Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มารู้จักกับแนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) กันเถอะ

Posted By Plook Teacher | 29 ต.ค. 62
21,911 Views

  Favorite

นรรัชต์  ฝันเชียร

 

SLC (School as Learning Community) หรือ โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้นั้น เป็นแนวคิดทางการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี ที่ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับฐานราก ก่อนที่จะได้รับความสนใจและขยายเครือข่ายออกไปในประเทศอื่นทางภาคพื้นเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนถึงนอกทวีปอย่างประเทศเม็กซิโก จนในที่สุดได้เกิดเป็นเครือข่ายในระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อว่า “The International Network for School as Learning Community”

 

ภาพ : shutterstock.com

 

       โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) นี้ คือแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่แตกต่างจากแนวทางอื่น ๆ ตรงที่เป็นแนวทางที่ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะต้องเป็นสิ่งที่ตกผลึกจากความร่วมมือทั้งจากบุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง และรวมถึงชุมชน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของ โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) นั้น ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ คือ

องค์ประกอบด้านวิสัยทัศน์

       วิสัยทัศน์ของโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) นั้น คือสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีสิทธิในการเรียนรู้ และเข้าถึงคุณภาพการเรียนรู้ที่สูงขึ้น ตามแนวทางของการปกครองในระบอบสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy) นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ ที่ครูได้เรียนรู้ร่วมกันจากชั้นเรียนของตนเองโดยมีผู้ปกครองและคนในชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการปฏิรูปโรงเรียน

องค์ประกอบเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษา

       อาจารย์มาซาอากิ ซาโต อดีตครูใหญ่โรงเรียนประถมฮิโรมิ และโรงเรียนมัธยมต้นกักคุโย เมืองฟูจิ จังหวัด ชิสุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน SLC ได้กล่าวว่า โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) มีปรัชญาการศึกษาที่เกี่ยวเนื่อง  3 ปรัชญา คือ

              - Public Philosophy ปรัชญาว่าด้วยส่วนรวมและความเป็นสาธารณะ ซึ่งหมายถึงว่า ห้องเรียนและโรงเรียนคือพื้นที่ในการเรียนรู้ของทุกคน ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงฝ่ายเดียว

              - Democracy Philosophy ปรัชญาว่าด้วยประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึง การสนับสนุนให้นักเรียน บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องของโรงเรียน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเคารพ รับฟังเสียงของทุกคน และไม่ทอดทิ้งกัน

              - Excellence Philosophy ปรัชญาว่าด้วยความเป็นเลิศ โดยมีความหมายว่า เด็กทุกคนนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนั้น พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะพัฒนาตัวเองตามศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางของตน

องค์ประกอบเกี่ยวกับระบบกิจกรรม

       ระบบกิจกรรม (Activity System) เป็นขั้นตอนในการเอาทฤษฎีไปสู่ขั้นปฏิบัติจริง เพื่อฝึกฝนครูและนักเรียน ให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และปรัชญาอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีโครงสร้างทั้งหมด 3 ส่วน คือ

              - การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมพลังในห้องเรียน (Collaborative Learning) คือการเรียนรู้ที่เน้นให้มีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและบังคับให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนรูปแบบอื่น ๆ

              - การสร้างความเป็นเพื่อนร่วมงาน (Collegiality) และชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Community) คือการสร้างโรงเรียนที่ครูทุกคนมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ โดยครูจะต้องเรียนรู้ และปรับปรุงวิธีการสอน ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการสอน (lesson study) โดยมีขั้นตอนหลัก 3 ขั้นตอนคือ

                   ขั้นตอนที่ 1 ออกแบบหลักสูตร และการศึกษาวิจัย
                   ขั้นตอนที่ 2 ฝึกปฏิบัติ
                   ขั้นตอนที่ 3 ร่วมสังเกตการณ์ และการสะท้อนมุมมอง

โดยในเวลา 1 ปี ครูจะต้องมีการนิเทศการสอนหรือมีการจัดสอนแบบเปิด (open class) เพื่อให้เพื่อนครูมาเรียนรู้กระบวนการสอน ซึ่งทำให้เกิดการศึกษา และแบ่งปันความรู้ร่วมกัน

              - การเข้าร่วมเรียนรู้เพื่อการปฏิรูปของผู้ปกครองและคนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเข้าไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในการเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับผู้ปกครองและชุมชน จนโรงเรียนกับผู้ปกครองมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยโรงเรียนต้องมีการแบ่งปันข้อมูลให้กับผู้ปกครอง และคนชุมชน ว่าปัจจุบันโรงเรียนกำลังดำเนินการเรื่องอะไรใดอยู่ ซึ่งในตอนที่โรงเรียนทำ open class นั้น นอกจากครูแล้ว ผู้ปกครอง และคนในชุมชน ต้องเข้ามาเรียนรู้ และสังเกตการณ์ เพื่อให้ทราบถึงการทำงานด้วยเช่นเดียวกัน

 

ภาพ : shutterstock.com

 

       สำหรับประเทศไทย หลังจากที่ในงานมหกรรมการศึกษา EDUCA เมื่อปี 2016 ได้มีการนำแนวคิดนี้เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันมีโรงเรียนกว่า 50 โรงเรียน ที่นำแนวคิดเรื่องโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) นี้ไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนสาธิตพัฒนาที่เริ่มนำแนวคิดนี้ไปใช้ตั้งแต่ ปี 2558 ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบุคลากรทั้งหมดในโรงเรียน หรือโรงเรียนวัดใหม่กระทุ่มล้มที่เริ่มใช้แนวคิดนี้เมื่อต้นปีการศึกษาที่ผ่านมาและพบว่าบรรยากาศในห้องเรียนดีขึ้น มีการตอบรับที่ดี ทำให้แนวคิดนี้นับว่าเป็นแนวคิดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก

 

       จริง ๆ แล้ว SLC นั้น นับว่าไม่ใช่วิธีการเสียอย่างเดียว เพราะมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันนี้มากมาย เพียงแต่ว่าแนวคิดนี้มีการสร้างระบบกิจกรรมขึ้นภายใน คือมีการสร้างการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และผู้ปกครอง รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งกิจกรรมที่สร้างจะต้องมีความต่อเนื่องและเป็นระบบที่ชัดเจนเพื่อให้ประสิทธิภาพสูงสุด

 

       ความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับแนวคิดนี้คือเรื่องของทัศนคติของครู เพราะปกติในการจัดการเรียนการสอน ระบบการศึกษาของไทยจะเป็นระบบปิด คือเป็นเรื่องระหว่างครูกับนักเรียน และส่วนใหญ่คุณครูจะไม่ยอมให้ใครเข้ามาก้าวก่ายในเรื่องของการเรียนการสอนโดยไม่จำเป็น ซึ่งการที่จะประสบความสำเร็จตามแนวทางของ SLC นี้ คุณครูจะต้องเปิดใจและเปิดโอกาสให้บุคคลอื่น ทั้งเพื่อนครู ผู้ปกครอง สมาชิกในชุมชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนเข้ามาสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในการเรียนการสอนนี้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทัศนคติที่ท้าทายต่อทัศนคติของคุณครูที่มีอยู่มาแต่เดิม แต่ถ้าโรงเรียนใดสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างหมาะสม ก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนนั้นเป็นอย่างยิ่ง

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow