Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัดไชยวัฒนาราม โบราณสถานงดงามริมฝั่งน้ำ

Posted By ไกด์เตยหอม | 10 พ.ย. 62
11,663 Views

  Favorite

ตามรอยออเจ้าไปเที่ยววัดโบราณอายุมากกว่า 300 ปีที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งใน “นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” มรดกโลกทางวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ก่อนอื่น ขอแนะนำการเดินทางไปและท่องเที่ยวในอยุธยาซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมาก ๆ ค่ะ นอกจากรถยนต์ส่วนตัวแล้ว ยังสามารถขึ้นรถไฟเส้นทางรถไฟหลวงสายแรก กรุงเทพ-อยุธยา ที่ล้นเกล้าฯ ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อนซึ่งจะแล่นผ่านบางปะอินมาได้ด้วยค่ะ มีขบวนรถที่ผ่านออกทุกชั่วโมงตั้งแต่ตีสี่กว่า ๆ จนถึงสี่ทุ่มกว่า ๆ เลยค่ะ เช็กได้ที่ เว็บไซต์การรถไฟแห่งประเทศไทย ในอนาคตถ้ามี รถไฟความเร็วสูง จะยิ่งสะดวกมาก ๆ เลย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พอถึงสถานีอยุธยาก็มีสองแถวสายรอบเมืองคันสีน้ำเงินวิ่งผ่านแทบทุก 15 – 20 นาที ซึ่งนั่งไปลงตลาดเจ้าพรหม ศูนย์กลางรถสาธารณะแทบทุกสายของอยุธยาเพื่อต่อรถไปเที่ยวยังที่ต่าง ๆ ได้อีกด้วย หรือถ้ามากันหลายคน สัมภาระเยอะหน่อย หรือไม่อยากเปลี่ยนรถบ่อย ๆ ก็จ้างเหมารถตุ๊กตุ๊กได้ นั่งได้ 5 – 7 คน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีป้ายราคาชัดเจน ไปตลาดเจ้าพรหม 80 บาท ไปวัดไชยวัฒนาราม 150 บาท ถ้าจะให้ไปรับกลับก็ขอเบอร์คนขับไว้ได้นะคะ หรือถ้าเหมาชั่วโมง ชาวไทย 200 บาท/คัน ชาวต่างชาติ 300 บาท/คัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แต่ถ้ามีคนเดียวหรือสองคน หรือไปแค่ใกล้ ๆ ก็มีวินมอเตอร์ไซค์ฝั่งตรงข้ามให้บริการ ไปตลาดเจ้าพรหม 25 บาท หรือถ้าใครขี่จักรยานเป็นหรือมีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ก็มีให้เช่าได้ทั้งสองแบบ โดยใช้บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางเป็นประกันไว้ค่ะ จักรยาน 50 บาท มอเตอร์ไซค์ 200 บาท/คัน/วัน (ถึงก่อน 18.00 น.)
 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีแผนที่และหมวกกันน็อกให้พร้อมน้ำมันเต็มถัง ซึ่งจะเติมก่อนคืนก็ได้หรือถ้าให้ทางร้านเติมก็คิดค่าน้ำมันตามขีดที่หายไปขีดละ 20 บาทค่ะ โดยต้องขับขี่ตามกฎจราจร หากนำรถไปล้มเกิดความเสียหายผู้เช่ารับผิดชอบค่ะ ส่วนใครเลือกปั่นจักรยาน หากโซ่หลุดกลางทางก็โทรแจ้งทางร้านไปซ่อมแซมให้ได้นะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สำหรับจักรยานและคนเดินเท้าที่จะมุ่งหน้าไปตลาดเจ้าพรหมโดยไม่อยากขึ้นสะพานปรีดี-ธำรง ก็สามารถเดินเข้าซอยตรงข้ามสถานีรถไฟไปข้ามเรือที่ท่าเรือก็ได้ค่ะ ค่าโดยสารคนละ 5 บาท ถ้ามีจักรยานด้วยก็ 10 บาท/คน

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เรือจะมาส่งที่ท่าเรือซอยอู่ทอง 61 ที่วงกลมไว้ ซึ่งอยู่ท้ายตลาดเจ้าพรหมที่ปักธงแดงไว้ให้ในรูปล่างค่ะ จริง ๆ แถว ๆ ตลาดมีร้านค้ามากมายมาจรดถนนหอรัตนไชยเลยนะคะ ธงที่ทำไว้อาจดูเล็กไปหน่อย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สำหรับการเดินทางมาอยุธยาโดยรถตู้จากกรุงเทพฯ ก็สามารถเลือกขึ้นได้ทั้งจากหมอชิต ปิ่นเกล้า หรือรังสิต โดยรถตู้จะมาสุดสายตรงริมถนนนเรศวร หากไม่อยากเดินย้อนต้องขอลงที่ท่ารถสองแถววัดไก่เตี้ย ตลาดเจ้าพรหมเลยค่ะ ไม่อย่างนั้นต้องเดินย้อนข้ามสะพานนเรศวรมาที่ตลาดแล้วเข้าซอยบางเอียน 2 ข้างธนาคารไทยพาณิชย์มาอีกที

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

รถสองแถวที่ผ่านหน้าวัดไชยวัฒนาราม คือ รถสายวัดไก่เตี้ย คันสีขาวในภาพล่างค่ะ ออกทุก 15 – 20 นาที จอดตรงจุดตัดซอยบางเอียน 2 กับถนนหอรัตนไชย ถ้ามาจากท่าเรือก็เดินตามถนนหอรัตนไชยมาได้เลยค่ะ ในซอยนี้มีรถโดยสารสายต่าง ๆ ที่วิ่งในเขตอยุธยาและใกล้เคียงมากมายเลย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

รถจะวิ่งในเกาะเมืองแล้วข้ามสะพานกษัตราธิราชมาสักพักก็จะถึงหน้าวัดไชยวัฒนารามเลย ซึ่งจากป้ายสีส้มตรงทางเข้าลานจอดรถแสดงเวลาเปิด – ปิด 8.30 – 18.30 น. ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดจากลานจอดรถด้านหน้ามีห้องน้ำให้บริการด้วย โดยมีรองเท้าแตะให้เปลี่ยนและห้ามล้างเท้า ซึ่งช่วงเช้าที่ไปมาสะอาดดีทีเดียวค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ฝั่งตรงข้ามก็มีร้านเช่าชุดไทย ร้านอาหาร ร้านกาแฟ หลายร้านเลย เคยพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเช่าชุดไปใส่เดินเล่นและถ่ายรูปตามรอยออเจ้าในวัดไชยวัฒนารามช่วงเย็น ๆ ราว ๆ 4 – 6 โมงเย็น เป็นที่ประทับใจกันหลายกลุ่มเลย เพราะแสงกำลังสวย อากาศไม่ค่อยร้อน และคนก็ไม่ค่อยแน่นด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หากมาช่วงกลางวันก็ไม่ต้องกังวลนะคะ ถึงจะลืมพกหมวกพกร่มมา ตรงทางเดินจากห้องน้ำไปซุ้มขายบัตรมีซุ้มขายของที่ระลึกซึ่งมีหมวกขายด้วยค่ะ มีที่เป็นหมวกสานย้อนยุคด้วยนะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ค่าเข้าชมที่นี่ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาทค่ะ หรือแบบรวม ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างชาติ 220 บาท เข้าได้ทุกวัดและโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ใครไปหลายวัดแนะนำบัตรรวมเลยค่ะ และการเข้าชมโบราณสถานทุกแห่งก็มีกติกาเดียวกันคือต้องให้เกียรติสถานที่ งดการจับต้อง ปีนป่าย ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายมรดกโลกเหล่านี้แล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้มาเยือนเองด้วยนะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดจากซุ้มขายบัตรเข้ามาเราก็ไปดูแบบจำลองของวัดกันค่ะ ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นภาพรวมได้ง่ายขึ้น โดยวัดนี้มีประธาน (สิ่งที่สำคัญที่สุด มีระเบียงคดล้อมรอบ) คือ ปรางค์ประธาน โดยมีปรางค์ขนาดย่อม ตั้งอยู่ใน 4 มุมเรียกว่า ปรางค์มุม และมีระเบียงคดและเมรุทิศ เมรุราย 8 แห่งล้อมรอบ โดยมีพระอุโบสถอยู่ข้างหน้า ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหันหน้าไปทางเกาะเมืองซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้านข้างพระอุโบสถทั้งซ้าย – ขวา มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบเรียบง่าย ซึ่งเป็นศิลปะอยุธยาตอนปลายที่น่าจะวิวัฒนาการมาจากการนำรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆัง มาผสมผสานกับเรือนธาตุของพระปรางค์ที่มีมุมเล็ก ๆ โดยเมื่อใส่ไว้ด้านละ 3 มุม รวมกันก็จะเป็น 12 มุม จึงเรียกว่า “ย่อมุมไม้สิบสอง” ค่ะ ในภาพล่างนี้เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอยู่ทางซ้ายของต้นไม้ใหญ่ด้านล่างฐาน ส่วนเจดีย์ทรงระฆังอยู่ทางขวาบนฐานค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีทางลงไปยังตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย วัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง สร้างโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในบริเวณบ้านเดิมที่ทรงเคยอาศัยอยู่กับพระราชมารดาเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เพื่อเป็นพระราชกุศลถวายพระราชมารดาที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนทรงขึ้นครองราชย์ไม่นานนัก และเฉลิมฉลองชัยชนะเหนือศึกกับกัมพูชาได้จึงพระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดไชยวัฒนาราม”

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีเรือนำนักท่องเที่ยวมาจอดที่เชิงบันไดด้วย ซึ่งไกด์ก็จะต้องพานักท่องเที่ยวไปซื้อบัตรที่ซุ้มตรงฝั่งถนน 3469 หรือที่เรียกกันว่าเส้นอยุธยา – บางปะอิน (ถนนวัดไก่เตี้ย) กันก่อนค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ฝั่งตรงข้ามเป็นพระตำหนักสิริยาลัยเป็นพระตำหนักของขวัญที่ล้นเกล้าฯ ร.9 ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินและล้นเกล้าฯ ร.10 (ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) ทรงสร้างพระตำหนักเป็นของขวัญในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ (60 พรรษา) ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพด้านล่างนี้ถ่ายจากด้านหน้าพระอุโบสถริมแม่น้ำค่ะ แม้ใบเสมาก็หาไม่พบ แต่ยังเหลือฐานเสมา 8 จุดล้อมรอบ และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ทั้งตรงกลางและด้านขวางค่ะ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดเป็นอิฐแล้วฉาบปูนขาวแทน ไม่ใช่หินทรายอย่างในปราสาทหินทางภาคอีสาน เพราะบริเวณนี้ไม่มีภูเขาหินทรายค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หลังพระอุโบสถจะเห็นพระปรางค์โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลางในความหมายของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามคติพุทธ มีปรางค์มุมทั้งสี่แทน 4 ทวีป (อุตรกุรุทวีป บุพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป) มีระเบียงคดและเมรุทิศ เมรุราย 8 แห่งล้อมรอบในความหมายของเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ด แต่เพิ่มอีก 1 เพื่อให้สมมาตร โดยมีเครื่องบนคล้ายพระเมรุมาศ ไม่ได้เป็นทรงฝักข้าวโพดอย่างพระปรางค์ อาจเพื่อเป็นการระลึกถึงการถวายพระเพลิงพระศพพระราชมารดาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ได้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สำหรับการสร้างพระปรางค์และวางผังวัดไชยวัฒนารามนี้ แม้อาจได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทเขมรโบราณ แต่ก็มีการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรมเกิดขึ้น โดยพระปรางค์ไทยจะมีฐานสูง ส่วนเรือนธาตุและเครื่องบนเพรียวกว่า แต่ซุ้มจตุรมุขเสมอชิดเรือนธาตุเช่นเดียวกับปราสาทบาปวน ต่างจากพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นอย่างที่วัดราชบูรณะซึ่งมุขหน้าจะยื่นยาวกว่าด้านอื่น และเนื่องจากมีการใช้แผ่นทองแดงหุ้ม กลีบขนุนจึงเรียบไม่ต้องประดับลายปูนปั้นอย่างสมัยต้นด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สำหรับเมรุทิศเมรุรายที่มีระเบียงคดเชื่อมล้อมรอบพระปรางค์นั้น บริเวณผนังด้านนอกมีภาพลายปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ด้วยค่ะ อย่างในภาพบนนี้เป็นเมรุทิศเหนือ ตอนยมกปาฏิหาริย์ คือแสดงปาฏิหาริย์เป็นคู่ ๆ ออกมาเพื่อสั่งสอนผู้ที่อยู่นอกศาสนาให้หันมานับถือพุทธศาสนานั่นเอง โดยเส้นโค้ง ๆ คล้ายเปลวไฟด้านบนน่าจะเป็นท่อไฟและท่อน้ำที่พุ่งออกมาเป็นฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้าค่ะ  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในเมรุทิศ – เมรุราย มีพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ก่ออิฐถือปูน คือทรงเครื่องประดับกษัตริย์ ทรงมงกุฎ พาหุรัด (รัดต้นแขน) ฯลฯ แสดงปางโปรดพญาชมพูบดีซี่งเป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจและอิทธิฤทธิ์มาก จึงทรงเนรมิตกายเป็นกษัตริย์ที่งดงามให้พญาชมพูบดีทรงเกิดความเชื่อมั่น และยอมฟังพระองค์แสดงธรรมจนเข้าใจในที่สุด การวางพระหัตถ์ (มือ) ขวาบนพระชานุ (เข่า) จะคล้ายกับปางมารวิชัย แต่ปางนั้นจะไม่ทรงเครื่องกษัตริย์ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

บนผนังมีร่องรอยของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังไม่ถูกเผาทำลายจนสิ้นหลงเหลืออยู่ ด้วยความที่อาคารค่อนข้างทึบออกซิเจน ซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างหนึ่งจึงไม่มากนัก เมื่อออกซิเจนไม่พอไฟก็ดับลงก่อนที่จะไหม้เพดานไม้และภาพเขียนที่อยู่บน ๆ ไปหมด ในภาพล่างนี้ซูมไปจะเห็นลายคล้ายส่วนหนึ่งของลายก้านขด ซึ่งเป็นลายไทยที่พบได้ทั่วไปในสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนในระเบียงคดนั้นมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยมากมายประดิษฐานเรียงราย แต่ส่วนมากได้รับความเสียหาย ซึ่งเราชาวไทยเองก็อาจสันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานา อย่างไรก็ตาม หลังเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 พระนครแห่งนี้ถูกทิ้งร้างมานานเกือบร้อยปีจนถึงสมัย ร.4 เราหลาย ๆ คนก็ไม่ได้เห็นกับตาว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แต่ก็ไม่ใช่ทุกองค์นะคะ อย่างองค์ในภาพล่างนี้พระพักตร์ครึ่งล่างบางส่วนยังคงอยู่ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ผนังระเบียงคดเองก็ยังมีบางส่วนหลงเหลืออยู่ ให้เราได้เห็นช่องหน้าต่างแบบกรงลูกมะหวด ซึ่งเหมือนกับวัดหน้าพระเมรุที่ไม่ได้ถูกเผาทำลาย เนื่องจากถูกใช้เป็นค่ายพักแรมของกองทัพพม่า และต่างจากหน้าต่างสี่เหลี่ยมยาวที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่ลพบุรี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากหน้าต่างในสถาปัตยกรรมตะวันตก

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

วัดนี้แม้จะถูกเผาทำลายไปด้วยแต่ก็ยังถือว่ามีความสมบูรณ์มากกว่าหลาย ๆ วัดในเกาะเมือง และได้รับการกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งเป็นฉากสำคัญในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งนอกจากจะได้รับความนิยมสูงสุดในไทยแล้ว ยังโด่งดังไกลไปถึงเมืองจีน กัมพูชา และเกาหลีใต้ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จึงเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างก็อดมาชื่นชมกันไม่ได้ ภาพล่างนี้เป็นอีกหนึ่งทำเลที่ผู้คนนิยมมาถ่ายภาพกัน จนบางทีก็ต้องต่อคิวกันด้วยนะคะ ใต้ต้นไม้ต้นนี้เลยค่ะ แม้งานลอยกระทงกรุงเก่าจะจัดขึ้นที่ 4 มุมเมือง แต่ไหน ๆ ก็จะแต่งชุดไทยแล้ว ก่อนไปลอยกระทงใครพอมีเวลาอาจแวะมาเที่ยวชมโบราณสถานล้ำค่าแห่งนี้ในยามบ่าย ๆ เย็น ๆ กันก่อนก็ได้นะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

 “Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

อ้างอิง : ศิลปกรรมในประเทศไทย: ภูมิหลังทางปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม โดย ศ. ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow