อการเจริญเติบโตในร่างกาย เสริมสร้างและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ แต่บางครั้งความผิดปกติของร่างกายก็อาจเกิดจากจุลินทรีย์เหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน เมื่อจุลินทรีย์บางชนิดมีจํานวนมากเกินไปหรือลดน้อยลงไปจากสภาวะปกติ หรือ เรียกอีกอย่างว่า การเสียสมดุลของไมโครไบโอตา

 

การส่งผ่านไมโครไบโอตาจากแม่สู่ลูก

จุลินทรีย์ที่อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล มีชนิดและจํานวนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละอวัยวะ สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุของการเจริญเติบโต พบว่าไมโครไบโอตาตั้งต้นที่อาศัยในร่างกายเรานั้นได้ส่งผ่านจากแม่มาสู่ทารก โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในระบบทางเดินทางอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งผิวหนังของทารกได้รับจากแม่ทั้งก่อนและหลังคลอด เมื่อถึงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ทารกเริ่มกลืนน้ำคร่ำได้ จุลินทรีย์ในรกสามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้ การคลอดก่อนหรือหลังกําหนดคลอดจึงมีความสัมพันธ์ต่อชนิดของไมโครไบโอตาในทารกแรกเกิดด้วย นอกจากนี้วิธีคลอดไม่ว่าจะเป็นการคลอดโดยวิธีธรรมชาติ หรือการผ่าคลอด ยังส่งผลต่อความหลากหลายของชนิดจุลินทรีย์ในไมโครไบโอตา พบว่าทารกที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติผ่านทางช่องคลอดจะได้รับกลุ่มจุลินทรีย์ที่อยู่ในช่องคลอดของแม่ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนกลุ่มจุลินทรีย์ที่พบในทารกที่ผ่าคลอดนั้นจะเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปบริเวณผิวหนัง การให้นมบุตรก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งผ่านจุลินทรีย์จากแม่สู่ลูก นอกจากนี้น้ำนมแม่ซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารที่จําเป็นต่อการเจริญเติบโตและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในทารก ยังส่งผลโดยตรงกับไมโครไบโอตาในทารก เนื่องจากน้ำนมแม่มีองค์ประกอบที่สําคัญคือโมเลกุลน้ำตาลสายสั้น ๆ (human milk oligosaccharides, HMOs) หรือทีเรียกว่าพรีไบโอติก (prebiotics) ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สําคัญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์กับร่างกายหรือโพรไบโอติคส์ (probiotics) ที่อาศัยอยู่ในลําไส้ของมนุษย์ อีกทั้งในน้ำนมแม่ยังมีสารที่สามารถยับยั้งไวรัสหรือจุลินทรีย์ก่อโรคบางชนิดได้ ดังนั้นการได้รับนมแม่หรือนมผงจึงส่งผลโดยตรงต่อชนิด จํานวน และความหลากหลายของจุลินทรีย์ในไมโครไบโอตาในทารก การศึกษาพบว่าทารกที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ และได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า มีโอกาสเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าทารกที่คลอดด้วย วิธีการผ่าและไม่ได้รับนมแม่

ภาพ : Shutterstock

 

ความหลากหลายและสถียรภาพของจุลินทรีย์ในไมโครไบโอตาอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าจากวัยแรกเกิด (1-6 เดือน) ความหลากหลายในวัยทารกนี้จะเพิ่มมากขึ้นได้ จากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดของอาหาร ระยะเวลาการเริ่มอาหารแข็งที่แตกต่างกัน การได้รับยาปฏิชีวนะ หรือการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้ง สิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น จากสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น ความหลากหลายของไมโครไบโอตาของเด็กอายุสามขวบจะเริ่มคงที่ และค่อนข้างคล้ายคลึงกับวัยผู้ใหญ่ แต่ทว่ายังมีปัจจัยจํานวนมากที่ส่งผลต่อความแตกต่างของไมโครไบโอตาในแต่ละบุคคลนั้น เช่น พันธุกรรม เพศ อาหารการกิน อาการป่วย ภาวะ เครียด การบาดเจ็บ อาชีพ การรักษาความสะอาด หรือตามสภาวะแวดล้อม เช่น สภาพภูมิอากาศ มลพิษ ต่าง ๆ เป็นต้น อายุที่มากขึ้นความหลากหลายของไมโครไบโอตาในร่างกายจะค่อนข้างคงที่ และจะลดลง เมื่อมีอายุมากกว่า 65 ปี

 

ไมโครไบโอตาที่มีความหลากหลายของชนิด หรือที่จํานวนที่แตกต่างกัน ยังเป็นสาเหตุที่ทําให้แต่ละคนมีอัตราความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ที่ไม่เท่ากัน ความแตกต่างของไมโครไบโอตาที่ผิวหนังมีผลต่อโรคผิวหนัง และระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง เช่น การเกิดสิว โรคสะเก็ดเงินชนิดเรื้อรัง โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเรื้อรัง แผลที่ผิวหนังเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น สําหรับไมโครไบโอตาที่ระบบทางเดินทางอาหาร  งานวิจัยพบว่าบุคคลที่มีจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารชื่อเฮลิโค แบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) มีโอกาสเป็นโรคแผลกระเพาะอาหาร เนื้องอกและมะเร็งในกระเพาะอาหาร มากกว่าคนที่ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ชนิดนี้ ในขณะที่ไมโครไบโอตาในลําไส้ใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลําไส้ใหญ่ ลําไส้อักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับภาวะอ้วน โรคหัวใจ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคไขมันพอกตับ โรคตับแข็ง และ มะเร็งตับ เป็นต้น

 

งานวิจัยด้านไมโครไบโอตา

ดร. María Carmen Collado นักวิทยาศาสตร์การ อาหารและนักจุลชีววิทยา จาก Instituto de Agroquímica y Tecnología de Alimentos (IATACSIC) ในเมือง Valencia ประเทศสเปนกล่าวว่า จุลินทรีย์ในลําไส้ในวัยแรกเกิดจะเป็นตัวบ่งชี้สําคัญถึงสถานะสุขภาพของบุคคลนั้น ๆ ในอนาคต โดยเมื่อไมโครไบโอตาในร่างการเสียสมดุล จะนําไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังซึ่งสามารถส่งผลต่อระบบการเผาผลาญของเซลล์ในร่างกาย ด้วยเหตุนี้เหล่านักวิจัยจึง เริ่มให้ความสําคัญเป็นอย่างมากในการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมในทางเดินอาหารตั้งแต่วัยแรกเกิด เพื่อส่งเสริมการสร้างไมโครไบโอตาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

 

ปัจจุบัน ดร. Collado พยายามทําการวิจัยเพื่อระบุชนิดจุลินทรีย์ที่สําคัญ ที่ถูกส่งผ่านจากแม่สู่ลูกในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ กัน เช่น ตอนคลอด และระหว่างการให้นมบุตร และศึกษาต่อไปว่าจุลินทรีย์เหล่านั้นจะส่งผลต่อสุขภาพของทารกอย่างไร ดร. Collado ได้ศึกษาตัวอย่างของแม่และทารกจํานวน 200 คู่ เพื่อตรวจสอบถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น อาหารที่แม่รับประทาน การได้รับน้ำหนักเพิ่มระหว่างการตั้งครรภ์ วิธีการคลอด และวิธีการให้นมบุตร ว่ามีผลต่อการพัฒนาไมโครไบโอตา และระบบภูมิคุ้มกันในทารกอย่างไร โดย ดร. Collado ได้ให้ความสนใจในอาหารที่แม่รับประทานเป็นพิเศษ โดยผลการวิจัยพบว่าอาหารที่มีความสมดุลทางโภชนาการ อย่างเช่น อาหารในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีการบริโภคผัก ผลไม้ น้ำมัน มะกอก ถั่ว และธัญพืช เป็นปัจจัยสําคัญในการกําหนด ไมโครไบโอตาในทารก โดย ดร. Collado หวังว่า ผลงานวิจัยของเธอจะสามารถนําไปสู่การปรับปรุงคําแนะนําทางโภชนาการแก่หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร และในอนาคตอาจจะนําไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาเพื่อทดแทนหรือซ่อมแซมจุลินทรีย์ชนิดที่เป็นประโยชน์ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

 

ที่มา:
https://horizon-magazine.eu/article/bacteriapassed-mother-baby-may-play-role-laterhealth.html? fbclid=IwAR10jAey5ImUpplQvUn4B3clWcuHt1ZuZjdT9worByO9S0Bnq4K5FPIuEM

https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow