Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปดูทหารจิ๋นซีและของดี ๆ ที่วังหน้า

Posted By ไกด์เตยหอม | 17 ต.ค. 62
13,447 Views

  Favorite

ที่ประทับของ “วังหน้า” พระมหาอุปราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งภายหลังการสถาปนาตำแหน่ง “สยามมกุฏราชกุมาร” แทน ล้นเกล้าฯ ร.5 ก็โปรดฯ ให้ย้ายมิวเซียมหลวง พิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนแห่งแรกของไทย จากหอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม) ในพระบรมมหาราชวังมาที่นี่ เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุล้ำค่ามากมายตราบจนปัจจุบัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดวันพุธ – วันอาทิตย์ 8.30 – 16.00 น. เดินทางสะดวกสบายด้วยเรือด่วนเจ้าพระยา เรือข้ามฟาก รถเมล์ ฯลฯ ปักหมุดไว้ตรงชื่อแล้วตามมาได้เลยค่ะ ค่าเข้าชมก็แสนจะถูก ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท และไม่เก็บค่าเข้าชมสำหรับเด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สมาชิก International Council of Museums (ICOM) และ International Council on Monuments and Sites ICOMOS ในภาพบนคือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เคยเป็นท้องพระโรงที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

15 กันยายน – 15 ธันวาคม 2562 นี้ พลาดไม่ได้กับนิทรรศการระดับโลกส่งตรงจากแดนมังกร “จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา” ครั้งแรกในไทย ! กับโบราณวัตถุที่หาชมได้ยาก 133 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ 14 แห่ง อายุกว่า 2,200 ปี ฝากกระเป๋าที่ใหญ่กว่า A4 และกล้องถ่ายรูปในล็อกเกอร์ แล้วก็วางอาหาร เครื่องดื่ม ร่ม ไม้เซลฟี่ ไว้บนโต๊ะหน้าพระที่นั่งฯ ในภาพล่างก่อนเข้าชมได้เลยค่ะ ภายในถ่ายภาพนิ่งแบบไม่เปิดแฟลชได้ด้วยกล้องในโทรศัพท์มือถือเท่านั้นค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จุดแรกจะเป็นลำดับเวลา (Timeline) ยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ ในบริบทประวัติศาสตร์จีน ไทย และโลก มีการเทียบเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น ในช่วงที่พระพุทธเจ้าประสูติ จะตรงกับยุคราชวงศ์โจวตะวันออกของจีน และร่วมสมัยกับชุมชนโบราณบ้านเชียง จ. อุดรธานี เป็นต้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

การจัดแสดงแบ่งเนื้อหาตามช่วงเวลาตั้งแต่ช่วงก่อนการรวมชาติ ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก สมัยชุนชิว สมัยจ้านกว๋อ ที่เป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยมากมาย ไปจนถึงการรวมแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันในราชวงศ์ฉิน มีสุสานขนาดมโหฬารราวมหาอาณาจักรใต้พิภพ และสืบสานความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมสู่ยุคราชวงศ์ฮั่นต่อไป
 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนด้านซ้ายคือ ชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคาดินเผารูปเสือขาว ตรงกลางคือ ระฆังเปียนจง(编钟)ซึ่งเป็นระฆังราวแบบจีนโบราณ ทำจากสำริด สมัยจ้านกว๋อ (พ.ศ. 69 - 323) ส่วนภาพบนขวาคือ เหอ(盉) เป็นภาชนะมีพวยกาประดับลวดลายคดโค้ง สำหรับบรรจุเหล้า ทำจากสำริด สมัยชุนชิว (227 ปี ก่อน พ.ศ. – พ.ศ. 68)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาชนะคล้ายชามใบใหญ่มี 3 ขา ที่เราเห็นได้บ่อยในละครย้อนยุคจีน และใช้เป็นกระถางธูปตามศาลเจ้าในปัจจุบันนี้คือ ติ่ง(鼎 ทำจากสำริด สมัยชุนชิว ใช้บรรจุอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แผ่นจารึกทางขวาเป็น แผ่นสำริดจารึกพระบรมราชโองการ ให้ใช้ระบบมาตราชั่งตวงวัดเพียงระบบเดียวของจักรพรรดิจิ๋นซี (秦始皇) ในกรอบซ้ายคือ ลูกตุ้มสำริดน้ำหนัก 30 จิน ในสมัยนั้น (1 จิน ในยุคราชวงศ์ฉินหนักราว 253 กรัม อ้างอิงจากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัลจีน China Digital Science and Technology Museum ซึ่งจะเบากว่า 1 จินในยุคปัจจุบันที่หนัก 500 กรัม)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้จิ๋นซีฮ่องเต้ยังทรงริเริ่มให้มีการก่อสร้างและเชื่อมต่อแนวกำแพงดินอัดของแคว้นต่าง ๆ เพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรู จนกลายเป็น กำแพงเมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่เรียกกันอีกชื่อว่า กำแพงหมื่นลี้ (万里长城) ซึ่งตามรายงานปี 2016 ของสำนักบริหารมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ (National Cultural Heritage Administration) ของจีนระบุว่ามีความยาวรวมทั้งสิ้น 21,196.18 กิโลเมตร (ประมาณ 40,000 กว่า หลี่ หรือ ลี้(里) นั่นเอง)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนนี้เป็นรถม้าสำริดที่อาจจำลองมาจากรถม้าพระที่นั่งของจักรพรรดิจิ๋นซี ที่ทรงใช้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจราชการต่างถิ่น ยืมมาจาก พิพิธภัณฑ์สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หมวกและชุดเกราะหิน ในภาพบนนี้ก็ยืมมาจากพิพิธภัณฑ์สุสานจักรพรรดิจิ๋นซีเช่นกันค่ะ ตัวชุดเกราะนี้ทำจากแผ่นหินมากกว่า 400 ชิ้นนำมาเจาะรูร้อยด้วยเส้นลวดทองแดง ท่าทางจะหนักมาก ๆ เลย ที่จริงบริเวณผนังในส่วนจัดแสดงมีผังสุสานจักรพรรดิจิ๋นซีที่ใหญ่จนเรียกว่าเป็นเมืองใต้พิภพเมืองหนึ่งได้เลยละค่ะ ใครสนใจบินไปดูในสถานที่จริงซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกได้ที่ซีอานเลยค่ะ 

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพบนเป็น หุ่นทหารดินเผาและม้า ซึ่งลักษณะหน้าตา กริยาท่าทาง เครื่องแต่งกายของหุ่นแต่ละตัวในสุสานนี้ไม่เหมือนกันด้วยนะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาก็เป็นยุคราชวงศ์ฮั่น ในภาพบนนี้คือ หู (壶) ทำจากสำริดปิดทอง ประดับรูปนกในเทพนิยายจีนโบราณ ไฮไลต์คือตอนขุดออกมาพบว่าภายในบรรจุของเหลวสีเขียวรสชาติคล้ายไวน์ อายุมากกว่า 2,000 ปีด้วยค่ะ เลยไปหาข่าวเพิ่มเติมจากบทความของ สำนักข่าว CRI ของรัฐบาลจีน ได้ข้อมูลว่า จริง ๆ แล้วสุราโบราณเหล่านี้เป็นเครื่องดื่มหมดอายุ ไม่ควรดื่มเพราะเก็บไว้นานเกินในภาชนะสำริด อาจมีพิษได้นะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ เครื่องดนตรี ชิ้นสวนของรถม้า เครื่องประดับ หรืออย่างในภาพบนนี้เป็นบ้าน บ่อน้ำ ตุ๊กตาหมา เครื่องโม่ ตุ๊กตาแกะ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำจากดินเผา พบในสุสานสมัยราชวงศ์ฮั่น สะท้อนถึงสังคมเกษตรในยุคนั้นค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพบนนี้เป็นหยกรูปหมู 2 ตัว ไว้ใส่ในมือของผู้วายชนม์ พบในสุสานยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเช่นกันค่ะ ส่วนประตูที่เห็นในภาพล่างนี้เป็น ประตูสุสานแกะสลักจากหินและเขียนสี ด้านบนซ้ายคือรูปพระจันทร์เป็นวงกลมสีขาวที่มีคางคกอยู่ตรงกลาง ทางขวาคือพระอาทิตย์เป็นวงกลมสีแดง มีหงส์ (ฟีนิกซ์) อยู่ตรงกลาง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตำนานจีนโบราณบางตำนานเล่าว่าคางคกนี้คือ เทพีฉางเอ๋อที่กลายร่างระหว่างเหาะไปยังดวงจันทร์ แต่บางตำนานก็ว่าเป็นเทพคางคกที่ไปหลีเทพีหงส์ (ห่านฟ้า) แล้วเจ้าแม่แห่งแดนสวรรค์เอาถาดทองจันทราจากเทพีฉางเอ๋อปาใส่ และสาปให้ไปใช้โทษเป็นคางคกบนโลกมนุษย์ จนเป็นที่มาของสำนวน “คางคกอยากกินห่านฟ้า” (癞蛤蟆想吃天鹅肉)ที่หมายถึงชายอัปลักษณ์ที่ชอบไปหลีสาวงามนั่นเอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดจากพระที่นั่งศิวโมกขพิมานในภาพบนนี้ทางขวาคือศาลาลงสรง ศาลาโถงไม้แบบไทยประเพณีทรงจตุรมุขย้ายมาจากพระราชวังสนามจันทร์ ส่วนทางซ้ายคือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดกะไหล่ทององค์สำคัญคือ พระพุทธสิหิงค์ ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าใน ร.1 ทรงอัญเชิญมาจากเชียงใหม่

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ขอบอกว่าตำนานการเดินทางของพระพุทธสิหิงค์นี้ยาวยิ่งกว่าของพระแก้วมรกตอีกค่ะ เริ่มจากลังกา นครศรีธรรมราช สุโขทัย อยุธยา (ขุนหลวงพะงั่ว) กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ อยุธยา (สมเด็จพระนารายณ์ฯ) เชียงใหม่ กรุงเทพฯ แต่จริง ๆ แล้วพระพุทธสิหิงค์องค์นี้มีลักษณะอย่างศิลปะสุโขทัยตอนปลาย ที่ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน พระพักตร์กลม โดยมีอิทธิพลลังกาผ่านพม่า เพียงแสดงปางสมาธิที่นิยมในลังกาให้สอดคล้องกับตำนานแทนที่จะเป็นปางมารวิชัยอย่างที่นิยมในไทยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากจิตรกรรมฝาผนังด้านข้างระหว่างช่องหน้าต่างมีภาพพุทธประวัติตอนพระยาวัสวดีมารผจญระหว่างที่พระพุทธเจ้าทรงทำสมาธิอันนำไปสู่การตรัสรู้ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้านหลังมี ตู้พระธรรมลายรดน้ำ ซึ่งก็คือการลงรักปิดทองคำเปลวแล้วรดน้ำให้ทองคำเปลวส่วนเกินหลุดออก เกิดเป็นลายงดงาม ตู้ในภาพบนนี้เล่าเรื่องรามเกียรติ์ โดยที่มีตัวละครแต่งกายอย่างขุนศึกจีน และที่ดูคล้าย ๆ ชาวตะวันออกกลางและชาวตะวันตกปนอยู่ด้วย สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมไทยยุคนั้นที่มีสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ท้ายสุดนี้คือ ลับแล หรือฉากกัน ซึ่งก็เป็นลายรดน้ำเล่าเรื่องรามเกียรติ์เช่นกันค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็ไปกันที่ พระตำหนักแดง (เพราะทาสีแดง) ที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ใน ร.1 พระราชมารดาสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ใน ร.2 สมัย ร.3 ย้ายจากเขตพระราชฐานชั้นในหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปปลูกที่พระราชวังเดิม (กรุงธนบุรี) แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ ซึ่งต่อมาย้ายไปปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี และที่ประทับของสมเด็จฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) ที่รื้อมาปลูกที่นี่

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เนื่องจากมีการจัดหมุนเวียนโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงภายในพระตำหนัก บางจุดจึงยังไม่มีป้าย แต่เจ้าหน้าที่ก็ใจดีมาก ๆ คอยเล่าให้เราฟังแทนค่ะ ในภาพบนด้านซ้ายคือ ราวพระอู่ (เปล) ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ พระราชธิดาพระองค์เดียวในล้นเกล้าฯ ร.6 ซึ่งประสูติในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ส่วนพระอู่นั้นยังอยู่ระหว่างการบูรณะ หากเสร็จสมบูรณ์ก็จะนำมาจัดแสดงต่อไปค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพบนนี้เป็น ตุ๊กตาของเล่นของพระราชโอรสของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ จริง ๆ ขนาดเล็กมาก ๆ นี่ซูมเอาค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้านในห้องพระบรรทมบนพระแท่นบรรทมมี รองพระบาทของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดจากพระตำหนักแดงเลาะไปตามริมกำแพงจะผ่านอาคาร 4 คืออาคารมหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดีช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบูรณะซ่อมแซม เราเลยเดินต่อมาด้านหลังที่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มเล็ก ๆ มีก๋วยเตี๋ยวและข้าวราดแกงขายด้วย โกโก้แก้วละ 30 บาทรสเข้มดีทีเดียวค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มองไปยังฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นระเบียงด้านนอกของหมู่พระวิมานมี ระแทะ เกวียนขนาดเล็ก เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ได้มาจากเมืองพระตะบองในสมัย ร.5

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

อีกฝั่งหนึ่งคืออาคาร 5 อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดีหลังพุทธศตวรรษที่ 18 ตั้งแต่ล้านนา สุโขทัย ลงมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้คือส่วนหนึ่งของ ห้อง 504 กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหน้าสุดเป็นตราสำคัญต่าง ๆ ห้องอื่น ๆ นั้นสารภาพตามตรงว่าไม่ทันได้ขึ้นไปชมเพราะเกรงว่าเวลาจะไม่พอ เดี๋ยวจะพลาดไฮไลต์สำคัญในจุดอื่น ๆ ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นตึกแบบตะวันตกหลังแรกในพระบวรราชวัง เดิมชื่อ “พระที่นั่งวังจันทร์” ด้านหน้ามีอัฒจันทร์นำขึ้นสู่เฉลียงชั้นบน หน้าจั่วประดับปูนปั้นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จวบจนเสด็จสวรรคต ต่อมาล้นเกล้าฯ ร.5 พระราชทานนามใหม่ว่า “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ชั้นล่างซึ่งเดิมเป็นที่อยู่ของพนักงาน มีนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ รวมถึงประวัติการบูรณะพระที่นั่งองค์นี้ด้วยค่ะ ในภาพบนซ้ายเป็น หุ่นม้าพระที่นั่งและคนเลี้ยง สันนิษฐานว่าใช้เป็นหุ่นในการเตรียมเครื่องแต่งม้าของพระองค์ท่าน ส่วนทางขวาของภาพคือ พระแท่นราชบัลลังก์เศวตฉัตร งานแกะไม้ลงรักปิดทอง มีต้นแบบจากพระแท่นองค์เดิมของวังหน้าสมัย ร.2

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ชั้นบนเป็นที่ประทับมี 5 ห้อง ในภาพบนคือห้องกลาง ซึ่งเดิมเป็น ห้องเสวย ต่อมาเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัย ร.6 ห้องถัดไปทางซ้ายของห้องเสวยคือห้องรับแขกและห้องสมุด+ห้องทรงพระอักษรตามลำดับ ส่วนห้องถัดไปทางขวาคือห้องพระบรรทมและห้องแต่งพระองค์+ห้องสรง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ที่จริงแล้วหากเดินต่อเข้าไปด้านในบริเวณหลังอาคาร 5 จะมีเก๋งนุกิจราชบริหาร เก๋งจีนชั้นเดียวขนาดเล็ก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังวรรณกรรมจีนเรื่องห้องสิน และหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช และถ้าเดินออกมาไปทางหน้าวังสังเกตดี ๆ จะเห็นเขามอ (ภูเขาจำลอง) ที่มีหอแก้ว (อาคารสีขาวหลังเล็ก ๆ) อยู่บนนั้น คือศาลพระภูมิวังหน้า และก็จะถึง โรงราชรถ ในภาพบนค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในมีราชรถ ราชยานต่าง ๆ มากมาย อย่างในภาพบนคือ พระมหาพิชัยราชรถ ที่ล้นเกล้า ร.1 โปรดให้สร้างขึ้นด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ยาว 18 เมตร สูง 11.2 เมตร กว้าง 4.88 เมตร หนัก 13.7 ตัน ใช้พลชักลาก 216 นาย เพื่อใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ต่อมาใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระมหากษัตริย์และพระโกศพระบรมวงศ์ชั้นสูง เมื่อ พ.ศ. 2560 ใช้เชิญพระบรมโกศประกอบพระบรมราชอิสริยยศล้นเกล้าฯ ร.9 ทางขวาคือเกรินบันไดนาค ลิฟต์ไทยโบราณแบบใช้กว้านหมุน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีพระโกศหรือพระหีบสำคัญในการพระราชพิธีพระบรมศพต่าง ๆ ด้วย ในภาพบนนี้คือ พระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ แกะจากไม้จันทน์ ประดิษฐานบนพระแท่นจิตกาธาน มีฟืนไม้จันทน์ด้านล่างและเทวดาด้านข้าง หน้าสุดคือยอดพระจิตกาธานรูปพรหมพักตร์ เดิมจะถูกเผาไปพร้อมกับพระโกศชั้นในให้กลิ่นหอมของไม้จันทน์กลบกลิ่นไม่พึงประสงค์ระหว่างการเผาไหม้ แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จึงไม่จำเป็นต้องเผาไม้จันทน์จำนวนมากแล้ว จึงได้อนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังดูต่อไปได้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ช่วงเที่ยงถ้าอยากเปลี่ยนบรรยากาศก็เก็บบัตรเข้าชมไว้ดี ๆ แล้วเดินเลียบกำแพงวังหน้าในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปในซอยสู่ท่าพระจันทร์ได้นะคะ มีร้านอาหารมากมายให้เลือกรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมูพริกกะเหรี่ยง (พริกน้ำส้มทำจากพริกกะเหรี่ยง) หรือร้านโรตีมะตะบะชื่อดังที่ไม่ได้ขายแค่โรตีมะตะบะ แต่ยังมีอาหารไทย-เทศ ตามสั่งมากมายอีกด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็มาต่อกันในส่วนของ หมู่พระวิมาน ในภาพบนด้านขวาซึ่งก็มีนิทรรศการน่าสนใจแบบพลาดไม่ได้อีกมากมายค่ะ ส่วนศาลาเครื่องไม้ทางซ้ายของภาพคือ ศาลาสำราญมุขมาตย์ ศาลาโถงไม้แกะสลักสมัย ร.5 เดิมเป็นพลับพลาที่เสวยในสวน รื้อจากพระราชวังดุสิตมาบูรณะซ่อมแซมและปลูกใหม่ที่นี่ในสมัย ร.7

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อเข้ามาใน พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ท้องพระโรงกลางในหมู่พระวิมาน มีนิทรรศการหมุนเวียน โดยช่วง 25 กรกฎาคม – 25 ตุลาคม 2562 นี้ จัดแสดงในหัวข้อ “นครรัฐไทยในสุวรรณภูมิ” พาเราไปรู้จักกับพัฒนาการของบ้านเมืองจากแรกเริ่มในชุมชน แว่นแคว้น เมืองโบราณ สู่อาณาจักรต่าง ๆ จวบจนปัจจุบันผ่านโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ที่บางชิ้นก็ยืมมาจากพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ในภาพบนตรงผนังสีน้ำเงินแสดงแผนที่ชุมชนโบราณทั่วประเทศด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนซ้ายคือ จารึกอักษรขอมภาษาไทย ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมรปนกันด้านหลังพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งพบที่จังหวัดลพบุรี ส่วนทางขวาเป็นสมุดภาพการกัลปนา (การอุทิศที่ดิน สิ่งของ ผู้คนให้แก่วัด) ในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลา จากสมุดภาพนี้จะเห็นตำแหน่งต่าง ๆ ของวัดต่าง ๆ ลำคลอง และชุมชนโดยรอบ มีชื่อกำกับไว้คล้ายแผนที่โบราณ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนนี้คือ จารึกวัดศรีชุม พบในอุโมงวัดศรีชุม จ.สุโขทัย เป็นแผ่นหินรูปใบเสมาที่จารึกอักษรไทยสุโขทัย (ลายสือไทย) อยู่ทั้ง 2 ด้าน มีเนื้อความเกี่ยวกับการสรรเสริญมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณี ประวัติพ่อขุนศรีนาวนำถุมและการก่อตั้งราชวงศ์สุโขทัย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

การจัดวางโบราณวัตถุที่นี่มีการจัดระดับสูงต่ำ อย่างวัตถุที่น่าจะเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมหน้าบันก็มีการวางให้สูงในระดับที่ใกล้เคียงกับในสถานที่จริง พระพุทธรูปต่าง ๆ ก็มีแท่นประดิษฐานในระดับความสูงต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในตู้ระดับเดียวกันไปหมดเช่นแต่ก่อน ทำให้ผู้ชมเข้าถึงความงดงามของมรดกล้ำค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติเหล่านี้ได้มากขึ้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนนี้คือ พระแสงขรรค์ ที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จริง ๆ เล่มใหญ่ยาวมาก แต่เลือกถ่ายให้เห็นใกล้ ๆ จะได้เห็นความประณีตของช่างฝีมือในการประดับทั้งด้ามและฝักอย่างงดงามละเอียดลออ มีการฝังพลอยด้วย ถ้าท่านใดสนใจงานประณีตศิลป์อยุธยาแท้ ๆ ขอแนะนำให้ไปดูที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะรวมถึงโบราณสถานอื่น ๆ ในพระนครศรีอยุธยาด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็มาถึงไฮไลต์สำคัญของห้องนี้ คือ พระที่นั่งพุดตานทองวังหน้า (องค์หน้าในภาพซ้าย) เป็นพระที่นั่งไม้แกะสลักคล้ายพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ แต่ใช้การลงรักปิดทองประดับกระจก ไม่ได้หุ้มทองคำและประดับพลอย ส่วนด้านหลังคือ พระที่นั่งบุษบกเกริน ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก รอบฐานชั้นล่างเป็นรูปยักษ์ ชั้นกลางเป็นครุฑ ชั้นบนเป็นเทวดา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และที่พลาดไม่ได้อีกชิ้นหนึ่งคือ ลูกโลกจำลอง 1 ใน 2 ใบที่สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียทรงส่งมาถวายแด่ล้นเกล้าฯ ร.4 เดิมอยู่ในพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ของล้นเกล้าฯ ร.4 ในหมู่พระที่นั่งอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งต่อมาทรุดโทรมลงจึงถูกรื้อไปแล้ว

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนซ้าย พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ (ต้นแบบ) จากหอประติมากรรมต้นแบบ ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ทำไว้เป็นต้นแบบ ก่อนจะหล่อองค์จริงที่ประดิษฐานเป็นประธานอยู่กลางพุทธมณฑล จ.นครปฐม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อออกมาแล้วให้ไปทางอ้อมในทางรอบหมู่พระวิมานไปทางขวา (ทางฝั่งพระตำหนักแดงและอาคารมหาสุรสิงหนาท) จะเจอทางเข้าไปยังหมู่พระวิมานในด้านข้างสู่ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข จัดแสดงเครื่องมหรสพและการละเล่น มีทั้งโขน เครื่องดนตรีต่าง ๆ วงมโหรีเครื่องใหญ่ หุ่นละคร ฯลฯ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาก็ยังอยู่ภายในหมู่พระวิมานเพราะอาคารเชื่อมกัน แค่รู้สึกเหมือนก้าวเข้าไปอีกห้อง จะเป็นพระที่นั่งวสันตพิมาน มีบันไดเลยขึ้นไปชั้นบนที่เป็นส่วนจัดแสดงเครื่องที่ประทับก่อน ซึ่งในสมัย ร.4 หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงรับบวรราชาภิเษกและเฉลิมราชมณเฑียรแล้วก็เคยประทับที่นี่ ก่อนที่จะย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งวังจันทร์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในมี พระแท่นบรรทม ในภาพบนที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระแท่นของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ และเคยนำไปจัดแสดงในพระตำหนักแดงมาก่อนจะย้ายมาบนนี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนชั้นล่างเป็นห้องจัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก ซึ่งจริง ๆ แล้วมีมากมายหลากหลายตั้งแต่เครื่องเบญจรงค์ เครื่องลายคราม เครื่องกระเบื้องแบบฝรั่ง เครื่องลายน้ำทอง ฯลฯ อย่างในภาพบนนี้เป็นเครื่องเบญจรงค์เขียนลายวรรณคดีชิ้นเอกของไทยเรื่องพระอภัยมณีค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาจะเข้าสู่เขตพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข ซึ่งจัดแสดงเครื่องโลหะศิลป์ต่าง ๆ ในภาพบนนี้คือ แพลงสรงจำลอง ทำจากเงินและเงินกะไหล่ทอง ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงสร้างถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมโภชในพระราชพิธีลงสรง ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยตั้งพระนามพระราชกุมารชั้นเจ้าฟ้าอย่างเต็มตำรา เป็นการสมโภชพระราชกุมารลงสรงที่ท่าน้ำเมื่อครบ 3 พระชันษา ต่อมาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ ได้พระราชทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นพระที่นั่งปฤษฎางคภิมุขซึ่งจัดแสดงเครื่องสัปคับ ซึ่งก็คือที่นั่งบนหลังช้างนั่นเอง มีทั้งแบบมีหลังคาและไม่มีหลังคา นอกจากนี้ยังมีการจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงรูปแบบการใช้งานสัปคับทั้งในพระราชพิธีจากพระอุโบสถวัดช่องนนทรี และในยามศึกสงครามจากพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส วัดในเขตพระราชฐานวังหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป เป็นที่ประกอบพิธีไหว้ครู พิธีครอบครู และพิธีมงคลต่าง ๆ ของบรรดานาฏศิลปิน ดุริยางคศิลปิน และกรมศิลปากร

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นจะเข้าสู่มุขเด็จ หรือมุขเสด็จ ซึ่งเป็นโถงที่ต่อออกมาจากหน้าพระที่นั่ง เป็นที่เสด็จออกของพระมหากษัตริย์ โดยหลังจากทรงได้รับบวรราชาภิเษกแล้ว ล้นเกล้าฯ ร.4 ทรงให้ถือว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 รองจากพระองค์ท่าน คือทรงศักดิ์สูงกว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระมหาอุปราช) พระองค์อื่น ๆ ในอดีต ภายในมุขเด็จนี้ จัดแสดงเครื่องไม้จำหลักต่าง ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ บานประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนฯ ซึ่งล้นเกล้าฯ ร.2 ทรงงานแกะสลักลวดลายด้วยพระองค์เองร่วมกับช่างหลวง แต่ต่อมาใน พ.ศ. 2502 เกิดไฟไหม้ชำรุดบางส่วน จึงนำบานประตูคู่หลังมาใส่ไว้ข้างหน้าแทน แล้วถอดคู่นี้มาบูรณะซ่อมแซมและเก็บรักษาไว้ที่นี่ต่อไปดังในภาพขวา ส่วนด้านหลังเป็นภาพจิตรกรรม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาในพระที่นั่งอุตราภิมุข มีการจัดแสดงอิสริยภัสตราภูษาภัณฑ์ ซึ่งก็คือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายต่าง ๆ นั่นเอง โดยในภาพบนนี้จากซ้ายคือ ฉลองพระองค์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉลองพระองค์ล้นเกล้าฯ ร.4 และฉลองพระองค์อย่างเทศ (สไตล์เปอร์เซีย) ที่ได้รับมาจากกรมภูษามาลาค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ผ้าที่จะแสดงมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผ้ายก ผ้าสมปัก ผ้าอัตลัต ผ้าเข้มขาบ ผ้าสะพักปักดิ้น ฯลฯ และที่ได้ยินกันบ่อย ๆ แต่อาจจะแยกยากสักนิดคือผ้าลายอย่าง (ภาพซ้าย) ผลงานวัฒนธรรมทวิภาคีที่ช่างในราชสำนักไทยออกแบบลายแล้วส่งไปให้ช่างอินเดียเขียนตามลงบนผ้า แล้วจึงส่งกลับมาใช้ในหมู่เจ้านายและขุนนางที่ได้รับพระราชทานเท่านั้น ต่างจากผ้าลายนอกอย่าง (ภาพขวา) ที่ช่างอินเดียคิดลายเองแล้วผลิตส่งมาขาย ใคร ๆ ก็ซื้อมาใช้ได้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากเสื้อผ้าและเครื่องประดับต่าง ๆ แล้วยังมีโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้อง อย่างราวพาดผ้าลงรักปิดทองอย่างงดงาม เครื่องอัดผ้า เครื่องจีบผ้า ฯลฯ รวมถึงตัวอย่างเครื่องหอมที่ใช้ในการอบผ้า ตัวอย่างงานปักผ้า และวิดีทัศน์แสดงการนุ่งผ้าแบบต่าง ๆ ของทั้งชายและหญิงในอดีตด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็จะเข้าสู่พระที่นั่งพรหมเมศธาดาซึ่งในชั้นล่างเป็นส่วนจัดแสดงเครื่องประดับมุกในราชสำนัก ไม่ว่าจะเป็นพาน ตะลุ่ม กรอบพระรูป กระดานชนวน ราวพระแสง เครื่องดนตรีต่าง ๆ อย่างระนาด โทน หรือแม้แต่ตู้พระธรรม หีบพระธรรมต่าง ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีวิดีทัศน์แสดงขั้นตอนการฝังมุกแบบต่าง ๆ วัตถุดิบ และตัวอย่างงานในแต่ละขั้นให้ได้เรียนรู้กันด้วยค่ะ    

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนในชั้นบนของพระที่นั่งพรหมเมศธาดานี้เป็นที่จัดแสดงเครื่องใช้ต่าง ๆ ในพุทธศาสนาค่ะ อย่างในภาพบนเป็นพัดรองลายต่าง ๆ เรียงจากซ้าย พระราชลัญจกร ตราประจำกระทรวง งานบรมราชาภิเษก รัตนาภรณ์ สมภาคาภิเษก งานเฉลิมพระชนมายุ พระชันษา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อกลับลงมาชั้นล่างก็จะเชื่อมต่อไปยังพระที่นั่งบูรพาภิมุข ซึ่งเป็นการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องศัสตราวุธโบราณ มีการจำลองรูปแบบกระบวนทัพ ตำราพิชัยสงคราม ชุดยันต์ที่ทหารใส่ออกรบ ฯลฯ ส่วนกลอง 3 ใบในภาพขวานี้คือกลองในหอกลอง ใบล่างสุดคือกลองย่ำพระสุริย์ศรี ใช้ตีบอกเวลาเช้าค่ำ ใบกลาง กลองอัคคีพินาศ ตีตอนมีไฟไหม้ และใบบนสุด พิฆาตไพรี ตีเมื่อข้าศึกมาใกล้ประตูเมืองค่ะ จากนั้นก็จะกลับออกมาตรงประตูใกล้ ๆ หอแก้ว ซึ่งจะมีทางวนไปด้านหลังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งตรงประตูใหญ่พอดีค่ะ หากสนใจดูพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงก่อนไปผ่านเว็บไซต์ Virtual Museum ได้ด้วยนะคะ   

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

 “Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow