Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัดเบญจมบพิตรฯ วิจิตรศิลป์ผสมผสาน

Posted By ไกด์เตยหอม | 07 ต.ค. 62
19,678 Views

  Favorite

นอกจากพระอุโบสถหินอ่อนลือชื่อ The Marble Temple ที่ชาวต่างชาติพากันมาชื่นชมแห่งนี้ วัดเบญจมบพิตรฯ ยังเป็นวิจิตรศิลป์ไทย-วัสดุฝรั่งที่ผสมผสานกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว ออกแบบโดยพระบิดาแห่งสถาปัตยกรรมไทย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ ‘สมเด็จครู’ ของช่างไทย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

วันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมาเป็น ‘วันนริศ’ วันครบรอบวันประสูติของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสในล้นเกล้าฯ ร.4 ผู้มีพระปรีชาสามารถด้านงานสถาปัตยกรรม ในโอกาสนี้ขอพาทุกท่านมาเยือน วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ชมพระอุโบสถหินอ่อนที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของสมเด็จครูกันค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

วัดนี้เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ต่อมาสมัย ร.4 มีเจ้านาย 5 พระองค์ ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ล้นเกล้าฯ ร.4 จึงพระราชทานนามว่า วัดเบญจบพิตร ต่อมาสมัย ร.5 มีการสร้างพระราชวังสวนดุสิต และล้นเกล้าฯ ร.5 ทรงทำผาติกรรมแล้วสถาปนาวัดขึ้นใหม่เพื่อเป็นวัดประจำพระราชวังดุสิตและพระราชทานนามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 พระอารามในสวนดุสิต ปัจจุบันเป็นสถานปฏิบัติธรรม โรงเรียน และที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญในบางโอกาส

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สำหรับชาวต่างชาติสามารถซื้อบัตรเข้าชมในราคา 50 บาท ที่ศาลาด้านหน้าพระอุโบสถ ตั้งแต่ 8.00 – 17.00 น. บริเวณมุมของกำแพงแก้วที่กั้นอยู่ด้านหน้าทั้งสองด้านจะมีเสาเสมาหัวเป็นรูปดอกบัวตูมแทนซุ้มเสมาแบบที่นิยมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บานประตูด้านนอกประดับแผ่นโลหะนูนเป็นภาพทวารบาลเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พระอุโบสถเป็นแบบจัตุรมุข (กากบาท) เสาและผนังกรุด้วยหินอ่อนสีขาวจากเมืองคาราร่าห์ อิตาลี ซึ่งถือว่าเป็นหินอ่อนที่มีคุณภาพดีที่สุดในยุคนั้น ด้านหน้ามีสิงห์ทวารบาลแบบเขมร ที่มีลักษณะเด่นคือ ขาคู่หน้าเหยียดตรง คู่หลังนั่งย่อ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หน้าบันพระอุโบสถด้านหน้าเป็นแบบไทยประเพณี มีช่อฟ้า (แทนศีรษะพญาครุฑ) ใบระกา (แทนขนพญาครุฑหรือเกล็ดพญานาค) และหางหงส์ (แทนศีรษะพญานาค) ตรงกลางหน้าบันทิศตะวันออก (ด้านหน้า) เป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ (ครุฑ) สัญลักษณ์แห่งองค์พระมหากษัตริย์ที่เชื่อกันว่าคือพระนารายณ์อวตาร เช่นเดียวกับหน้าบันพระอุโบสถวัดพระแก้ว ส่วนหน้าบันทางทิศตะวันตก (ด้านหลัง) เป็นรูปอุณาโลม สัญลักษณ์ของพระอิศวร

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนระเบียงคดที่ล้อมรอบพระอุโบสถจากมุขด้านทิศเหนือเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมวนมาจรดมุขด้านทิศใต้ มีหน้าบันรูปตราประจำกระทรวงทั้งสิบสองประดับอยู่ เช่นในภาพซ้ายบน เป็นตราราชสีห์ ของกระทรวงมหาดไทย และขวาบนเป็นตราคชสีห์ ของกระทรวงกลาโหม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้านหลังพระอุโบสถตรงมุขด้านทิศตะวันตกมีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องศิลปะลพบุรี ปางห้ามญาติ ภายในระเบียงคดมีพระพุทธรูปที่นำมาจากหัวเมืองต่าง ๆ หลังสิ้นสงครามเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 โดยมีพระพุทธรูปลีลาสัมฤทธิ์ศิลปะสุโขทัยคลาสสิก (รูปที่ 2 จากซ้าย) ที่ ศ. ศิลป์ พีระศรี ศิลปินผู้มีชื่อเสียงชาวอิตาเลียน และหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรชื่นชมว่างดงามที่สุดในโลก คือมีความอ่อนช้อย พลิ้วไหว แต่มั่นคงไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง และเป็นต้นแบบของพระศรีศากยะทศพลญาณฯ พระประธานพุทธมณฑล

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พื้นปูด้วยหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา และมีภาพใบเสมาสลักอยู่บนพื้นด้านทิศเหนือและทิศใต้ ด้านละ 4 ใบ แทนการประดิษฐานใบเสมาในซุ้มใบเสมารอบพระอุโบสถอย่างวัดอื่น ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

บานหน้าต่างประดับโลหะนูน ส่วนด้านบนเป็นกระจกสีภาพเทพนม ภายในประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธชินราชองค์จำลองซึ่งล้นเกล้าฯ ร. 5 โปรดให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) เสด็จไปทรงเป็นแม่กองหล่อ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก แล้วจึงอัญเชิญล่องแพลงมา โดยองค์นี้ มีพุทธศิลป์แบบสุโขทัยตอนปลายเช่นเดียวกับองค์จริง ดูจากนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ที่ยาวเสมอกัน แต่ไม่มีอุณาโลมกลางพระนลาฏ (หน้าผาก) ภาพขวามือสุดเป็นพระรูปของสมเด็จครูผู้ทรงออกแบบพระอุโบสถแห่งนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ผนังด้านในพระอุโบสถทั้งสี่มุมจะมีซุ้มภาพเขียนแปดจอมเจดีย์ในประเทศไทย มุมละ 2 ซุ้ม ดังภาพถ่ายด้านบนจากซ้ายไปขวา ได้แก่ พระปฐมเจดีย์ นครปฐม, พระเจดีย์ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา, พระเจดีย์วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย และพระศรีรัตนธาตุเมืองชะเลียง สุโขทัย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี, พระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช, พระมหาธาตุหริภุญชัย เมืองลำพูน และพระธาตุพนม เมืองนครพนม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หลังคาวัดและระเบียงคดมุงด้วยกระเบื้องกาบูสีเหลือง คือ กระเบืองกาบโค้งครอบแผ่นรองตามแบบจีน แต่มีเชิงชายเป็นแผ่นลายเทพนมตามแบบศิลปะไทย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้านหลังพระอุโบสถและระเบียงคดเป็นลานต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งเป็นต้นโพ ที่ได้หน่อหรือเมล็ดมาจากต้นที่เป็นทายาทของต้นพระศรีมหาโพธิที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้จริง ๆ โดยคำว่า “โพธิ” หรือ “โพธิ์” หมายถึง “ความตรัสรู้” ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับปรุงพื้นที่เพื่อก่อสร้างเป็น โพธิมณฑลพุทธานุสรณ์ สัตตมหาสถาน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาจะมีศาลา 100 ปี ปิยมหาราชอนุสรณ์ ภายในประดิษฐานพระบรมรูปของล้นเกล้าฯ ร.5

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ท้ายวัดมีห้องน้ำ ซึ่งจะอยู่ใกล้ ๆ กับโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อเดินย้อนกลับมาทางขวามือจะเป็นคลองขุดยาว ๆ มีน้ำพุอยู่กลางคลอง และมีสะพาน 3 สะพานทอดข้ามเป็นระยะ ๆ โดยสะพานแรกที่เห็นจากด้านท้ายวัดนี้คือสะพานงา ที่ทรงพระราชทานให้ใช้ชื่อนี้ ก็เพราะสร้างขึ้นด้วยเงินที่ได้จากการจำหน่ายงาช้าง ที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) ถวายเพื่อจำหน่ายในการออกร้านงานวัดเบญฯ เพื่อรวบรวมเงินปฏิสังขรณ์วัด ใน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) สะพานถัด ๆ ไปคือ สะพานถ้วยและสะพานพระรูป ตามลำดับ ซึ่งก็ทรงพระราชทานชื่อสะพานตามที่มาเช่นกัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ข้ามฟากมาแล้วจะเป็นวิหารสมเด็จ หอไตร (หอสมุด) ทรงจัตุรมุข ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างขึ้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มุขหน้าชั้นบนมีบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ สมัยอยุธยา ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย บานหน้าต่างเป็นภาพลายรดน้ำ หน้าบันซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายก้านขดประกอบตราพระนามาภิไธยย่อ "ส.ผ." (เสาวภาผ่องศรี) ลงรักปิดทองประดับกระจก ในสนามใกล้ ๆ กันมีหอระฆังบวรวงศ์ ซึ่งเจ้านายสายวังหน้า (สายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างขึ้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาด้านหน้า (ทางขวาของภาพล่าง) คือ ศาลาสี่สมเด็จ ศาลาโถงจัตุรมุขแบบไทยประเพณี ที่เชื่อกันว่าสมเด็จสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์และทุนทรัพย์ของสมเด็จเจ้าฟ้า 4 พระองค์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสธิดาในล้นเกล้าฯ ร.4 กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (รวมล้นเกล้าฯ ร.5 ด้วย) 

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนอาคารถัดมา หลังศาลาสี่สมเด็จ หรืออาคารที่เห็นตรงกลางในภาพบน คือ พระที่นั่งทรงผนวช ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์เดิมที่ล้นเกล้าฯ ร.5 ประทับเมื่อครั้งทรงผนวชในพุทธรัตนสถาน ที่สวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง และเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรฯ เสร็จก็โปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาปลูกที่นี่เพื่อเป็นกุฏิเจ้าอาวาสโดยรักษารูปแบบเดิมไว้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาจะเป็นพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน บันไดปูด้วยหินอ่อน หน้าบันจำหลักภาพปิดทองประดับกระจก เช่นที่เห็นในภาพบนขวาคือ หน้าบันทิศเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะตัดสินพระทัยออกผนวช ซึ่งในภาพเจ้าชายสิทธัตถะกำลังทอดพระเนตรพระนางพิมพาและพระราหุลบรรทมหลับ มีนายฉันนะเตรียมม้ากัณฐกะรออยู่ข้าง ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

วัดเบญจมบพิตรฯ แห่งนี้ถือเป็นสถานที่สำคัญและเป็นแหล่งรวมงานศิลปกรรมที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของไทย ที่มีการรวมเทคนิกการก่อสร้างแบบไทยประเพณีกับวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศ และเราจะได้เห็นความกลมกลืนกันของงานศิลป์จากที่ต่าง ๆ แขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิงห์สไตล์เขมร กระจกสีแบบฝรั่ง และกระเบื้องกาบูแบบจีน แต่เป็นลายเทพพนม ฯลฯ หากมีโอกาสเราชาวไทยก็น่าไปเยือนให้ได้สักครั้งค่ะ  

 

 “Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow