Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Working Memory คืออะไร ดีอย่างไรต่อกระบวนการเรียนรู้

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 28 พ.ย. 62
13,350 Views

  Favorite

Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) คือ กระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่จดจำข้อมูล จัดระบบแล้วเก็บรักษาข้อมูลไว้ในคลังสมอง เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการใช้งาน สามารถนำข้อมูลในสมองออกมาใช้งานได้อัตโนมัติ เป็นความจำที่เรียกข้อมูลกลับมาเพื่อใช้อย่างถูกที่ถูกเวลา

 

ซึ่งแตกต่างจากการจำแบบท่องจำ เพราะการท่องจำเป็นการจดจำข้อมูลที่ไม่เคลื่อนไหวแล้ว เช่น การจดจำชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์ ท่องจำชื่อเมือง ท่องจำเหตุการณ์สำคัญ เพื่อทำข้อสอบ หรือเพื่อบันทึกหลักฐานข้อมูลที่เป็นเนื้อหาวิชาการ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง หรือนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ข้อมูลเหล่านี้เมื่อไม่ท่องจำ ก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป แต่ Working Memory เป็นการจดจำข้อมูลที่เคลื่อนไหว และนำมาเชื่อมโยงเพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น การอ่าน การเขียนคำศัพท์ หรือการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ถ้ากระบวนการทำงาน Working Memory ไม่ดี ก็จะไม่สามารถวางแผน จัดระบบข้อมูล เรียบเรียงเรื่องราวออกมาเป็นเรื่องราว หรือคิดประมวลผลคำตอบที่ถูกต้องได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

สำหรับเด็ก ๆ Working Memory เกี่ยวข้องกับทักษะทางวิชาการในทุก ๆ ด้าน ทั้งการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ และการเรียนภาษา ดังนั้น การพัฒนา Working Memory ตั้งแต่วัยเด็ก จึงช่วยส่งผลต่อความสำเร็จ ในการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียนการได้ทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมองในส่วนของ Working Memory อยู่บ่อย ๆ เช่น การเล่นเกม Memory card หรือการเล่นเกมกิจกรรมถามตอบข้อมูล ก็จะช่วยส่งผลให้เด็กเกิดสมาธิ มีความใส่ใจจดจ่อ และกระตุ้นให้สมองในส่วนของ Working Memory นั้นได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้ดี และประสบความสำเร็จในการเรียนรู้เนื้อหาในระดับชั้นต่อ ๆ ไป เนื่องจากพวกเขาจะมีความสามารถในการจดจำข้อมูลที่มีความหมาย นำไปใช้คิดเชื่อมโยงกับประสบการณ์ความรู้เดิม และนำมาประมวล เพื่อใช้งานหรือต่อยอดเป็นความรู้ใหม่ได้

 

เด็กที่มี Working Memory ไม่แข็งแรงนั้นจะเรียนรู้ได้ช้ากว่าเพื่อน ขี้ลืม หรือต้องฟังโจทย์ซ้ำหลายครั้ง จึงจะสามารถประมวลผล จนเกิดความเข้าใจได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าพวกเขาเหล่านั้น "ขี้เกียจ" หรือ "ไม่ตั้งใจเรียน" ดังนั้นการฝึก Working Memory จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ตั้งแต่วัยอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัยเลยค่ะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow