Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พิพิธภัณฑ์ศิริราช ที่นี่ไม่ได้มีแค่โรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย

Posted By ไกด์เตยหอม | 30 ก.ย. 62
8,658 Views

  Favorite

ในโอกาสวันมหิดล 24 ก.ย. 62 วันคล้ายวันสวรรคตของ “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย ขอเชิญชวนทุกท่านไปร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน ดื่มด่ำกับพื้นที่ประวัติศาสตร์ย่านบางกอกน้อย เรียนรู้เรื่องราวทางการแพทย์ต่าง ๆ มากมายในพิพิธภัณฑ์ศิริราช

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พิพิธภัณฑ์ศิริราช เป็นชื่อรวม ๆ ของพิพิธภัณฑ์ทั้ง 6 แห่งในโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์แห่งแรก และเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย ในภาพบนคือลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หน้าศาลาศิริราช 100 ปี ที่ที่เราชาวไทยที่มาเยือนโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดมักจะแวะมาถวายราชสักการะ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอยู่เสมอ บางทีก็ขอพรให้บุคคลที่เรารักมีสุขภาพที่ดีหรือหายป่วยไว ๆ ด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พอกลับหลังหันเดินเข้าไปในโถงตึกอำนวยการแล้วเงยหน้าขึ้นจะพบกับภาพเขียนสีบนเพดาน บอกเล่าประวัติซึ่งเริ่มจากที่ล้นเกล้าฯ ร.5 โปรดฯ ให้ตั้งคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาลขึ้นในบริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ใน พ.ศ. 2429 และเมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระโอรสพระองค์น้อยประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ในปีต่อมา ก็พระราชทานทรัพย์และพระนามของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ มาสร้างด้วยเป็น “โรงศิริราชพยาบาล”

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พิพิธภัณฑ์มี 2 โซนคือ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน และ พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช (พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส, พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน, พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา, พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน และพิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร) เปิดเวลา 10.00 – 17.00 น. (เว้นวันอังคารและวันนักขัตฤกษ์) *เฉพาะพิพิธภัณฑ์ฯ สุด แสงวิเชียร ปิดเพิ่มในวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย เราไปที่ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ใกล้ ๆ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์กันก่อนค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ค่าบัตรเข้าชม เด็กสูงไม่เกิน 120 ซม. ฟรี ผู้สูงอายุ 50 บาท บัตรเดี่ยว (เฉพาะพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน) เด็กอายุไม่เกิน 18 ปี 25 บาท, ผู้ใหญ่ 80 บาท, ชาวต่างชาติ 200 บาท บัตรรวม เด็กอายุไม่เกิน 18 ปี 50 บาท,  ผู้ใหญ่ 150 บาท, ชาวต่างชาติ 300 บาท แต่พอดีช่วงที่ไปมีการลดราคาพิเศษเนื่องในโอกาสสัปดาห์วันมหิดลด้วยค่ะ ติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook ของทางพิพิธภัณฑ์ ได้เลยค่ะ ซื้อบัตรเสร็จจะได้คู่มือ มีแผนที่ข้างในและข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็กุญแจล็อกเกอร์ฝากกระเป๋าในห้องด้านหลังค่ะ
 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เก็บกระเป๋าเรียบร้อยแล้วเจ้าหน้าที่จะนำไปชมคลิปแนะนำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ห้องศิริสารประพาส บรรยากาศคล้ายห้องสมุด เก้าอี้ที่ให้นั่งเป็นเก้าอี้ไม้สักทองที่นักศึกษาแพทย์หลายรุ่นเคยใช้นั่งเรียนมาก่อนด้วยนะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็มารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีต่อโรงพยาบาลศิริราชและการแพทย์ไทยสืบมาตั้งแต่ในอดีต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ห้องถัดไปเป็นห้องสถานพิมุขมงคล จัดแสดงเกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข กรมพระราชวังหลังพระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระราชนัดดาในล้นเกล้าฯ ร.1

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีฉากภาพปักรูปตัวละครในวรรณกรรมแปลเรื่อง ไซ่ฮั่น ที่กรมพระราชวังหลังทรงอำนวยการแปล โดยหากเปิดไปก็จะเห็นลายปักที่ละเอียดลออได้อย่างชัดเจน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ผนังอีกด้านหนึงของห้องนี้มีภาพจิตรกรรมไทยประเพณี ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติของพระองค์ท่านผ่านระบบแสงสีเสียง และ 2 ข้างมีหุ่นละครแสดงฉากในบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง พระศรีเมือง ด้วยค่ะ  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาจะเป็นทางเดินยาวที่ผนังมีการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาและโบราณวัตถุ ที่ขุดพบระหว่างการก่อสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช ซึ่งก็คือพื้นที่บริเวณนี้ที่ได้รับจากการรถไฟ รวมไปถึงอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาฯ ที่เป็นอาคารวิจัย และอาคารปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลรัฐสไตล์เอกชนระดับสากล เพื่อนำรายได้คืนกลับไปใช้ในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไปของโรงพยาบาลศิริราชด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้คือเศษเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์ลายเทพพนม ผลงานศิลปะร่วมระหว่างช่างไทยที่เป็นผู้ออกแบบลายและช่างจีนผู้ผลิตด้วยวิธีลงยาแต้มสี แล้วนำไปเผา ตรงสีที่แต้มจะนูนเล็กน้อย เป็นที่นิยมมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นแผนที่กรุงธนบุรีภาษาพม่าที่สมบูรณ์ที่สุดแผ่นหนึ่ง ซึ่งเขียนโดยชาวพม่าที่ลอบเข้ามาหาข่าวในช่วงเปลี่ยนผ่านจากกรุงธนบุรีสู่กรุงรัตนโกสินทร์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาจะเป็นห้องโบราณราชศาสตราซึ่งจัดแสดงอาวุธเก่าแก่หลายชนิดที่คณะแพทยศาสตร์ฯ ได้รับจากราชสกุล “เสนีย์วงศ์” ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ในห้องนั้นไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพได้เนื่องจากสิ่งที่จัดแสดงเป็นของล้ำค่าซึ่งเป็นของจริงทั้งหมด ปลายสุดของทางเดินเป็นครัวโบราณ เตาปูน กระทะใบบัว และกองฟืน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็ไปชมภาพยนตร์ 4 มิติย้อนเวลาไปในอดีตตั้งแต่วันที่เริ่มสร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อย ซึ่งก็คือพื้นที่ตรงนี้นั่นเอง ระทึกเมื่อผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบัน (ตอนระเบิดลงนี่มีผงะเบา ๆ เลยค่ะ แอบนึกถึงโกโบริกับอังศุมาลินในนิยายเรื่องคู่กรรม) ตรงกลางใต้จอใหญ่ก็มีจอเล็ก ๆ บรรยายเป็นภาษามือด้วยนะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พอขึ้นไปชั้นสองจะเป็นเรื่องของประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลศิริราช โดยเริ่มห้องแรกที่ห้องศิริราชบุราณปวัตติ์ทางซ้ายมือของภาพล่างค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ที่มาแห่งมงคลนาม เมื่อเสร็จงานพระเมรุแล้ว ไม้ อาคารประกอบ และเครื่องเรือนต่าง ๆ ในงานนี้ก็ถูกนำมาสร้างเป็น โรงศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของไทย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และมีวิทยาลัยแพทย์แห่งแรกที่เกิดขึ้นที่นี่ด้วยคือ ราชแพทยาลัย มีศาสตราจารย์เกียรติคุณ พระอาจวิทยาคม (ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์) เป็นบุตรของมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ชาวอเมริกันในไทย สำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาเป็นอาจารย์หมอที่นี่นานถึง 34 ปี และเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณคนแรกของไทย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในสมัยก่อนใช้หุ่นจำลองที่ทำจากเยื่อกระดาษอย่างในภาพล่างนี้เป็นสื่อการเรียนการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ห้องถัดมาจัดแสดงเกี่ยวกับ “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุขของไทย ผู้ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์ ทรงได้รับปริญญา Doctor of Medicine (M.D.) เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา และทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าอาจารย์ของนิสิตแพทย์ไทยยุคแรก ผู้ทรงเจรจาความร่วมมือทางวิชาการกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในการยกระดับโรงเรียนแพทย์ไทยให้ได้มาตรฐานสากล

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้ ด้านซ้ายเป็นใบสั่งยาที่ทรงออกให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เมื่อคราวประชวร ส่วนด้านขวาเป็นพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึง Dr. Richard M. Pearce ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาวิชาการแพทย์ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งได้ให้การสนับสนุนการศึกษาด้านการแพทย์และการอุดมศึกษาในไทยมากมาย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพล่างนี้คือภาพปริญญา Doctor of Medicine (M.D.) เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา ของพระองค์ท่าน โดย Universitas Havardiana คือชื่อของมหาวิทยาลัย Harvard ในภาษาละติน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นการจำลองห้องเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ ซึ่งโต๊ะปฏิบัติการไม้เคยรองรับ “อาจารย์ใหญ่” ครูผู้ให้ผู้ยิ่งใหญ่ของนักศึกษาแพทย์มารุ่นแล้วรุ่นเล่า ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบโลหะในปัจจุบัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นการจำลองห้องตรวจผู้ป่วยนอก หรือที่เรียกกันว่า “โอพีดี” มาจาก Outpatient Department ที่ผนังด้าขวาของภาพมีข้อความซึ่งสมเด็จฯ ทรงสอนไว้ว่า “ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นเพียงแพทย์ แต่ต้องการให้เธอเป็นคนด้วย”

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

บนโต๊ะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ และเอกสารใบสั่งยาและใบสั่งการตรวจต่าง ๆ ในอดีต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็จะเป็นโซนจำลองการผ่าตัดแบบย้อนยุค พอเราเข้ามาถึงตรงนี้คลิปบนจอจะแสดงจำลองการผ่าตัดแบบย่อ ๆ เองอัตโนมัติด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนสุดท้ายของห้องเป็นเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่ในอดีตจากราชแพทยาลัย สมัย ร.5 สู่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัย ร.6 – ร.7 ต่อมาเป็นคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จากนั้น สมัย ร.8 แยกมาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เกิดคณะแพทยฯ โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลรามาฯ ขึ้น ต่อมาสมัย ร.9 คณะแพทยฯ จุฬาฯ ถูกโอนกลับไปสังกัดจุฬาฯ ตามเดิม ส่วนมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ศิริราชฯ และรามาฯ) ก็ได้รับพระราชทานชื่อใหม่คือ มหาวิทยาลัยมหิดล สืบมาจนปัจจุบัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

บริเวณทางเดินจะมีบอร์ดนิทรรศการเล่าเรื่องราวและกิจกรรมต่าง ๆ ในรั้วศิริราชยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการรับน้องใหม่ของนักศึกษา การทำและมอบธงวันมหิดลให้แก่ผู้บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส รพ.ศิริราช ฯลฯ ส่วนอีกฝั่งจะเป็นนิทรรศการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอันทันสมัย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เริ่มตั้งแต่การแพทย์และสาธารณสุขในอดีต เรื่องราวเกี่ยวกับฤๅษี ตำราหมอยาไทยโบราณ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ร้านยาโบราณในรูปล่างนี้ หุ่นกำลังบดยาด้วยเครื่องบดยาในสมัยก่อน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตามตู้ยาที่ตั้งเรียงราย มีตัวอย่างสมุนไพรและข้อมูลเกี่ยวกับยามากมายให้ชมกัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นศาสตร์ของการนวดแผนไทย ที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรคร่วมกับเทคโนโลยีการแพทย์แผนตะวันตก

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพล่างนี้เป็นการจำลองการอยู่ไฟหลังคลอดซึ่งมีมาแต่โบราณ ทว่าในปัจจุบันได้ถูกปรับให้มีความเหมาะสมปลอดภัยมากขึ้น เป็นทางเลือกในการดูแลฟื้นฟูสุขภาพของคุณแม่หลังคลอด

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ด้วยคำที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” สุขภายกายจะดีได้ ใจก็ต้องสบายด้วย จึงมีการนำหลักธรรมศาสนาต่าง ๆ มาเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพเป็นหลัก ธรรมานามัย 

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

รวมถึงการบูรณาการเรื่องราวของการออกกำลังการต่าง ๆ อย่างเกมก้าวตาก้าว ซึ่งคล้าย ๆ กับเกมเต้น และฤๅษีดัดตน ในสุดเป็นเรื่องของอาหารการกินที่จะต้องดูแลให้ครบถ้วนและถูกสุขลักษณะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาในสวนมีพืชต่าง ๆ รวมทั้งสมุนไพรมากมาย ในบรรยากาศสบาย ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

รูปล่างนี้เป็นต้นส้มมือ มีป้ายให้ข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษพร้อมเลยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีฐานป้อมของกำแพงพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานที่เป็นสิ่งสร้างทางโบราณคดีเพียงชิ้นเดียวที่สามารถอ้างอิงถึงการมีอยู่ของ “วังหลัง” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ในปัจจุบัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แล้วเราก็จะตรงไปที่โกดังในภาพล่างนี้ ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนบางกอกน้อยในวันวานค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ด้านหนึ่งคือตลาดอย่างที่เห็นในภาพล่างนี้ จำลองบรรยากาศของตลาดน้ำปากคลองบางกอกน้อย และตลาดศาลาน้ำร้อน หน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อยในอดีต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในย่านนี้มีชุมชนชาวไทยมุสลิมบางกอกน้อยที่เคยโด่งดังในฝีมือการทำฟูกยัดนุ่นที่คงทนและดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทย มีชุมชนชาวพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวสวนผลไม้มากมาย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หันมองไปอีกฝั่งมีโรงละครจำลองและรูปจำลองของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) มหาเถระที่ได้รับการเคารพนับถือมากในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยเฉพาะในย่านบางกอกน้อยแห่งนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

อีกฝั่งหนึ่งจัดแสดงเรือโบราณลำใหญ่ยาวถึง 24 เมตร ที่ถูกฝังกลบมากว่า 100 ปี

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับเรือโบราณนี้ด้วย ในภาพล่างเป็นวัตถุดิบในการตอกหมันยางชัน คือการอุดรอยต่อเรือไม้ไม่ให้รั่ว มีด้ายฝ้ายดิบที่ใช้อัดลงระหว่างร่องไม้ แล้วพอกชันซึ่งได้จากปูนแดงผสมน้ำมันยางและชันป่น (ยางไม้แห้ง)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็มีการกรุกระดาษสาหรือกระดาษเยื่อไม้ไผ่ แล้วบุโลหะ เพื่อป้องกันเปลือกเรือจากเพรียง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้วยความที่เป็นปากน้ำที่คึกคักมาแต่โบราณ จึงมีเรือมากมายหลายขนาดแล่นผ่านไปมาในอดีต และได้มีการจำลองย่อส่วนมาให้ชมที่นี่ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาก็ไปดูปากคลองบางกอกน้อยในปัจจุบันเลย ดูกว้างกว่าปากคลองบางกอกใหญ่ตรงป้อมวิชัยประสิทธิ์อีกค่ะ เรือที่พบได้บ่อยมากคือเรือหางยาว

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในลานด้านหน้ามีหัวรถจักรไอน้ำในสมัยก่อนด้วย เป็นอีกจุดถ่ายรูปยอดฮิตของผู้มาเยือนเลยทีเดียว

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ช่วงเที่ยงวันไปรับประทานอาหารกลางวันกันที่ศูนย์อาหาร "ณ ริมน้ำ" หอประชาธิปไตย โรงพยาบาลศิริราชแอร์เย็นสบาย แต่แนะนำให้เลี่ยงช่วงเที่ยงนะคะ ไปเลทหน่อยสักบ่ายโมงกำลังดีค่ะ ให้บรรดาคุณหมอ คุณพยาบาล นิสิต และคนไข้ได้กินกันก่อนจะได้ไม่คนแน่นนักด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพบนคือ สตูว์ซี่โครงหมู ภาพล่างคือ ข้าวราดยำไข่ดาวกับลาบไก่ จานละ 50 บาททั้งคู่ค่ะ อิ่มอร่อยใช้ได้เลย ตอนออกไปเก็บจานเห็นที่นั่งด้านนอกวิวดีมาก ๆ ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นเราก็ไปชมบรรดาพิพิธภัณฑ์ในส่วนของพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช เดินตามแผนที่ในคู่มือและป้ายบอกทางไป หาไม่ยากค่ะ เริ่มจากตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 มี 3 พิพิธภัณฑ์ คือ พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส, พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน และพิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เข้ามาในโถงชั้นล่างจะมีพระรูปเขียนของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลด้วยค่ะ ผู้ทรงบุกเบิกด้านการแพทย์แผนปัจจุบันในไทย จากอดีตที่เมื่ออหิวาตกโรคระบาดที คนก็ป่วยตายมาก วัดเผาไม่ทันจนมีเหตุการณ์ “แร้งวัดสระเกศ” รุมทึ้งเกิดขึ้น ถึงยุคปัจจุบันที่การแพทย์ในบ้านเราได้รับการพัฒนาเจริญก้าวหน้าสู่ระดับสากล ล่าสุดนิตยสาร CEOWORLD magazine จัดให้ไทยเป็น Countries With The Best Health Care Systems, 2019 ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุด ลำดับที่ 6 ของโลกด้วยนะคะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อฝากของภายในล็อกเกอร์เรียบร้อยก็เข้าไปชมด้านในได้ค่ะ วันที่ไปมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและจีนหลายคนเลยค่ะ ภายในไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปนะคะ ส่วนรูปปอดเหล็ก (เครื่องช่วยหายใจ) ที่ล้นเกล้าฯ ร.9 พระราชทานให้โรงพยาบาลศิริราชเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ในภาพล่างนี้ถ่ายที่บูธของพิพิธภัณฑ์ศิริราช ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ก่อนกลับเดินผ่านมาทางถนนเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาเห็นศาลาท่าน้ำที่ล้นเกล้าฯ ร.9 และ ร.10 (เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) และพระบรมวงศานุวงศ์เคยเสด็จฯ มาทรงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) และทอดพระเนตรระดับน้ำด้วยความห่วงใยที่ทรงมีต่อราษฎรที่นี่ด้วย ภาพที่คุ้นตาทางสื่อต่าง ๆ เมื่อหลายปีก่อนก็ผุดขึ้นมาในความทรงจำอันงดงามอีกครั้ง     

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

 “Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow