Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คนเราสามารถอดนอนได้นานแค่ไหน?

Posted By Rezonar | 03 ธ.ค. 62
42,472 Views

  Favorite

จากการคำนวณอย่างไม่เป็นทางการพบว่า หากคนเรามีอายุ 78 ปี ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา จะใช้เวลา 9 ปีในการดูโทรทัศน์ ใช้เวลา 4 ปีในการขับรถ และใช้เวลา 92 วันในการเข้าห้องน้ำ  แต่กิจกรรมหนึ่งที่กินเวลาในชีวิตของคนเรามากที่สุดคือ การนอน ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 25 ปี หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาในชีวิตทั้งหมดเลยทีเดียว ดังนั้น หากเรานอนน้อยลง เราก็อาจจะมีเวลาในชีวิตเพื่อทำสิ่งอื่น ๆ ได้มากขึ้น แต่คำถามก็คือ มนุษย์สามารถอดหลับอดนอนได้นานแค่ไหนกัน?

ภาพ : Shutterstock

 

เหตุใดการนอนหลับจึงสำคัญ

สิ่งที่คอยกระตุ้นความอยากนอนหลับของมนุษย์นั้นยังคงเป็นปริศนา แต่การนอนหลับพักผ่อนก็เป็นสิ่งสำคัญ คล้ายกับเป็นการ “รีเซ็ต” ระบบในร่างกาย การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอช่วยส่งเสริมการรักษาภูมิคุ้มกันของร่างกาย รักษาสมดุลการเผาผลาญอาหารที่เหมาะสม และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงรู้สึกดีเมื่อเราได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค(Centers for Disease Control and Prevention :CDC) ของสหรัฐอมเริกา แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปีนอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อคืน อย่างไรก็ตามประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของคนระหว่างช่วงอายุนี้ในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้นอนหลับอย่างเพียงพอ

ภาพ : Shutterstock

 

เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่ออดนอน

ในปี ค.ศ.1980 นักวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ทดลองจับคลื่นสมองของหนู แล้วปล่อยมันไว้บนแผ่นจานหมุน โดยหากมันกำลังจะหลับ คลื่นสมองที่ตรวจจับได้จะกระตุ้นให้จานหมุนและเหวี่ยงหนูลงไปในน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันหลับ โดยเฉลี่ยแล้ว หนูจะถูกปลุกให้ตื่นวันละพันครั้ง สิ่งที่สังเกตได้จากการทดลองคือ หนูทดลองเหล่านั้นมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบรักษาอุณภูมิของร่างกาย น้ำหนักตัวลดลงแม้พวกมันจะอยากอาหารมากขึ้นก็ตาม หนูทุกตัวตายเมื่อเวลาผ่านไปราว 1 เดือน ทั้งนี้ สาเหตุอาจมาจากความเครียดที่พวกมันถูกปลุกให้ตื่นก็เป็นได้

 

จากรูปแบบผลการทดลองที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดจากความเครียดที่ถูกปลุกหรือเกิดจากการอดนอน ก็เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ยาก นอกจากนี้การทดลองก็จำเป็นต้องได้รับความสมัครใจจากผู้เข้ารับการทดลองด้วย ซึ่งหนูทดลองไม่ได้ให้ความเต็มใจที่พวกมันจะอดนอนนั่นเอง นอกจากนี้ การทดลองกับมนุษย์โดยตรงว่า คนเราจะสามารถอดหลับอดนอนได้นานที่สุดเท่าไรยิ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ของการทดลองอาจหมายถึง “ความตาย”

 

อย่างไรก็ตาม ได้มีการศึกษากลุ่มคนที่อดนอนเป็นระยะเวลา 24 48 และ 72 ชั่วโมง และสังเกตแนวโน้มที่เปลี่ยนไปของร่างกายไว้ดังนี้

• อดนอน 24 ชั่วโมง - คนส่วนใหญ่จะเริ่มประสบผลกระทบจากการอดนอนหลังจาก 24 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การตื่นตัวอยู่อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เปรียบได้กับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด (BAC) 0.10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว (เปรียบได้กับการดื่มสุรา 12 แก้ว แก้วละ 2 ฝา) ผลของการอดนอนเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง อาจรวมถึง อาการง่วงนอน, หงุดหงิด, สมาธิและความจำแย่ลง, การตัดสินใจเชื่องช้าและผิดพลาด, ระดับฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอลและอะดรีนาลีนเพิ่มขึ้น, ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลายอย่างนั้น เนื่องจากสมองพยายามรักษาระดับพลังงานโดยการเข้าสู่สถานะที่ทางการแพทย์เรียกว่า “Local Sleep” โดยในสภาวะเช่นนี้ ร่างกายจะหยุดการทำงานของเซลล์ประสาทบางส่วนในสมอง ส่งผลให้คนที่อดนอนในช่วงนี้ มีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

• อดนอน 48 ชั่วโมง - สมองจะเริ่มหมดสติโดยสมบูรณ์ในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือที่เรียกกันว่า “Microsleep” ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่สามารถขัดขืนได้ และในแต่ละครั้งอาจกินเวลานานหลายวินาที นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการรับรู้ของคนที่อดนอนจะแย่ลงและรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมาก

 

• อดนอน 72 ชั่วโมง - จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2015 นักบินอวกาศสองคนมีความบกพร่องเกี่ยวกับการทำงานที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์, อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และอารมณ์ทางบวกที่ลดลงหลังจากต้องตื่นนอนเป็นเวลา 3 วัน กล่าวคือ การอดนอนในระดับนี้ จะมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่ออารมณ์และความคิดของตัวบุคคล

ภาพ : Shutterstock

 

มนุษย์ที่อดนอนได้นานที่สุด

คำถามที่น่าสนใจมากที่สุดในหัวข้อนี้ คงหนีไม่พ้น “เราจะตื่นนอนได้นานแค่ไหน” เป็นแน่ โดยบันทึกที่ถูกอ้างถึงกันมากที่สุดสำหรับการอดนอนโดยความสมัครใจ เป็นของแรนดี การ์ดเนอร์ (Randy Gardner) ในช่วงปลายปี ค.ศ.1963 จนถึงเช้าของวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1964 การ์ดเนอร์ในวัย 17 ปี ได้ทดลองหัวข้อโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการอดนอนได้มากที่สุดถึง 11 วัน กับอีก 25 นาที

 

ในระหว่างการทดลอง คลื่นสมองของเขาจะถูกตรวจวัดอยู่ตลอดเวลา และจากผลการตรวจคลื่นสมองตลอดระยะเวลาการนอน พบว่า สมองของเขาจะมีการงีบในช่วงสั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยที่บางส่วนหลับลง แต่บางส่วนจะยังคงทำงาน เป็นไปได้ว่า สมองของมนุษย์อาจมีการเรียนรู้และปรับตัวให้รู้จักงีบ (เพียงบางส่วน) และตื่นตัวขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสมอง

 

การ์ดเนอร์นอนหลับไป 14 ชั่วโมงหลังการทดลอง ก่อนจะตื่นขึ้นมาเรียนต่อในวันรุ่งขึ้นได้ตามปกติ และไม่พบอาการเจ็บป่วยใด ๆ หลังจากการทดลอง อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เขาได้รับความทุกข์ทรมานหลังจากนั้นเป็นเวลาหลายปี ทั้งนี้ Guinness Book of Records ได้ยกเลิกที่จะรับรองสถิติ หากมีใครคิดพยายามที่จะอดนอนให้ได้นานกว่าการ์ดเนอร์ เนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของมนุษย์นั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

ถึงแม้ว่าการอดนอนจะเป็นการใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตคนเรา แต่การอดนอนนั้นกลับส่งผลเสียให้กับชีวิตเสียมากกว่า ทั้งผลเสียในระยะสั้น เช่น ความตึงเครียด, ความทรงจำระยะสั้นที่แย่ลง, ความตื่นตัวที่ลดลง หรืออาจส่งผลให้ประสบอุบัติเหตุจากความง่วงซึมได้ และผลเสียในระยะยาว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน, เบาหวาน, ความดัน, โรคหัวใจ รวมไปถึงความวิตกกังวลและโรคซึมเศร้าอีกด้วย ถึงแม้จะมีใครสามารถนำเอาเวลานอนพักผ่อนมาทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้มากขึ้นก็ตาม แต่งานนั้นก็คงต้องแลกกับผลเสียที่จะตามมาอีกมากมาย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow