Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พาชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

Posted By ไกด์เตยหอม | 20 ธ.ค. 62
31,697 Views

  Favorite

ชวนเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ชมเครื่องทองโบราณล้ำค่าจากกรุวัดราชบูรณะ พระบรมสารีริกธาตุจากกรุวัดมหาธาตุ โบราณวัตถุต่าง ๆ รวมถึงเครื่องกรองน้ำสมัยอยุธยา และอื่น ๆ อีกมากมาย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ในเกาะเมือง ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สองแถวสายวัดไก่เตี้ยก็ผ่านค่ะ เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. ค่าบัตรเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ / ภิกษุสามเณรและนักบวชในศาสนาต่าง ๆ เข้าฟรีค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 3 อาคาร โดยจุดจำหน่ายบัตรเข้าชมอยู่ที่อาคาร 1 ด้านหน้าสุด ในภาพบนเป็นโถงชั้นล่างของอาคาร 1 ทางขวามือนี้เป็นเศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะละโว้ ซึ่งพระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีไรพระศก ขมวดพระเกษาเหมือนหนามขนุน พบที่วัดธรรมิกราช ในเกาะเมือง ทางทิศเหนือค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นหลังจากการค้นพบพระพุทธรูป พระพิมพ์ และเครื่องทองล้ำค่าจำนวนมหาศาลในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อ พ.ศ. 2500 ล้นเกล้าฯ ร.9 จึงทรงมีพระราชดำริว่าควรมีพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนที่นี่ แทนที่จะนำไปเก็บและจัดแสดงที่อื่น ประชาชนก็เลยช่วยกันบริจาคเงินให้กรมศิลปากรสร้างจนเสร็จ แล้วก็ได้ตั้งชื่อตามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างวัดราชบูรณะค่ะ

ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์เสมือนผ่านเว็บไซต์ Virtual Museum ให้ชมออนไลน์ฟรีก่อนด้วยนะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้วยความที่เป็นราชธานีที่ยาวนานถึง 417 ปี เจริญรุ่งเรืองมากจนล้นเกล้าฯ ร.1 ก็ยังทรงมีพระราชปณิธานที่จะสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้เหมือนกรุงศรีอยุธยา “ครั้งบ้านเมืองดี” งานศิลปะอยุธยาจึงเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่จะพลาดไม่ได้ ในภาพบนนี้ ทางขวาเป็นบานประตูจำหลักรูปเทวดาทรงพระขรรค์ ศิลปะอยุธยา จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดในวังสมัยอยุธยาค่ะ ส่วนทางซ้ายเป็นคันทวยศิลปะรัตนโกสินทร์ จากวัดตะกู ริมแม่น้ำน้อย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตรงกลางในภาพบนนี้เป็นหน้าบันจำหลักรูปนารายณ์ทรงครุฑ ศิลปะอยุธยา จากวัดแม่นางปลื้ม นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหน้าบันแบบนี้จะพบได้ในวัดหลวงเท่านั้น จึงเป็นหลักฐานได้ว่า วัดแม่นางปลื้มนี้น่าจะเป็นวัดหลวง สอดคล้องกับตำนานที่ชาวบ้านเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาทรงสร้างอุทิศให้แม่นางปลื้ม ซึ่งเคยให้ที่พักแรมและสุราแก้หนาว คราวที่ทรงพายเรือฝ่าพายุผ่านมาค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนด้านซ้ายของหน้าบันนั้น ที่ซูมมาให้ดูในภาพบนนี้ คือ บานประตูจำหลักลายก้านขด เทวดา และสัตว์หิมพานต์ ศิลปะอยุธยาจากวัดวิหารทอง นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้ ๆ วัดแม่นางปลื้มค่ะ แม้ชำรุดไปไม่น้อย แต่ก็ยังเห็นถึงความประณีตงดงาม ซึ่งสืบทอดสู่ยุคต่อมา ในภาพล่างนี้คือบานประตูจำหลักลายดอกพุดตานและสัญลักษณ์มงคลจีน ศิลปะรัตนโกสินทร์ จากวัดใหม่คลองสระบัว นอกเกาะเมืองทางทิศเหนือค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพถัดมาในโถงกลางนี้คือ พระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรก ศิลปะร่วมแบบเขมร จากวัดหน้าพระเมรุ ลักษณะเศียรนาคมีจมูกยาว และเศียรนาคที่อยู่ด้านข้างมองแหงนไปทางเศียรกลางบนสุด พระขนง (คิ้ว) เชื่อมต่อกันแบบปีกกา พระโอษฐ์ (ปาก) หนา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหินทรายปางนาคปรก มาจากวัดหน้าพระเมรุเช่นกัน เป็นศิลปะร่วมแบบนครวัดมีรายละเอียดมากขึ้น มีกรองศอ (สร้อยคอ) กุณฑล (ต่างหู) พาหุรัด (รัดต้นแขน) ฯลฯ เศียรนาคก็ได้รับการปรับให้มีลวดลายสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้านหลังพังพานมีสลักเป็นรูปธรรมจักร หรือ “วงล้อแห่งธรรม” ตามหลักพุทธศาสนาด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในพิพิธภัณฑ์สามารถถ่ายภาพนิ่งได้ ยกเว้นภาพบุคคลยืนคู่กับโบราณวัตถุค่ะ ภาพบานประตูจำหลักไม้รูปเทวดาทรงพระขรรค์ด้านล่างนี้ได้มาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยาค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากภาพจะเห็นรายละเอียดของเครื่องประดับและเครื่องแต่งกายชั้นสูงแบบต่าง ๆ ในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎ ต่างหู ทับทรวง ซึ่งเป็นเหมือนจี้ขนาดใหญ่ห้อยต่อจากกรองคอ สังวาลย์ กำไล ฯลฯ รวมถึงลักษณะการนุ่งผ้าแบบต่าง ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาตรงเชิงบันไดทางขึ้นไปสู่ชั้นบนด้านซ้ายเป็นครุฑโขนเรือ งานแกะไม้ลงรักปิดทองศิลปะอยุธยา พบที่แม่น้ำลพบุรีซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของพระนครศรีอยุธยา ถัดมาคือระฆังสำริดศิลปะอยุธยาจากวัดเกาะ วัดร้างนอกเกาะเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนด้านขวานี้เป็นหน้าบันไม้จำหลักลายดอกพุดตานและกระต่าย ศิลปะรัตนโกสินทร์ซึ่งจะมีกลิ่นอายของศิลปะจีน จากวัดหนองน้ำส้ม นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันออกค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ฝั่งตรงข้ามกันมีพระพุทธรูปหินสีขาวขนาดใหญ่ ปางแสดงธรรม ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะทวาราวดี ซึ่งเดิมอยู่ในวิหารวัดพระเมรุ วัดร้างทางทิศใต้พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งจริง ๆ แล้วมี 4 องค์ หันหน้าออก 4 ทิศ แต่สมบูรณ์อยู่องค์เดียว ล้นเกล้าฯ ร.4 จึงโปรดฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ส่วนที่เหลืออีก 3 องค์ชำรุด ต่อมากรมศิลปากรได้มาพบเศียรในวัดพญากงนอกเกาะเมืองทางทิศใต้ จึงนำมาประกอบกันอีกครั้งและอัญเชิญมาประดิษฐานที่นี่ 1 องค์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 1 องค์ และอีกองค์ไปที่วัดพระปฐมเจดีย์เช่นเดียวกับองค์ที่สมบูรณ์ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ชั้นบนถือเป็นไฮไลต์สำคัญเลย คือ ห้องเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ ภายในห้ามถ่ายภาพค่ะ มีทั้งเครื่องราชูปโภค เครื่องศิราภรณ์ เครื่องประดับ พระแสงขรรค์ รวมทั้งเจดีย์และพระปรางค์ทองคำซึ่งอาจเป็นสมบัติของเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา เนื่องจากวัดแห่งนี้เจ้าสามพระยาผู้เป็นน้องโปรดฯ ให้สร้างขึ้นตรงที่ที่ถวายพระเพลิงพระศพพระเชษฐาทั้งสองเพื่ออุทิศให้ท่านค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ต่อมาใน พ.ศ. 2500 มีคนร้ายลักลอบขุดกรุเสียสตินำเครื่องทองบางส่วนมาสวมรำที่ตลาดหัวรอ ตำรวจจึงตามจับมาได้ แม้จะเหลือเพียงราว 1 ใน 4 และนำมาจัดแสดงเพียงบางส่วน แต่ก็เป็นสมบัติอันประเมินค่ามิได้ของชาติ ซึ่งนอกจากเครื่องทองแล้วยังมีพระพุทธรูป และพระพิมพ์จำนวนมากในศิลปะอยุธยาตอนต้น รวมถึงเหรียญเงินที่ปรากฎพระนามกษัตร์ย์แคชเมียร์ในสมัยนั้นอีกด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

บริเวณโถงทางเดินด้านนอกมีการจัดแสดงโบราณวัตถุอื่น ๆ มากมาย ส่วนมากเป็นศิลปะอยุธยา อย่างตู้พระธรรมลายรดน้ำ งานศิลปกรรมไทยที่รุ่งเรืองมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เงินโบราณต่าง ๆ ในภาพล่างนี้คือ เงินพดด้วงตราดาบไขว้ หนัก 9 บาท ใช้กันในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อราว 400 กว่าปีที่แล้วค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ก็มี เบี้ยนาง หรือ เปลือกหอยที่ใช้เป็นเงินปลีก 800 เบี้ยเท่ากับ 1 เฟื้อง (8 เฟื้องเท่ากับ 1 บาท) ดังนั้น 6,400 เบี้ย จึงเท่ากับ 1 บาท

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนเหรียญดินเผาในภาพล่างนี้คือ ประกับ ตีตราเป็นรูปต่าง ๆ เช่นดอกบัว ใช้แทนเบี้ยเมื่อเบี้ยขาดแคลนค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

อีกฟากหนึ่งมีพระบฏ หรือภาพเขียนรูปพระพุทธเจ้าบนผืนผ้าขนาดใหญ่ โดยดูจากล่างขึ้นบนเริ่มตั้งแต่ที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ จนถึงส่วนบนสุดของผ้าเป็นภาพพระพุทธรูปทรงเครื่องโดยมีพระอัครสาวกยืนอยู่ทั้งซ้ายขวา ศิลปะต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนห้องถัดมาก็เป็นอีกหนึ่งห้องสำคัญของพิพิธภัณฑ์นี้ คือ ห้องพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องทอง กรุวัดมหาธาตุ ภายในงดถ่ายภาพเช่นกันค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

วัดมหาธาตุเป็นวัดสำคัญกลางพระนครศรีอยุธยา และเป็นวัดแรกที่กรมศิลปากรได้บูรณะจนไปเจอกรุในพระปรางค์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องทองต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2499 จนเกิดกระแสตื่นทองนำไปสู่การลักลอบขุดโบราณสถานอื่น ๆ รวมถึงวัดราชบูรณะในเวลาต่อมานั่นเองค่ะ เครื่องทองในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุที่จัดแสดงอยู่จะเป็นงานพุทธศิลป์เป็นส่วนมากค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ที่ผนังบันได้ขึ้นลงมีตัวอย่างลายผ้าบนผ้าพิมพ์ลายอย่าง ซึ่งเป็นผ้าในราชสำนักซึ่งไทยออกแบบลวดลายแล้วส่งไปพิมพ์ที่อินเดียแล้วจึงนำกลับมา ทำนองเดียวกับเครื่องเบญจรงค์ที่ไทยออกแบบแล้วสั่งผลิตเข้ามาจากจีนค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในชั้นล่างมีห้องนิทรรศการพิเศษ “เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน” ซึ่งจัดแสดงเครื่องทองต่าง ๆ ทั้งเครื่องประดับ เครื่องราชูปโภค งานพุทธศิลป์จากทองคำ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุศิลปะอยุธยาแท้ ๆ อีกมากมายให้ได้ชมกันต่อค่ะ ใครสนใจลายเครื่องทองโบราณพลาดไม่ได้จริง ๆ ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาด้านนอกระหว่างทางไปอาคาร 2 และอาคาร 3 จะเห็นสัญลักษณ์มรดกโลก ด้วยพื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 ของเกาะเมืองแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโกค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้เป็นสนามหญ้าด้านข้างอาคาร 1 มีการจัดแสดงยอดพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น โครงสร้างภายในทำจากเหล็กแล้วมีการฉาบปูนทับ เดิมเป็นส่วนยอดของเจดีย์แปดเหลี่ยมยอดปรางค์ในวัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เดินอ้อมผ่านเรือนไทยซึ่งเป็นอาคาร 3 มายังด้านหลังจะพบกับอาคารก่ออิฐถือปูนสีขาวซึ่งก็คืออาคาร 2 หลังนี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถอดรองเท้าไว้ด้านหน้าแล้วก็เข้าไปชมข้างในได้เลย ส่วนจัดแสดงเป็นโถงยาวใหญ่โถงเดียวไม่ต้องกลัวหลงแน่นอน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้เป็นการนำชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นหน้าบันตำหนักวัดเตว็ด (ด้านทิศเหนือ) ซึ่งได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีมาจัดเรียงให้ดู เป็นลักษณะคล้ายลายก้านขดขนาดใหญ่ มีป้ายระบุไว้ว่าเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลายค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนด้านล่างนี้เป็นสมุดภาพพระมาลัย อายุประมาณ 100 ปี ซึ่งได้รับมาจากเจ้าอาวาสวัดตะกู อำเภอบางบาล พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2542 ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ก็มีการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องเบญจรงค์ ซึ่งเป็นที่นิยมมาตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงเครื่องลายครามที่เข้ามาจากการติดต่อค้าขายกับจีนและเป็นที่นิยมมากจวบจนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้ลายเทพนมท่วงท่าอย่างไทย แต่ตาตี่อย่างจีน เครื่องประดับ ลายกนกหรือก้านขดที่ประดับรอบ ๆ แม้จะมีเค้าลายอย่างไทย แต่ก็แตกต่างจากลายที่ช่างไทยเขียนในงานศิลปะรดน้ำปิดทองต่าง ๆ จึงเป็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนที่มีมาแต่โบราณของทั้งสองประเทศ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งมีเครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุร่วมสมัยเดียวกับกรุงศรีอยุธยาด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ก็มีการจัดแสดงเครื่องสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผาจากสุโขทัย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

รวมถึงแหล่งเตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีอายุเก่าแก่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยได้รับอิทธิพลศิลปะทวาราวดีและศิลปะละโว้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนในภาพล่างนี้เป็นเครื่องปั้นดินเผาศิลปะทวาราวดี ซึ่งเป็นอาณาจักรแรก ๆ ของอารยธรรมไทยเลยค่ะ อยู่ในพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แถบเมืองนครปฐม ละโว้ (ลพบุรี) คูบัว (ราชบุรี) ศรีมโหสถ (ปราจีนบุรี) ศรีเทพ (เพชรบูรณ์) และจันเสน (นครสวรรค์)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่โบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์จากบ้านเชียง อีกหนึ่งมรดกโลกสำคัญของไทยในจังหวัดอุดรธานี

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็เดินย้อนกลับออกมาทางเดิม ด้านขวามือจะเป็นหมู่เรือนไทยกลางน้ำ ซึ่งก็คืออาคาร 3 นั้นเองค่ะ เรือนนี้จริง ๆ แล้วสร้างใน พ.ศ. 2527 ค่ะ สิ่งปลูกสร้างที่ทำจากไม้จะทรุดโทรมเร็วและถูกเผาทำลายได้ง่าย อาคารไม้ในเกาะเมืองส่วนมากแทบไม่มีเหลือรอดจากไฟสงครามเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 เลยค่ะ แม้แต่หลังนี้เองยังเคยเกิดเหตุไฟไหม้ใน พ.ศ. 2541 จนต้องปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เลยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หน้าเรือนมีต้นจำปีออกดอกหอมละมุน เป็นดอกไม้ไทยในวรรณคดีไทยอย่างเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งเชื่อกันว่ามีเค้าเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังมีสรรพคุณทางยาตามตำรับยาสมุนไพรไทย แก้คลื่นเหียน อาเจียน บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท และยังนิยมนำมาร้อยมาลัยและใช้ทำเครื่องหอมด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เพื่อความปลอดภัย เรือนนี้ขึ้นชมได้ครั้งละไม่เกิน 30 คนนะคะ บนชานเรือนมีเครื่องกรองน้ำโบราณสมัยอยุธยา ซึ่งใช้นุ่น ก้อนหิน ทราย และถ่าน แทนไส้กรองเรียงเป็นชั้น ๆ ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ข้างฝาเรือนประดับภาพวิถีชีวิตชาวบ้านในอดีต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งช่วงที่ไป (กลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562) จัดแสดงเกี่ยวกับกระเบื้องต่าง ๆ ในสถาปัตยกรรมไทยที่พบในพระนครศรีอยุธยาค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีรวบรวมตัวอย่างกระเบื้องที่พบจากแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ มาจัดหมวดหมู่ อย่างในภาพบนนี้เป็นกระเบื้องเชิงชายลายเทพนม ส่วนภาพล่างนี้เป็นกระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวจากที่ต่าง ๆ เช่น พระราชวังโบราณ วัดวงษ์ฆ้อง ฯลฯ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตัวอย่างการมุงกระเบื้องเกล็ดเต่า ซึ่งต้องเรียงสลับกันเหมือนลายบนกระดองเต่า  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

การมุงกระเบื้องดินขอ ซึ่งจะมุงต่อกันเห็นเป็นลายสี่เหลี่ยม ปลายตรง ไม่เป็นมุมแหลมเหมือนกระเบื้องเกล็ดเต่า

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ข้าง ๆ กันมีนอกชานซึ่งนั่งพักผ่อนรับลมเย็น ๆ ได้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

โดยทางเดินระเบียงซึ่งแม้จะค่อนข้างเก่าแล้ว แต่ก็มีการประดับกระถางชวนชมและไม้ประดับต่าง ๆ ดูน่ารักดีค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ก่อนกลับหากหิวหรือกระหายก็แวะมาทางโรงอาหารเล็ก ๆ ใกล้ ๆ ลานจอดรถซึ่งอยู่เลยอาคาร 1 ไปทางขวามือได้นะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีห้องน้ำสะอาดไว้ให้บริการในบริเวณใกล้เคียงกันค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หากมีโอกาสมาเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแล้วละก็ ชมโบราณสถานเสร็จ แวะหลบร้อนมาเยือนพิพิธภัณฑ์ชมโบราณวัตถุล้ำค่าของแท้ด้วยให้ครบสูตรได้เลยนะคะ มาสัมผัสกับเสี้ยวความทรงจำอันงดงามของราชธานีที่เคยเจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

 “Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

อ้างอิง : ศิลปกรรมในประเทศไทย: ภูมิหลังทางปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม โดย ศ. ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow