Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กาล-อวกาศ (Space-Time)

Posted By Rezonar | 22 ม.ค. 63
21,997 Views

  Favorite

นิวตันค้นพบว่า ไม่มีสภาวะคงที่ (สัมบูรณ์) อย่างแท้จริง แต่เขายังคงเชื่อว่า เราสามารถวัดระยะห่างของเวลาของ 2 เหตุการณ์ได้อย่างแน่นอนชัดเจน และแม้ว่าใครจะเป็นผู้จับเวลา เวลาก็จะคงเดิม (ถ้าหากผู้จับเวลาใช้นาฬิกาที่ดี) แนวคิดนี้เรียกว่า “เวลาสัมบูรณ์ (Absolute Time)” กล่าวคือ เวลามีอิสระของตัวมันเอง และแยกออกจากอวกาศโดยสิ้นเชิง

 

แนวคิดนี้ หากใช้กับวัตถุที่เคลื่อนที่ไปอย่างช้า ๆ จะยังคงใช้ได้อยู่ แต่ถ้าวัตถุมีการเคลื่อนที่เร็วมาก หรือเข้าใกล้ความเร็วแสง ผลการทำนายจากแนวความคิดนี้จะเริ่มไม่แม่นยำ

ภาพ : Shutterstock

 

ในช่วงศตวรรษที่ 18 เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวล (James Clerk Maxwell) ค้นพบทฤษฎีที่ทำนายว่า คลื่นวิทยุหรือคลื่นแสง เดินทางด้วยความเร็วคงที่ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากไม่มีสภาวะคงที่อย่างสัมบูรณ์ ดังนั้น จึงต้องอ้างอิงว่า คงที่เมื่อเทียบกับอะไร ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงกำหนด Ether ขึ้นมา เพื่อใช้อ้างอิง โดยที่ Ether มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง และคลื่นแสงเดินทางผ่าน Ether จุดที่สังเกตการณ์แต่ละจุด ต่างอยู่ไปในทิศทางและความเร็วที่แตกต่างกันเมื่อเทียบกับ Ether ดังนั้น การวัดความเร็วแสงจะพบว่า ผู้สังเกตการณ์แต่ละจุดวัดความเร็วแสงได้ไม่เท่ากัน (เพราะกำหนดให้ความเร็วแสงคงที่เมื่อเทียบกับ Ether)

 

เราลองมาคำนวณความเร็วแสงโดยอิงตามทฤษฎีของนิวตันกัน

สมมติเหตุการณ์หนึ่ง แสงถูกปล่อยจากจุดที่หนึ่งไปยังจุดที่สอง ผู้สังเกตการณ์แต่ละคน จะจับเวลาทั้งหมดที่แสงเดินทางได้ตรงกัน (เพราะเวลาสัมบูรณ์) แต่ระยะทางที่แสงเดินทางไปไม่ตรงกัน (เพราะอวกาศไม่สัมบูรณ์ ไม่มีตำแหน่งคงที่แท้จริง และขึ้นอยู่กับผู้สังเกตการณ์ในแต่ละตำแหน่ง) ทั้งนี้ความเร็วแสง หมายถึง ในช่วงเวลาที่กำหนด แสงสามารถเดินทางไปได้ไกลเท่าใด ดังนั้น ผู้สังเกตการณ์แต่ละคนจึงวัดความเร็วแสงได้ไม่เท่ากัน

 

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองวัดความเร็วของแสงโดยเคลื่อนที่เข้าหาแหล่งกำเนิดแสง เทียบกับการวัดโดยไม่เคลื่อนที่เข้าหาแหล่งกำเนิดแสง คุณผู้อ่านคงพอนึกภาพออกว่า ความเร็วของแสงที่วัดได้เมื่อเราเคลื่อนที่เข้าหาแหล่งกำเนิดแสง ย่อมต้องมีค่ามากกว่าการไม่เคลื่อนที่เข้าหาแหล่งกำเนิดแสงแน่นอน


แต่ผลปรากฎว่า ทั้ง 2 เงื่อนไข วัดความเร็วแสงได้เท่ากัน และถึงแม้จะมีการทดลองซ้ำอีก ก็ยังให้ผลเเหมือนเดิมทุกครั้ง เรื่องนี้สร้างความสงสัยให้กับนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก จนกระทั่ง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพในปี 1905 โดยเขากล่าวว่า ถ้าหากไม่ยึดหลักการของเวลาสัมบูรณ์ Ether ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ภาพ : shutterstock

 

จากตัวอย่างการคำนวณหาความเร็วแสงตอนต้น สำหรับหลักการของทฤษฎีสัมพัทธภาพระบุว่า ผู้สังเกตการณ์ทุกคนจะวัดความเร็วแสงได้เท่ากัน (โดยไม่ต้องมี Ether) ไม่ว่าจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าใด แต่จะเห็นระยะการเดินทางของแสงได้ไม่เท่ากัน หรือสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ไอน์สไตน์ปฏิเสธเรื่องของเวลาสัมบูรณ์ ผู้สังเกตการณ์แต่ละคนมีมาตรฐานการวัดค่าเวลาที่ไม่เท่ากัน แม้จะใช้นาฬิกาชนิดเดียวกันก็ตาม

 

แนวความคิดของทฤษฎีสัมพัทธภาพ แสดงให้เห็นว่า เวลาไม่ได้มีอิสระในตัวมันเองอย่างที่เข้าใจกันมาช้านาน เวลาไม่ได้แยกตัวต่างหากออกจากอวกาศ ในทางกลับกัน เวลารวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับอวกาศ ทั้งสองรวมอยู่ด้วยกันเป็น “กาล-อวกาศ (Space-Time)”

 

การค้นพบ กาล-อวกาศ มีความสำคัญต่อการค้นพบสิ่งต่าง ๆ ตามมาอีกมาก เช่น การระบุตำแหน่งของดวงดาวอย่างถูกต้องแม่นยำ การอธิบายว่าทำไมเวลาของแต่ละเหตุการณ์จึงเดินไม่เท่ากัน (เมื่อเทียบกับเหตุการณ์อื่น) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังถูกนำไปอ้างอิงถึงการเดินทางข้ามเวลา หรือทฤษฎีรูหนอน ที่มักจะพบได้ในภาพยนตร์หรือการ์ตูนหลายๆเรื่อง การศึกษาพื้นฐานของทฤษฎี นอกจากช่วยให้เข้าใจธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้นแล้ว สำหรับผม ยังช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ให้สนุกขึ้นได้อีกด้วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow