เมื่อช่วงฮาโลวีนที่ผ่านมาก็เกิดอยากนั่งรถไฟเที่ยวชิว ๆ อีกครั้ง เลยชวนเพื่อนจองตั๋ว รถไฟขบวนพิเศษนำเที่ยวน้ำตกไทรโยคน้อย กันค่ะ โดยโทรจองที่ 1690 แล้วไปจ่ายเงินและออกตั๋วภายในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจองล่วงหน้าได้ 1 เดือนค่ะ แนะนำให้เผื่อเวลาดี ๆ เพราะจะเต็มไวมาก ๆ ในหลายเส้นทาง
ดีใจมากที่งวดนี้จองโบกี้แอร์ ฝั่งซ้ายด้วย (วิวแม่น้ำ) ได้สำเร็จ เพราะเส้นทางนี้จะใช้เวลาอยู่บนรถไฟรวมราว ๆ 8 – 9 ชั่วโมงเลยทีเดียวค่ะ วันเดินทางเรามาขึ้นรถไฟกันที่หัวลำโพง รถออก 6.30 น. ก็ตั้งใจมาให้ถึงกันตั้งแต่ 6.15 น. เบาะนิ่ม แอร์เย็นสบาย มีโต๊ะเล็ก ๆ หน้าที่นั่งฝั่งริมหน้าต่างด้วย ที่วางตั๋วในรูปบนเลยค่ะ
ในรูปบนนี้ถ่ายตั้งแต่รถไฟยังไม่ออกจากหัวลำโพง คนเลยยังไม่เต็มค่ะ แต่จริง ๆ แล้วเต็มทุกที่นั่งนะคะ เพียงแค่สถานีที่ขึ้นของแต่ละคนไม่ตรงกัน บางคนขึ้นสามเสน บางคนบางซื่อ พ้นศาลายามาก็แทบจะครบทุกที่นั่งแล้วค่ะ
ตรงหัวท้ายก่อนถึงทางเชื่อมไปยังโบกี้อื่น ๆ มีห้องน้ำด้วยนะคะ สะอาดทีเดียว สำหรับกรณีปวดปัสสาวะระหว่างที่รถกำลังวิ่งค่ะ
พอรถออกจากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ได้สักพักก็มีเจ้าหน้าที่มาตรวจตั๋วและแจ้งกำหนดการเดินทางรวมทั้งให้คำแนะนำต่าง ๆ ค่ะ ระหว่างทางก็มีแม่ค้าพ่อค้ามาขายอาหารเช้า ถ้าใครจะไปเที่ยววัดพระปฐมเจดีย์แบบเต็มที่หรือหิวเต็มทีแล้วก็สามารถซื้อหาได้
8.00 น. เราก็ถึงสถานีนครปฐมค่ะ ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่แจ้งไว้แล้วว่า 8.40 น. รถออก ดังนั้นจึงมีตัวเลือกเกิดขึ้นค่ะ
สำหรับคนที่ไม่เคยมาที่นี่มาก่อนมักจะเลือกไปเที่ยว พระปฐมเจดีย์ เดินเท้าได้เลย ออกมานอกสถานีก็เห็นแล้ว เดินตรงอย่างเดียว 400 เมตร แล้วจากนั้นก็แวะซื้อเสบียงตุนไปกินบนรถจากตลาดหน้าสถานีรถไฟได้เลย
แต่ด้วยความที่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานั่งรถไฟไปหัวหินก็แวะเช้าที่นี่ เลยได้ไปถ่ายรูปสวย ๆ ที่พระปฐมเจดีย์มาแล้วเลยขอใช้รูปเก่าคราวที่ไปหัวหิน แล้วเอาเวลาไปเดินเล่นในตลาดและกินมื้อเช้าแทนค่ะ
เริ่มจากน้ำอ้อยสด ๆ หน้าสถานีแก้วเบ้อเริ่ม 20 บาท หวานเย็นชื่นใจ
คราวก่อนไปกินข้าวหมูแดงตั้งฮะเส็งมาแล้ว คราวนี้ขอแวะร้านบะหมี่เกี๊ยวเก่าแก่ตั้งแต่สมัยที่เจ้าของว่ามีมาตั้งแต่สมัย ร.6 ร้านโกใจ๋บ้างค่ะ ไฮไลต์ของร้านนี้คือเขาทำเส้นบะหมี่และแผ่นเกี๊ยวเอง ไม่ใส่สี สีจึงจะออกขาวอมเหลืองนิด ๆ ไม่เหลืองสดใสเป็นดอกทานตะวันอย่างที่อื่น
เกี๊ยวก็จะห่อแบบตั้งเดิมคือเป็นรูปคล้ายทองก้อนโบราณจีนที่เรียกว่า “หยวนเป่า (元宝)” เลยค่ะ ทุกวันนี้ชาวจีนก็ยังนิยมรับประทานเกี๊ยวรูปร่างคล้าย ๆ ทองก้อนนี้ในช่วงตรุษจีนเพื่อความเป็นสิริมงคล สื่อถึงความมั่งคั่งค่ะ
ชามนี้ 40 บาท เป็นหมี่เกี๊ยวหมูแดงลูกชิ้นแยกน้ำค่ะ ซุปที่นี่ใช้น้ำต้มกระดูกและตั้งฉ่าย (ผักกาดขาวดอง) หอมกลมกล่อมใช้ได้เลย ซึ่งสำหรับคนที่ชอบรสจัดก็เติมเครื่องปรุงเองไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล น้ำปลา พริกน้ำส้ม พริกป่นตามใจชอบได้ค่ะ สำหรับสายชิวถ้ากลัวกินไม่ทันก็มีแบบแห้งใส่ห่อไปกินบนรถไฟได้ด้วยนะคะ
นอกจากนี้ก็ยังมีอาหารอื่น ๆ ให้เลือกมากมาย อย่างผัดไทยหน้าสถานี
ข้าวขาหมูรถบรรทุก
มื้อเช้าหรือเสบียงที่ฮิตสุด ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือข้าวเหนียวหมู ไก่ ปลา ค่ะ ห่อละ 20 บาท
ของคาวกันแล้วก็มาดูของหวานบ้าง จริง ๆ ขนมไทยเยอะมาก แต่เราก็เน้นดูที่หอบหิ้วไปกินบนรถไฟง่าย ๆ อย่างข้าวเม่าทอด (กล้วยไข่สุกชุบแป้งผสมข้าวเม่า มะพร้าวขูด กะทิ และน้ำตาลปี๊บ) กล้วยทอด ฯลฯ
แล้วก็ของดีเมืองนครปฐม ขนมจาก ข้าวหลามแม่ลูกจันทร์ มีหลายไซส์ หลายอย่าง ทั้งข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวดำ หลายขนาด หลายราคา เป็นเจ้าดังของที่นี่อีกเจ้าค่ะ
ที่เป็นขึ้นชื่อมาก ๆ เลยก็คือบะจ่างในกระบอกไม้ไผ่ กระบอกใหญ่ ๆ ไส้แน่น ๆ 120 บาทค่ะ
8.40 น. ล้อหมุนจริง ๆ แต่ส่วนใหญ่จะกลับมากันก่อนราว 5 นาทีค่ะ เพราะรถไฟไม่รอใคร ออกตรงตามที่เจ้าหน้าที่บอกเสมอค่ะ ใครตกรถนี่ได้เที่ยวนครปฐมยาวเลย รถจะมารับอีกที 18.30 น. โน่นค่ะ
จากสถานีนครปฐมก็แล่นผ่านทุ่งนาสู่จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี เนื่องจากได้ที่นั่งฝั่งซ้ายก็จะเห็นภูเขาไกลลิบ ๆ เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาตะนาวศรีพรมแดนไทยพม่าค่ะ ระหว่างนี้ก็มีรายการของฝากมาให้เลือกซื้อหา แต่ขบวนนี้จะต่างจากสายหัวหินตรงที่มีลูกชิ้นปลานึ่งและเป็ดย่างเกลือเมืองกาญจน์ด้วยค่ะ
ราว 10.00 น. ก็จะถึงที่หยุดรถสะพานแควใหญ่ หรือ สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นสะพานที่สำคัญที่สุดในเส้นทางรถไฟสายมรณะ สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองค่ะ 23 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2562 จะมี งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควและงานกาชาดจังหวัด ที่นี่ด้วยนะคะ
บนสะพานคนถ่ายรูปกันเยอะมาก ๆ เลยถอยมาตั้งหลัก 2 ฟากตรงทางลงไปสวนสาธารณะเชิงสะพานค่ะ จากมุมนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่าราวกั้นกลางสะพานช่วงหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูต่างจากช่วงอื่น ๆ ที่เชลยศึกนับหมื่นถูกเกณฑ์ให้สร้างซึ่งจะเป็นโค้ง เพราะส่วนนี้เดิมโดนระเบิดไปแล้วรัฐบาลไทยสร้างใหม่ภายหลังค่ะ
บริเวณใกล้เคียงมีตลาดนัดขายเสื้อผ้า ร้านอาหาร และแผงขายของกินเล่น
ยาวไปจนถึงตลาดพลอยที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเลยค่ะ
ดูนาฬิกาแล้วยังเพิ่ง 10.15 น. รถออก 10.30 น. ยังมีเวลาอีก 10 – 15 นาที เลยขอข้ามไปดูสักหน่อย
ร้านขายเครื่องประดับ หินสี และพลอยต่าง ๆ มากมาย ในภาพล่างนี้คือ พี่ ๆ ช่างเจียรพลอยที่ร้านชินค่ะ ก่อนหน้านี้เคยมาได้ต่างหูนิลสวย ๆ จากเมืองกาญจน์ไป คู่ละ 500 บาทพร้อมใบรับประกัน ที่นี่ดังเรื่องนิลและไพลินค่ะ แม้พลอยไทยน้อยลงแต่ช่างเราดีมีฝีมือจึงมีการนำพลอยจากที่อื่นมาเจียรทำเครื่องประดับ จนอัญมณีได้รับการยอมรับในระดับโลกด้วยค่ะ
10.25 น. ได้เวลาเร่งฝีเท้ากลับรถไฟ คนส่วนใหญ่ก็ขึ้นรถกันแล้ว ตรงลานจอดรถไฟโบราณข้าง ๆ ก็เลยว่างให้ได้แวะถ่ายรูปแบบนี้ละค่ะ
พอข้ามสะพานมาแล้วจะเห็นวิวแม่น้ำไทรโยคน้อยท่ามกลางขุนเขาลำเนาไพร
บางช่วงก็ผ่านไร่มันสำปะหลังของชาวบ้านด้วย
ราว ๆ เกือบชั่วโมงก็จะถึงช่วงทางรถไฟไต่หน้าผาแล้วค่ะ จะอยู่ระหว่างสวนไทรโยคซึ่งเป็นรีสอร์ตในภาพล่างนี้ กับสถานีถ้ำกระแซค่ะ
ที่นี่รถไฟจะไม่หยุดให้ลงไปข้างล่างนะคะ แต่จะแล่นช้า ๆ ให้เราได้ชมวิวและถ่ายภาพกันบนรถไฟค่ะ
ช่วงนี้ฝั่งซ้ายยิ่งโบกี้พัดลมจะคึกคักมีแขกมาขอถ่ายรูปมากมาย โบกี้แอร์ยื่นมือออกไปถ่ายนอกหน้าต่างไม่ได้ก็จะชิว ๆ ชมวิวไป ส่วนฝั่งที่ติดหน้าผาก็ค่อนข้างว่างเพราะเขามายืนดูฝั่งซ้ายบ้าง ไปแจมโบกี้พัดลมบ้าง
เห็นลำน้ำผ่านกลางป่าเขียวขจีสดชื่นดีทีเดียวค่ะ
จากนั้นราว ๆ เที่ยงก็ถึงสถานีน้ำตกค่ะ ทริปนี้รถไฟไม่สามารถไปจอดตรงที่หยุดรถที่ติดกับทางเดินเข้าน้ำตกไทรโยคได้จึงสุดสายที่นี่ และรถกลับออกเวลา 14.45 น.
นักท่องเที่ยวทั้งหลายจึงไปขึ้นรถสองแถวหน้าสถานี คนละ 20 บาท/เที่ยว ไปที่น้ำตกค่ะ ถ้าคนน้อยซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นกับขบวนรถท่องเที่ยวสายนี้เพราะเต็มทุกที่นั่งแทบทุกที แต่อาจเกิดขึ้นในกรณีมารถไฟธรรมดาสายธนบุรี – น้ำตก ก็สามารถเหมารถสองแถวไปได้ 150 บาท/เที่ยวค่ะ
รถวิ่งไปราว ๆ 10 กว่านาทีก็ถึงทางขึ้นสู่น้ำตกไทรโยคน้อย ซึ่งแม้จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค แต่ก็ติดริมถนนสาย 323 ที่มุ่งสู่สังขละบุรีเลยค่ะ
พอลงรถพี่ ๆ คนขับก็จะบอกว่า 14.00 น. ให้ทยอยลงมาเลย อย่างช้า 14.20 น. ก็ควรจะมาขึ้นสองแถวกลับละค่ะ
เราจะมีเวลาอยู่ที่นี่ราว 2 ชั่วโมง ก็เดินบันไดขึ้นไป ตรงนี้เป็นที่หยุดรถซึ่งแต่เดิมสายนี้ รถไฟจะวิ่งมาหยุดตรงนี้เลยค่ะ
ข้างหน้ามีรถจักรไอน้ำญี่ปุ่นโบราณ มีป้ายบอกว่า รุ่น c 56 No.702 เป็นรถไฟที่ใช้วิ่งในช่วง พ.ศ. 2489 – 2519 ซึ่งการรถไฟมอบให้จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อเป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์และส่งเสริมการท่องเที่ยวค่ะ
เดินเข้ามาอีกนิดจะเจออนุสาวรีเล็ก ๆ ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ล้นเกล้าฯ ร.9 อยู่ใกล้ ๆ กับป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำตกแห่งนี้ค่ะ พระองค์ท่านและสมเด็จพระพันปีหลวง (เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมราชินีนาถ) เคยเสด็จประพาสทางรถไฟมาที่นี่ด้วยค่ะ
ที่ไทรโยคนี้สมัยก่อนล้นเกล้าฯ ร.5 ก็เคยเสด็จค่ะ แต่น้ำตกไทรโยคมีหลายแห่ง บ้างก็ว่าน่าจะเป็นที่ไทรโยคใหญ่ซึ่งตกลงในแม่น้ำแควน้อยเลย อยู่ใกล้ ๆ อุทยานแห่งชาติไทรโยคเหนือน้ำตกไทรโยคน้อยนี้ไปอีกเกือบ 40 กม. ค่ะ
ช่วงน้ำหลากที่น้ำเยอะที่สุดจะเป็นช่วง ก.ย. – ต.ค. ค่ะ แต่ พ.ย. น้ำก็ยังเยอะและแรงดีนะคะ ใสเย็นด้วย มีการทำขอบบ่อตรงชั้นบนนี้ไว้ให้เป็นแอ่งสำหรับเด็ก ๆ เล่นน้ำ
ถอดรองเท้าไว้ที่ขอบแอ่งน้ำแล้วก็ขึ้นบันไดไปชมชั้นบน ๆ ได้เลยค่ะ ช่วงน้ำยังเยอะน้ำจะไหลมาถึงบันไดเลย หน้าถ้ำหินงอกหินย้อยหลังม่านน้ำตกข้างบนสวยมาก ๆ ค่ะ
ถึงชั้นบนแล้วก็ต่อคิวรอถ่ายภาพกันได้ บริเวณที่ไม่มีราวจับ ต้องเดินตรงหินปูนส่วนที่เป็นสีเหลืองอ่อนนะคะ จะสาก ๆ เท้าเปล่าของเราจะเกาะได้ดี แต่ต้องเลี่ยงส่วนที่เขียว ๆ ดำ ๆ นะคะ นั่นตะไคร่ ลื่นตกไปอันตรายแน่แม้ว่าโขดหินที่นี่จะมนก็จริง แต่ความสูงไม่ใช่น้อยเลยค่ะ
ตรงชั้นบนนี้ใครขึ้นมาชื้นแน่นอน ละอองน้ำพร่างพรม ส่วนมากจะเอาแค่กล้องมือถือขึ้นมากันค่ะ
จากริม ๆ ใกล้ราวบันไดหน้าถ้ำหลังม่านน้ำก็สวยแล้วค่ะ แหงนขึ้นไปเห็นสายน้ำกระทบหน้าผาลงมายังโขดหินแตกฟองสีขาว
กลับลงบันไดมาก็ใส่รองเท้า เดินตามทางเลียบธารน้ำลงไปเรื่อย ๆ ถัดจากชั้นที่มีแอ่งเล่นน้ำ น้ำก็จะไหลไม่แรงนักแล้วค่ะ เป็นลำธารเป็นแก่งเล็ก ๆ มากกว่า บรรยากาศเหมือนมาเที่ยวสวนป่าเลย
ชั้นล่าง ๆ นี้ ทางอุทยานอนุญาตให้รับประทานอาหารได้ เลยมีผู้คนมาปิกนิกกันเพียบ มีการกำหนดราคากลางด้วย ตั้งแต่ 40 – 250 บาท เมนูยอดนิยมสำหรับคนมาเที่ยวเมืองกาญจน์ก็ไม่พ้นปลาคัง ปลาทับทิมค่ะ เพราะที่นี่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยเลย
ใกล้ ๆ โซนร้านอาหารริมลำธารก็มีร้านขายของที่ระลึก ของฝาก เสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนเล่นน้ำ ห้องน้ำก็อยู่แถวนี้ค่ะ
ข้ามถนนมาอีกฝั่งเป็นจุดรอรถบัสไป อ. สังขละบุรี โดยถนนเส้นนี้เป็นเส้นเดียวที่วิ่งไปด่านเจดีย์สามองค์ชายแดนไทยพม่าค่ะ ห่างออกไปราว 168 กม. เท่านั้น ใครจะไปอุทยานแห่งชาติไทรโยค น้ำพุร้อนหินดาด อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เขื่อนวชิราลงกรณ์ สะพานมอญ ฯลฯ ก็ไปทางนี้ทั้งนั้นค่ะ
หนึ่งในบรรดาของฝากยอดนิยมของที่นี่ก็เป็นกล้วยฉาบ เผือกฉาบ ฟักทองอบน้ำผึ้ง กล้วยอบเนย มันแท่ง เผือกแท่ง มันต่อเผือก มันรังนก ฯลฯ
มีทั้งห่อเล็ก 25 บาท 5 ห่อ 100 บาท ห่อกลาง 35 บาท 3 ห่อ 100 บาท หรือซื้อเหมาก็ว่ากันตามความพอใจเลยค่ะ บางร้านนอกจากแจกให้ชิมแล้วยังมีการทำให้ดูด้วย แต่ต้องระวังไม่เข้าไปใกล้นะคะ จะเป็นการรบกวนและเสี่ยงอันตรายกับนักท่องเที่ยวเองด้วยค่ะ
วัตถุดิบส่วนมากก็เป็นพืชผลท้องถิ่นที่เราเห็นต้นของมันในไร่ระหว่างทางมากมาย อย่างกล้วยนี่ก็เห็นดงกล้วยมาแล้ว เผือกมันอาจจะดูยากสักนิด แต่ก็มีปลูกกันเยอะแถบนี้ เป็นวิสาหกิจชุมชนของคนที่นี่อย่างหนึ่งเลยค่ะ
นอกจากนี้ก็มีบรรดาผลไม้แช่อิ่ม ที่เห็นเยอะที่สุดคือมะขามป้อมค่ะ มีทั้งแบบหวาน ไม่หวาน เป็นของฝากขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของอำเภอไทรโยคเลยค่ะ
นอกจากนี้ก็มีมะม่วง ไอติม ของกินต่าง ๆ ถ้ามาราว มี.ค. – พ.ค. เป็นหน้ามะม่วงก็จะมีมะม่วงน้ำดอกไม้หวานฉ่ำให้ชิมด้วย ที่เมืองกาญจน์นี่ก็ปลูกมะม่วงกันเยอะค่ะ สารพัดสายพันธุ์เลย
ฝั่งตรงข้ามน้ำตกนี้ก็มีร้านอาหาร ร้านน้ำผลไม้ กาแฟด้วย
แม้แต่ 7-11 ก็มีค่ะ แต่พอดีวันที่ไปไฟดับพอดี หน้า 7-11 มีตู้ ATM ด้วยนะคะ ถ้าไฟมาก็มากดเงินได้ด้วย
จะบ่ายสองกว่าแล้วซื้อของฝากเสร็จ ก็แวะซื้อไส้อั่วสมุนไพร OTOP ห้าดาวแห่งย่านนี้ไว้เป็นเสบียงกับน้ำผึ้งมะนาวโซดาเย็น ๆ ดับกระหายก่อนจะขึ้นรถสองแถวกลับไปยังสถานีรถไฟน้ำตกค่ะ
ราว 14.35 น. รถไฟก็มาเทียบแล้วค่ะ สักพักเจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งเตือนให้ตามเพื่อน ๆ ที่ยังไม่ขึ้นรถ เช็กว่ามีใครตกไหมให้รีบโทรตามกัน เพราะรถจะออกเวลา 14.45 น. ค่ะ
เที่ยวกลับส่วนมากก็เหนื่อยกันแล้ว แต่วิวก็ยังคงสุดยอด มีคำกล่าวว่า แม่น้ำแควน้อยและผืนป่าตะวันตกแห่งนี้เป็นดุจลุ่มน้ำแอมะซอนแห่งแดนสยาม เป็นผืนป่ามรดกโลกขนาดใหญ่ที่สุดในไทยด้วยค่ะ
แค่เฝ้ามองลำนำกว้างใหญ่ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้เขียวขจีสุดสายตามาจากบนรถไฟในโบกี้แอร์เย็น ๆ ก็ฟินเกินคำบรรยายแล้วค่ะ
ใกล้ถึงถ้ำกระแซแล้วเลยขอมาเก็บภาพตอนรถไฟไต่เขาที่เมื่อเช้าหลาย ๆ คนก็มาถ่ายกันบ้างค่ะ โบกี้พัดลมจะถ่ายง่ายที่สุดเพราะยื่นกล้องออกมาจากหน้าต่างได้ รถไฟแล่นช้าและเบามาก ๆ แต่ยังไงก็ต้องระวังนะคะ
ราวบ่ายสี่โมงเย็นก็ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแควอีกรอบ คราวนี้เรากลายมาเป็นแขกให้นักท่องเที่ยวที่ยืนโบกไม้โบกมือ หรือเป็นฉากให้นักท่องเที่ยวที่รอถ่ายรูปด้วยอยู่ตรงชานพักบนสะพานบ้างค่ะ ตรงนี้ถ่ายจากที่นั่งได้เลย แนบกล้องมือถือชิดกระจกก็ไม่มีแสงสะท้อนแล้ว
16.30 น. เรามาถึงสถานีกาญจนบุรีพอดี แม้จะช้าไปหน่อยแต่ไม่มาก เจ้าหน้าที่เลยให้ลงไปเที่ยวสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรักได้ค่ะ โดยรถออกอีกที 17.00 น. โดยขึ้นสองแถวหน้าสถานีไปกลับ 10 บาท ส่วนใครที่ไม่ไปก็ไปเข้าห้องน้ำแวะเดินตลาดนัดได้เล็กน้อย เพราะจากนี้จะนั่งยาวถึงปลายทางกันเลยค่ะ
สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังร่างของเชลยศึกมากมายไม่ว่าจะเป็นชาวอังกฤษ เครือจักรภพ เนเธอร์แลนด์ อเมริกา ผู้สร้างทางรถไฟสายมรณะท่ามกลางไฟสงคราม การทารุณกรรม โรคภัยไข้เจ็บ และภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง จนมีคำกล่าวว่าไม้หมอน 1 อัน = 1 ชีวิตที่ดับสูญ
เมื่อสงครามอันโหดร้ายสิ้นสุดลงประชาชนชาวไทยก็ได้อุทิศผืนแผ่นดินบริเวณนี้ให้เป็นที่พักตลอดกาลของพวกเขา ทุกปีจะมีวันที่รำลึกถึงผู้ล่วงลับของชาติต่าง ๆ ที่นี่ เช่น วัน Anzac Day 25 เมษายน ของชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ วัน Armistice Day 5 พฤษภาคม ของชาวเนเธอร์แลนด์ และวัน Remembrance Day 11 พฤศจิกายน ของชาวอังกฤษค่ะ
18.00 น. เราก็เดินทางมาถึงชุมทางหนองปลาดุก จ.ราชบุรี ท่ามกลางแสงทองรำไรยามโพล้เพล้
แล้วอาหารค่ำหรือของว่างที่สั่งไว้ตอนเช้าก็มาเสิร์ฟถึงที่นั่ง เนื่องจากคราวก่อนไปหัวหินเพิ่งกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาผัดแห้งราชบุรีมา งวดนี้เลยขอเปลี่ยนเป็นทอดมันปลากรายบ้างค่ะ 40 บาท เต็มกล่อง อร่อยใช้ได้เลยค่ะ อิ่มแล้วก็งีบหลับสบายถึงหัวลำโพงส่งท้ายวันชิว ๆ กับวิวดี ๆ บนเส้นทางรถไฟสายมรณะซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่เกิดขึ้นจากน้ำใจในยามยากและงอกงามมาจนปัจจุบัน