Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

MOOC มหาวิทยาลัยออนไลน์ ที่เรียนได้ทุกที่ทั่วโลก

Posted By Plook Teacher | 28 ม.ค. 63
4,499 Views

  Favorite

ปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ล้วนให้ความสำคัญของการศึกษาแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนหันมาเรียนแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้การเรียนแบบปกติมีแนวโน้มที่จะลดลง และจากสถานการณ์นี้เองทำให้ระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหนึ่งในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่ได้ถูกหยิบยกมาใช้พัฒนานั่นคือ การเรียนการสอนแบบออนไลน์ในระบบ “MOOC”

 

“MOOC” (Massive Open Online Courses) คือบริการฟรีในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ที่สามารถรองรับผู้เรียนได้จำนวนมาก โดยไม่จำกัดเพศ อายุ หรือระดับการศึกษา และเป็นการเรียนรู้ที่สามารถเรียนรู้ที่ไหนเวลาใดก็ได้ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตต่าง ๆ เช่น สมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 2012 จากการริเริ่มของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (MIT) ที่ได้เปิดหลักสูตรออนไลน์ให้คนเข้าไปเรียนฟรีเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะรู้จักกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา ในชื่อของ “MOOC”

 

สำหรับการสอนออนไลน์ในระบบ MOOC นั้นมีหัวใจของการจัดการเรียนการสอนอยู่ 3 ประการ อันได้แก่

1. การเข้าถึง (Accessibility) หมายถึง ใครก็ตามสามารถเรียนรู้แบบ MOOC ในบริการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ เช่น สมาร์มโฟน แท็ปเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่สามารถลงทะเบียนได้ฟรี

2. การปฏิสัมพันธ์ (Interaction) หมายถึง การเรียนผ่าน MOOC นั้นจะมีการกระตุ้นผู้เรียนด้วยข้อคำถามที่แทรกระหว่างกับชมวีดีโอ ซึ่งทำให้ผู้เรียนต้องตั้งใจและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และในขณะเดียวกัน MOOC ก็เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สื่อสารกับผู้เรียนคนอื่น ๆ เพื่อขอคำปรึกษาระหว่างกันได้อีกด้วย

3. เสรีภาพ (Freedom) หมายถึง การที่บุคคลสามารถเข้าเรียน MOOC ได้ โดยไม่จำกัดที่อายุ เพศ และพื้นฐานทางการศึกษา

 

MOOC แม้ว่าจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่ก็มีความแตกต่างจากการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่ง (e-learning) พอสมควร เพราะอีเลิร์นนิ่ง (e-learning) นั้นเป็นการเรียนออนไลน์แบบเฉพาะกลุ่ม จึงมักจะใช้การเรียนที่กำหนดผู้เรียนชัดเจน ในขณะที่ MOOC จะเป็นลักษณะของบทเรียนที่วางไว้บนแพลตฟอร์ม (platform) ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ผู้สนใจสามารถเข้ามารู้เรียนได้อย่างเสรี

 

สำหรับองค์ประกอบสำคัญของการเรียนออนไลน์ด้วยระบบ MOOC นั้น มีดังนี้

        1. การรวบรวมความรู้ (Aggregation) เป็นการเข้าถึงและรวบรวมแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อหาผู้เรียนได้ศึกษาอย่างสม่ำเสมอ

        2. การสร้างความสัมพันธ์ (Relation) หลังจากที่เรียนรู้แล้ว ผู้เรียนอาจสะท้อนและสร้างสัมพันธ์ว่า อะไรที่ผู้เรียนรู้แล้ว อะไรคือประสบการณ์เดิม

        3. การสร้างสรรค์ (Creation) หลังจากสรุปผลการเรียนรู้แล้ว ผู้เรียนจะประยุกต์และสร้างสรรค์องค์ความรู้ให้เป็นแบบฉบับของตนเองได้

        4. การแบ่งปัน (Sharing) ผู้เรียนอาจแบ่งปันผลงานกับคนอื่น ๆ บนเครือข่าย

 

การเรียนออนไลน์ในลักษณะของ MOOC นั้น นับเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของบรรดามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพราะรับมือกับปัญหาวิกฤตอุดมศึกษาที่เกิดขึ้น และกำลังกระจายไปทั่วโลก ซึ่งปัญหาวิกฤตอุดมศึกษานั้นคือ การที่มหาวิทยาลัยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนลดลงอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ทำให้สถานศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษาขนาดเล็ก ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จนเกิดปัญหาการปิดตัวลงของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตามมา ซึ่งสาเหตุหลักนั้น เป็นผลมากจากพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเรียนรู้ในโลกปกติไปสู่การเรียนแบบออนไลน์มากขึ้น

 

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งในและนอกประเทศ มีการจัดทำการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบ MOOC ขึ้นมาอย่างมากมาย และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ลงทะเบียนเรียนฟรีในเรื่องที่ตนเองสนใจเรียนรู้ โดยไม่กำหนด เพศ อายุ หรือพื้นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ผู้สนใจมีอิสระในการเรียนรู้มากขึ้น และไม่ถูกจำกัดสิทธิเหมือนการเรียนรู้ในระบบปกติ

 

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังสามารถใช้โอกาสนี้ในการดึงดูดผู้ใช้ ให้มีการลงทะเบียนแบบมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงฟีเจอร์ของระบบ MOOC ที่เพิ่มขึ้น หรือ ได้รับประกาศนียบัตรเมื่อสำเร็จการศึกษาได้อีกด้วย

 

จากการสำรวจในปี 2016 มีผู้ลงทะเบียนเรียนบน MOOC ไม่ต่ำกว่า 58 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงความนิยมในระบบการศึกษาออนไลน์สมัยใหม่ ซึ่งทำให้ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่มีจัดทำระบบการเรียนออนไลน์แบบ MOOC เว็บไซต์ทางการศึกษาหลายรายต่างให้บริการคอร์สการเรียนรู้ออนไลน์ในลักษณะของ MOOC ด้วยเช่นเดียวกัน อาทิเช่น เว็บไซต์ Coursera ซึ่งก่อตั้งโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หรือ Udacity เว็บออนไลน์แนว Tech Unicorn ที่ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ Sebastian Thrun จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การเรียนแบบออนไลน์ในระบบ MOOC นั้นกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

ในประเทศไทย นอกจากมหาวิทยาลัยที่มีการจัดทำ MOOC เฉพาะของแต่ละมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด หรือ “Thai-MOOC” ขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ในแผนงานที่ 3 ที่มีชื่อว่า “การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งเบื้องต้น จะมีขึ้นเพื่อการตอบสนองการศึกษาแบบออนไลน์ และยังถูกวางไว้เป็นสื่อกลางในการดูแล อำนวยความสะดวกและควบคุมมาตรฐาน รวมไปถึงจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้ และเทียบโอนผลการเรียนรู้สำหรับผู้ใช้ได้อีกด้วย

 

MOOC นับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยออนไลน์ที่เปิดขึ้นเพื่อคนทุกคนที่สนใจใฝ่รู้โดยไม่จำกัดในเรื่อง เพศ อายุ หรือระดับการศึกษา ซึ่งตอบสนองกับรูปแบบและเทรนการศึกษาสมัยใหม่และกำลังจะเข้ามาแทนที่การศึกษาในรูปแบบปกติในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงเป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานด้านการศึกษาของประเทศไทยตื่นตัวกับเรื่องนี้ ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาไทยก้าวทันโลกและเติบโตขึ้นได้ในอนาคต

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow