Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กินหวานมากไป ส่งผลอย่างไรต่อสมองของลูก

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 14 ก.พ. 63
8,630 Views

  Favorite

เมื่อพูดถึงขนมหวานกับเด็ก ถือเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันได้ยาก แต่ภายใต้ความอร่อยของขนมเหล่านั้น กลับแฝงไปด้วยความอันตรายมากมายที่ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอันตรายต่อต่อสุขภาพ และการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย และระบบการทำงานของสมอง

 

ซึ่งการบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อภาวะการทำงานของสมองลูก เพราะกระบวนการสร้างกลูโคส จะสั่งการให้สมองสร้างระดับอินซูลินที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างสมดุลและดีต่อร่างกาย แต่หากร่างกายมีระดับน้ำตาลที่สูงหรือมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ทำให้สมองทำงานได้ช้าลง

 

ภาพ : Shutterstock

 

โดยทั่วไป ผู้ใหญ่และเด็กไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา/วัน มีงานวิจัยกล่าวไว้ว่า หากบริโภคน้ำตาลหรือไขมันมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลเสียต่อการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำได้ เพราะการทำงานของสารสื่อประสาทจะเชื่อมโยงไม่เป็นระบบ ความคิดช้าลง ทำให้เกิดภาวะหลงลืมได้ง่าย แต่ในทางกลับกัน การที่ลูกได้รับปริมาณอาหารที่เพียงพอ และได้รับสารอาหารที่มีคุณภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันโอเมก้า 3 ที่ได้จากปลานั้น ก็สามารถช่วยลดความเสียหายของสมองได้เช่นกัน

พ่อแม่จำนวนมากที่มักมองข้าม และละเลยการควบคุมปริมาณของหวานและขนมให้ลูก ส่งผลให้ในปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป จนกลายเป็นโรคอ้วน นอกจากนั้นเด็กที่ชอบกินหวานจัดบ่อย ๆ จะทำให้ระบบความสมดุลของแร่ธาตุในร่างกายเสียไป ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายลดต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือทำให้ติดเชื้อง่าย นอกจากนี้ การเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายบ่อย ๆ ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระ เมื่อบริโภคเป็นเวลานานจะก่อให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

 

ภาพ : Shutterstock

 

อีกทั้งการรับประทานน้ำตาลซูโครสมาก ทำให้กรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ทริปโตฟาน ถูกเร่งเข้าสู่สมองมากเกินไป ทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนในสมอง ผลที่ตามมา ก็คือ ทำให้เกิดอาการเซื่องซึม เหนื่อย ไม่กระฉับกระเฉง ซึ่งหากเกิดขึ้นในเด็ก ก็จะทำให้เรียนรู้ได้ไม่ดี ไม่สามารถจดจำข้อมูลต่าง ๆ ได้

ซึ่งหากสมองของลูกทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลเสียต่อกระบวนการเรียนรู้ทั้งระบบ เพราะวัยเด็ก คือ วัยแห่งการเรียนรู้ หากระบบต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานได้ประสานกันแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของลูกด้วย ลูกอาจกลายเป็นเด็กขี้หงุดหงิด เก็บตัว ซึมเศร้า เนื่องจากสภาวะต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่สามารถทำงานตอบสนองกับความต้องการตามช่วงวัยได้นั่นเอง

 

เห็นไหมคะว่า การเลือกรับประทานอาหารที่ดี และมีคุณภาพ ส่งผลอย่างมากกับลูกทั้งทางร่างกายและกระบวนการทำงานของสมอง ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมสร้างวินัยในการกินที่ดีให้กับลูกกันนะคะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow