Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มาทำความเข้าใจภาวะ Dyslexia กันเถอะ

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 28 พ.ย. 62
8,587 Views

  Favorite

เมื่อพูดถึงภาวะ Dyslexia แม่แหม่มเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินผ่านหู หรือเห็นผ่านตาจากการอ่านบทความทางการแพทย์มาบ้าง วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ Dyslexia นี้กันค่ะ

 

คำว่า Dyslexia รากศัพท์แยกออก 2 ส่วน คือ คำว่า dys ซึ่งมี 2 ความหมายคือ ไม่ / ความยากลำบาก / (not / difficulties) ส่วนคำว่า lexia หมายถึง คำ การอ่าน ภาษา (words, readings, language) เมื่อรวม 2 ส่วนเป็นคำเดียวกัน จึงหมายถึง ความยากในการใช้คำ หรือปัญหาในการใช้ภาษานั่นเอง

 

ภาพ : Shutterstock

 

ในวัยเด็กพ่อแม่จำนวนมากอาจมีความกังวล ว่าลูกของตนอยู่ในภาวะ Dyslexia หรือไม่ เพราะบางคนมีความเข้าใจว่า Dyslexia นั้นคือ ภาวะที่เด็กสับสน หรือไม่เข้าใจในการใช้ตัวอักษร คำ หรือประโยค เช่น สับสนระหว่าง ถ กับ ภ หรือใช้คำพูดในประโยคสลับที่กัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในวัยเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ที่กำลังเริ่มเรียนรู้ภาษาและอาจเกิดความสับสนระหว่างตัวอักษรและคำที่ดูใกล้เคียงกัน แต่จะหายไปเมื่อเริ่มโตขึ้น เพราะสมองจะมีการประมวลผลในเรื่องภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เมื่ออายุ 7 ขวบขึ้นไป หากปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่พ่อแม่ควรรีบแก้ไข หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน

ภาวะ Dyslexia นั้น มีสาเหตุมาจากการทำงานของสมองที่สั่งการและควบคุมด้านการเชื่อมโยงเสียงกับตัวอักษร ตัวสะกด ทำงานบกพร่อง และยังรวมไปถึงพื้นฐานของสมองที่สั่งการด้านความจำ การวิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนตามมา

 

โดยปัญหาที่ส่งผลกระทบให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ

1. เด็กจะมีปัญหาในเรื่องของการอ่าน และการสะกดคำ ซึ่งนี่คือสัญญาณบ่งบอกว่า ความสามารถในการวิเคราะห์เสียงและคำ ทำงานไม่เชื่อมโยงกัน (Fluent Word Recognition)

2. กระบวนการอ่านและทำความเข้าใจคำใหม่ ๆ ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เมื่อเห็นตัวอักษรและคำใหม่ ไม่สามารถที่จะนำอักษรและสระมาผสม และสร้างคำอ่านที่เหมาะสมหรืออ่านใกล้เคียงได้ ซึ่งจะส่งผลไปยังทักษะทางด้านความเข้าใจทางการอ่านอีกด้วย

 

เด็กที่เป็น Dyslexia โดยมาก จะเริ่มพบปัญหาในช่วงวัยอนุบาล แต่ในวัยนี้ การวินิจฉัยจากแพทย์จะไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กมีปัญหาด้านการประมวลผลทางการฟังและการมองได้อย่างชัดเจนนัก (auditory processing + visual processing) ต่อเมื่อเริ่มเข้าสู่ชั้นประถม เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ในเรื่อง ตัวอักษร โฟนิกส์ (Phonics) และกลุ่มคำศัพท์มากขึ้น การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้สมองด้านความจำ สมาธิ ความไวในการประมวลผลข้อมูล และการเรียงลำดับข้อมูลเนื้อหาต่าง ๆ ให้ถูกต้องและแม่นยำเป็นอย่างมาก แพทย์จึงจะเริ่มตรวจพบว่าเด็กมีอาการ Dyslexia หรือไม่ ซึ่งอาการจะเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงวัยนี้

 

เด็กที่มีอาการ Dyslexia จะหายได้ เมื่อได้รับการกระตุ้นและฝึกสมองอย่างถูกวิธี ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และที่สำคัญพ่อแม่ต้องมีความใส่ใจ เข้าใจ และให้ความสำคัญกับการช่วยลูกแก้ปัญหานี้ไปด้วยกัน

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow