Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พิพิธภัณฑ์อัญมณีฯ แหล่งเรียนรู้อัญมณีและเครื่องประดับอันทรงคุณค่าของไทย

Posted By ไกด์เตยหอม | 20 ก.พ. 63
16,345 Views

  Favorite

หากได้มาแถว ๆ สีลม แหล่งค้าพลอยสำคัญกลางกรุงเทพฯ แล้วล่ะก็ พลาดไม่ได้เลยที่จะแวะเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ทำความรู้จักกับที่มา ลักษณะ รวมถึงความสำคัญของบรรดาสินแร่และศิลาอันล้ำค่าเหล่านี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ณ ชั้น 2 อาคาร ITF แยกสีลม-นราธิวาสฯ ใกล้ ๆ กับสถานี BTS ช่องนนทรี (ทางออก 4) ก่อตั้งโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือที่รู้จักกันในนาม GIT เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าของอัญมณีและเครื่องประดับไทย รวมทั้งอนุรักษ์ตัวอย่างอัญมณีและเครื่องประดับไว้สำหรับอนุชนรุ่นหลัง เปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2547 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.30 - 17.00 น.

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อเข้าประตูอาคาร ITF ชั้น 1 มาซ้ายมือจะเป็น ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ แหล่งรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมากมายถึงเกือบ 10,000 รายการ ไม่ว่าจะเป็นธรณีวิทยา อัญมณีศาสตร์ โลหะวิทยา ฯลฯ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 - 17.00 น. โดยมีค่าบริการสำหรับบุคคลทั่วไป 20 บาท/คน/วัน นักเรียน นิสิต นักศึกษา (แสดงบัตรประจำตัว) 10 บาท/คน/วัน ด้านหน้ามีโบร์ชัวร์แนะนำกิจกรรม Workshop ที่น่าสนใจเกี่ยวกับอัญมณีที่ GIT มักจะจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เดินตรงเลยจากห้องสมุดมาเล็กน้อยทางขวามือจะมีบันไดและบันไดเลื่อนไฟฟ้าขึ้นสู่พิพิธภัณฑ์ค่ะ มีค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 80 บาท/คน นักเรียน นิสิต นักศึกษา (แสดงบัตรประจำตัว) 20 บาท/คน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 200 บาทค่ะ 

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ห้องจัดแสดงจะเป็นโถงยาวตรงไปสุดทางเลี้ยวซ้าย ลักษณะคล้ายตัว L

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่การกำเนิดของสินแร่ อัญมณี และโลหะต่าง ๆ จนถึงเมื่อมันได้กลายเป็นเครื่องประดับงดงามเลอค่าในที่สุด

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดจากโซนแรกที่ว่าด้วยการกำเนิดและเหมืองพลอยในประเทศไทยแล้ว ก็จะมีการเล่าถึงอัญมณีประเภทต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับความเชื่อของมนุษย์ อย่างเรื่องอัญมณีประจำเดือนเกิด ในรูปด้านล่าง โกเมน (Garnet) สำหรับผู้เกิดเดือนมกราคม และอะเมทิสต์ (Amethyst) สำหรับผู้เกิดเดือนกุมภาพันธ์ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ก็ยังมีการนำผลงานการออกแบบเครื่องประดับชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ มาจัดแสดงแบบหมุนเวียนด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาจะเป็นตู้แสดงเครื่องถมไทย ซึ่งมี 3 ประเภทคือ ถมเงิน (ถมดำ) ถมทอง และถมตะทอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เครื่องทองสกุลช่างสุโขทัย (ซ้าย) ซึ่งมีการเลียนแบบลวดลายเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างลายลูกตะกร้อ ลายตะกรุด ลายสุ่ม เป็นต้น และเพชรบุรี (ขวา) ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะอยุธยา นิยมประดับด้วยอัญมณีนพเก้า  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พูดถึงเรื่องเครื่องทองแล้วก็มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติและประเภทต่าง ๆ ของทองด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

รวมทั้งกระบวนการผลิตเครื่องประดับจากทอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากทอง หรือ ทองคำ แล้ว โลหะมีค่าอีกชนิดที่จะมองข้ามไม่ได้เลยก็คือ แพลทินั่ม นั่นเอง ซึ่งเป็นโลหะที่แข็งและทนทานที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ไม่หมอง ไม่สึกกร่อน และไม่ค่อยเป็นรอย แถมยังหายากมาก ๆ ปัจจุบันทั่วโลกมีแพลทินั่มขนาดรวมแล้วพอ ๆ กับห้องนั่งเล่นขนาดกลางเท่านั้นเอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำเครื่องประดับจากแพลทินั่ม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีการสร้างสรรค์โลหะแบบ Mokume Gane มาใช้ผลิตเครื่องประดับโดยนำโลหะ 2 ชนิด เช่น ทองแดงและเงิน มารีด บีบ และอัดให้เป็นลวดลายคล้าย ๆ ลายไม้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และเนื่องจากอัญมณีล้ำค่าจากสินแร่ตามธรรมชาตินั้นมีจำกัด มนุษย์จึงมีการคิดค้นประดิษฐ์อัญมณีสังเคราะห์ขึ้น เช่น คริสตัลและแก้วสังเคราะห์ต่าง ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีการจัดแสดง คริสตัลที่หนัก 62 กก. 3 แสนกะรัต 100 เหลี่ยมเจียระไน ซึ่งเคยถูกบันทึกว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจากสวารอฟสกี้ด้วยค่ะ แต่มีป้ายแปะไว้ว่า No Photo ต้องไปชมด้วยตาตนเองเท่านั้นนะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แล้วก็มาถึงโซนอัญมณีจากธรรมชาติกันบ้าง ซึ่งไม่ได้มีแต่หินนะคะ พืชก็สร้างอัญมณีงดงามให้เราได้ค่ะ เช่น Jet ไม่ใช่เครื่องบินนะคะ แต่เป็นไม้กลายเป็นหินค่ะ แล้วก็ อำพัน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือยางไม้ดี ๆ นี่เอง ส่วนอัญมณีจากสัตว์นั้น ได้แก่ งาช้าง กระดองเต่า ปะการัง เปลือกหอย ซึ่งปัจจุบันลดจำนวนลงมาก จึงมีการรณรงค์ลดการใช้อัญมณีเหล่านี้ แต่หันไปนิยมไข่มุกและปีกแมลงทับ (Jewel Beetle) ซึ่งเพาะเลี้ยงได้แทนค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีกแมลงทับนี้การเก็บจะเก็บเมื่อมันสิ้นอายุลงตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งสีสันจะอยู่ทนนานกว่าด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับที่ทำจากดินเผาด้วย เช่น โคมไฟลูกปัดดินเผาดวงนี้ ซึ่งการใช้ลูกปัดดินเผานี้มีมาตั้งแต่ยุคเดียวกับบ้านเชียงแล้วค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็มาถึงโซนเกี่ยวกับเพชรธรรมชาติค่ะ เริ่มตั้งแต่ที่มาของเพชร ซึ่งเป็นหินแร่ที่แข็งที่สุดในโลก เป็นผลึกที่บริสุทธิ์ของคาร์บอน (Carbon) ก่อตัวมานานหลายร้อยล้านปีภายใต้ความกดดันและความร้อนมหาศาลใต้พิภพ และออกมาสู่ผิวโลกพร้อมกับลาวายามภูเขาไฟระเบิด

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพบนเป็นการจำลองการมาสู่ผิวโลกของเพชร ส่วนภาพล่างเป็นภาพเพชรดิบค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จริง ๆ แล้วเพชรธรรมชาติก็ไม่ได้มีแต่สีขาว แม้จะเป็นสีที่ได้รับความนิยมที่สุดก็ตาม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เพชรธรรมชาติก็มีสีอื่น ๆ ได้ ขึ้นอยู่กับธาตุอื่นที่เจือในเพชรนั้นหรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น เพชรสีฟ้าหรือสีน้ำเงินอย่าง เพชรโฮป มีธาตุโบรอนเจือปน เพชรสีเหลืองมีไนโตรเจน เพชรสีชมพูและสีแดงเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของโครงสร้างเพชร เป็นต้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อได้เพชรดิบหรือพลอยดิบมาแล้วก็จะต้องผ่านการเจียระไนเป็นเหลี่ยมมุม เพื่อให้เกิดประกายสะท้อนแสงอย่างงดงาม โดยภาพล่างนี้เป็นภาพอุปกรณ์ต่าง ๆ บนโต๊ะเจียระไน ซึ่งช่างไทยมีฝีมือการเจียระไนอันดับต้น ๆ ของโลก งานเจียระไนและออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับเป็นส่วนสำคัญในการทำให้สินค้าด้านนี้ของเราติด Top 10 ของโลก ทั้งที่แหล่งผลิตวัตถุดิบอย่างเพชรพลอยดิบของเราไม่ได้มีมากนักก็ตาม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์งานเครื่องประดับโลหะ หรือการทำตัวเรือนหรืองานโลหะประดับ ที่จะมารองรับและเชิดชูความงามล้ำค่าของเพชรพลอยเหล่านั้น ในภาพล่างเป็นแท่นตัดโลหะค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากเพชรแล้วก็ยังมีอัญมณีอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่พบได้แพร่หลายก็คือ ควอตซ์ หรือหินเขี้ยวหนุมาน เป็นส่วนหนึ่งของจีโอด (Geode) ซึ่งก็คือแร่ที่ตกผลึกจากสารละลายน้ำแร่ร้อนในโพรงหิน พบได้หลายสี มีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น สีม่วง-แอเมทิสต์ (Amethyst) สีเหลือง-ซิทริน (Citrine) ฯลฯ หรือที่ติดผนัง เช่น โมรา (Agate) ฯลฯ ซึ่งบางทีก็จะมีผลึกแคลไซต์หรือโดโลไมต์ (สีขาว) ด้วย  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ควอตซ์พบได้ทั้งในหินอัคนี หินตะกอน และหินแปร โอปอล (Opal) และ แจสเปอร์ (Jasper) ก็อยู่ในตระกูลควอตซ์ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ก็ยังมีหินแร่อื่น ๆ เช่น Fluorite Selinite ฯลฯ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และก็หินเฟลด์สปาร์งาม ๆ อย่าง มุกดาหาร หรือ จันทรกานต์ (Moonstone) และสุริยกานต์ (Sunstone)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ทัวร์มาลีน หรือ ทุรมาลี ซึ่งมาจากภาษาสิงหล แปลว่าหลากสี และรูเบลไลต์ พลอยเนื้ออ่อนที่พบได้ในหินแกรนิต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เบริล (Beryl) เช่น มรกต อะความารีน ซึ่งก็พบได้ในหินแกรนิต รวมทั้งอาจพบในหินปูนด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ยังมีภาพและข้อมูลของพระพุทธรูปที่แกะสลัก ขนาด 2,620 กะรัต แกะสลักจากมรกตธรรมชาติซึ่งได้มาจากมาดากัสการ์ขนาด 3,600 กะรัต ของบริษัทพรีม่าเจมส์ ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นแร่เบริล ต่างจากพระแก้วมรกต ซึ่งแกะสลักจากแร่เนไฟรต์ หยกธรรมชาติที่มีความงดงามอ่อนช้อย แต่ปัจจุบันหยกธรรมชาติสีสวยหายากแล้ว จึงมีการใช้เทคโนโลยีการย้อมสีหยกเกิดขึ้นโดยนำหยกสีซีดมาย้อมนั่นเอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในส่วนของพลอยเนื้ออ่อนยังมี โทพาซ (Topaz) และสปิเนล (Spinel) ซึ่งจริง ๆ แล้วพบได้หลากสี แต่ที่นิยมที่สุดคือ Black Spinel หรือ นิลตะโก นิลสีดำชื่อดังแห่งเมืองกาญจนบุรีนั่นเอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สุดท้ายนี้ก็จะเป็นภาพของพลอยเนื้อแข็ง กะรุน หรือ คอรันดัม (Corundum) ซึ่งมีหลากสี ถ้าสีฟ้าหรือน้ำเงินเรียกว่าไพลิน (Blue Sapphire) ถ้าสีเหลืองเรียกว่าบุษราคัม (Yellow Sapphire) และสีแดงจะเรียกว่าทับทิม (Ruby) ซึ่งทับทิมสยามนั้นเป็นพลอยเลื่องชื่อของเมืองจันทบุรีเลยทีเดียวค่ะ แต่ปัจจุบันพลอยคอรันดัมที่มีสีสดใสงดงามตามธรรมชาติหาได้ยากขึ้น จึงมีการนำพลอยที่สีซีดไปเผา หรือ หุงพลอย ให้มีสีสดใสขึ้นค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

รูปบนเป็นทับทิมจากเวียดนามในก้อนหินอ่อน จะเห็นว่ามีทั้งส่วนที่ผลึกสีค่อนข้างแดงชัดเจนอยู่แล้วตามธรรมชาติ และส่วนที่ซีดอยู่ด้วย รูปล่างเป็นพลอยแซฟไฟร์ที่ยังไม่ได้หุง เห็นบางก้อนมีสีน้ำเงินจาง ๆ เดาว่าอาจจะเป็นไพลินค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และขอปิดท้ายกันด้วยรูปกองทับทิมงาม ๆ อัญมณีแห่งความสำเร็จ หนึ่งในนพรัตน์ล้ำค่าตามความเชื่อของชาวไทยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

“Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow