Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ที่ทุกคนควรรู้

Posted By Plook Blog | 07 พ.ย. 62
83,283 Views

  Favorite

ซอฟต์แวร์แต่ละชนิดที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน มีกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ การทำความเข้าใจเรื่องสิทธิการใช้งานอย่างถูกต้องและกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน

 

การใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Window เถื่อน, เกมเถื่อน และโปรแกรมเถื่อนต่าง ๆ เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ง่ายตามบ้านเรือนแทบจะทั่วทุกมุมโลก อาจเนื่องมาจากผู้ใช้งานระดับครัวเรือนยังขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิการใช้งานตามเงื่อนไขของซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ทำให้บางครั้งการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก เสียเวลา และค่าใช้จ่ายสูง จนตัดสินใจไปใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนที่เข้าถึงง่ายกว่า ราคาถูกกว่า และสะดวกกว่านั่นเอง

 

แต่การใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน หรือละเมิดลิขสิทธิ์ อาจส่งผลร้ายต่อข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนของเราอย่างคาดไม่ถึง เพราะซอฟต์แวร์เถื่อนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์นั้น ๆ ส่งผลให้แฮคเกอร์ผู้ประสงค์ร้ายสามารถโจรกรรมหรือแฮคข้อมูลของเราได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น และเมื่อเกิดปัญหา ผู้ใช้งานก็อาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกิดความเสียหายในระยะยาว

 

ภาพ : Shutterstock

 

เมื่อใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ย่อมต้องได้รับโทษ แต่ทั้งนี้ แต่ละบริษัทผู้เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ไม่มีนโยบายดำเนินคดีกับผู้ใช้งานระดับครัวเรือน เพราะสามารถขอความร่วมมือให้ปรับเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ แต่ในบริษัทและห้างร้านต่าง ๆ ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้พัฒนาสามารถร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบังคับใช้กฎหมายได้ทันที

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง โดยให้เจ้าของลิชสิทธิ์ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ที่ตนได้กระทำขึ้น

ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ("พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์") โดยจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม (Literary work)

ตามพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ กำหนดว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ในกรณีที่บุคคลใด ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บุคคลนั้นจะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท

และหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นอกจากนี้ หากผู้ใดรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น แต่ยังนำไปขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ นำเข้าหรือสั่งเข้ามาในประเทศไทย เพื่อหากำไร ก็มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาทและหากเป็นการทำเพื่อการค้าผู้นั้นจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาทถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกเหนือจากการแก้ไขบรรเทาความเสียหายในคดีอาญาแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ยังสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง ในกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์หากศาลพบว่ามีการกระทำความผิดจริงอาจมีคำห้ามมิให้กระทำละเมิดอีกต่อไป และมีคำสั่งให้ชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอันเนื่องจากการละเมิดดังกล่าว

 

ภาพ : Shutterstock

 

สิทธิตามกฎหมาย

ภายใต้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยให้สิทธิแก่ผู้สร้างสรรค์เพียงผู้เดียว ในงานที่มีลิขสิทธิ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. สิทธิในการสำเนาทั้งหมดหรือบางส่วนของโปรแกรม

2. สิทธิในการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงโปรแกรม สิทธิในการเผยแพร่งานต่อสาธารณชน

3. สิทธิในการให้ผู้อื่นเช่าโปรแกรม

หมายความว่า หากเราทำสำเนา ดัดแปลง หรือเช่าซอฟต์แวร์ก็สามารถทำได้หากเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาต แต่จะอยู่ในรูปของการให้สิทธิในการใช้งาน (License) ดังนั้น ทุกครั้งที่เราซื้อซอฟต์แวร์อย่างถูกกฎหมายมา เราจะได้รับสัญญาสิทธิการใช้งาน (License Agreement) ซึ่งจะระบุสิทธิที่คุณได้รับเพื่อการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นหากคุณกระทำสิ่งที่สัญญาไม่อนุญาต หรือขัดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ จะถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและต้องรับโทษ (เวลาเรา install ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เขาจะมีหน้าต่าง pop up ขึ้นมาให้เรากดยืนยันหรือรับทราบทุกครั้ง ที่เป็นข้อความยาวแสนยาว นั่นล่ะคือ License Agreement)

 

จะทราบได้อย่างไรว่า ซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ถูกลิขสิทธิ์รึเปล่า ?

บางครั้ง ผู้ใช้งานระดับครัวเรือนก็ไม่สามารถแยกซอฟต์แวร์ของแท้กับของเถื่อนออกจากกันได้ เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่ไม่หวังดีจัดทำบรรจุภัณฑ์และรายละเอียดต่าง ๆ ของซอฟต์แวร์แบบเถื่อนได้ใกล้เคียงกับของแท้มาก และนำมาโฆษณาว่าที่จำหน่ายอยู่คือของแท้ ดังนั้น ผู้บริโภคควรสังเกตหลักในการเลือกซื้อซอฟต์แวร์ง่าย ๆ ดังนี้

1. ราคา

หากพบว่าราคาถูกผิดปกติ ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าซอฟต์แวร์ตัวนี้เป็นของเถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ควรซื้อมาใช้งาน เพราะอาจมีไวรัสหรือโดนโจรกรรมข้อมูลได้ง่าย ๆ

2. มีหลายโปรแกรมอยู่ในแผ่นเดียว

ส่วนใหญ่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมต่าง ๆ จะไม่บรรจุโปรแกรมหลาย ๆ ตัวไว้ในซีดีแผ่นเดียว เนื่องจากแต่ละโปรแกรมมีความซับซ้อนและรายละเอียดต่างกัน ไม่สามารถรวมข้อมูลไว้ในซีดีแผ่นเดียวได้

3. ไม่มีกล่องบรรจุภัณฑ์

ซอฟต์แวร์และโปรแกรมของแท้จะต้องมีกล่องบรรจุภัณฑ์สวยงาม ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ชัดเจน มีแผ่นซีดี คู่มือการใช้งาน และสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ครบถ้วน หากซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่พบเห็นมีเพียงแผ่นซีดีในซองพลาสติก ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นของละเมิดลิขสิทธิ์

4. อาจมีโปรแกรม Patch / Crack / IDM มาให้ในแผ่นซีดี

หากเราซื้อแผ่นโปรแกรมมาแล้วพบ Patch / Crack / IDM (หรือที่เรียกกันว่า ยาแก้ไอ) ให้ตระหนักในทันทีเลยว่าโปรแกรมที่ได้มาคือของละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะ Patch / Crack / IDM คือโปรแกรมสำหรับหลอกเพื่อเข้าใช้งานโปรแกรมตัวเต็มได้โดยสมบูรณ์ แต่ถ้าผู้พัฒนาอัพเดทซอฟต์แวร์ เราก็จะไม่สามารถเข้าใช้โปรแกรมนั้นได้อีกเลย

5. หากไม่มั่นใจ ติดต่อ BSA ได้ทันที

BSA หรือ กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ เป็นกลุ่มที่ส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย สมาชิกของบีเอสเอเป็นตัวแทนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เพื่อส่งเสริมการปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ หากผู้บริโภคสงสัย ไม่มั่นใจ หรืออยากสอบถามรายละเอียดของซอฟต์แวร์ที่กำลังใช้งาน สามารถติดต่อไปที่ BSA ได้ทันที

 

การใช้ซอฟต์แวร์ถูกต้องตามกฎหมาย เหมือนเป็นการปิดประตูบ้านเพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลออนไลน์จากผู้ไม่ประสงค์ดี ยิ่งผู้พัฒนาอัพเดทบ่อยเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการเสริมให้ประตูบานนั้นแข็งแกร่งขึ้น หากเกิดความเสียหายก็สามารถเข้าไปเยียวยารักษาได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น เรามาปรับใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามปฏหมายกันจะดีกว่าไหม เพื่อความปลอดภัยในข้อมูลของพวกเราเอง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Blog
  • 5 Followers
  • Follow